ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีความรุนแรง หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างกำลังร่วมมือกันผลักดันให้ประชาชนในประเทศไทยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างทั่วถึงและรวดเร็วที่สุด โดยฐานข้อมูลของกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2564 ชี้ว่ามีคนไทยกว่า ล้านรายที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว[1]

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะเอาชนะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สำเร็จ คือ ประชาชนในประเทศมีความเข้าใจ ตระหนักถึงความจำเป็นและคุณประโยชน์ของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างเร่งด่วนในภาวะฉุกเฉิน และเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด

“เพราะไม่ต้องการเป็นภาระใคร และเชื่อมั่นในบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศ”

คุณรัตนาภรณ์ เจริญพงศ์ เป็นอดีตพยาบาลที่เชื่อว่าการไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ เพราะทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีภาระอะไรให้ลำบากทั้งกับตนเองและคนรอบข้าง

“เราคิดง่ายๆ แบบนี้ค่ะว่า ถ้าเกิดติดโควิดขึ้นมา มันจะเป็นปัญหามาก ทั้งกับตัวเอง คนในบ้าน หรือกระทั่งกับหมอและพยาบาล ไหนจะเรื่องค่ารักษาอีก ถ้าเกิดเราต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แค่นึกภาพก็ไม่สนุกแล้ว เราเลือกที่จะรักษาตัวเองไว้ดีกว่าไหม คิดได้แบบนี้ ยายจึงไม่ลังเล”

เมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คุณรัตนาภรณ์ชวนสามี-คุณยรรยง เจริญพงศ์ เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามคำแนะนำของแพทย์ ด้วยใจที่เชื่อมั่นในระบบและวิทยาการทางการแพทย์ของประเทศที่เธอคลุกคลีมาตั้งแต่สมัยเป็นสาว

“ในวันที่ไปฉีด ก็วัดความดัน สัมภาษณ์ประวัติเรื่องแพ้ยาต่างๆ ซึ่งเราไม่ต้องเขียนอะไรเองเลยค่ะ เขาถามมาเราก็ตอบ เมื่อมั่นใจได้ว่าเราสามารถฉีดได้ ก็ลงชื่อยินยอมแล้วไปรอฉีด กระบวนการตั้งแต่ไปถึงจนได้ฉีด ไม่ถึง 15 นาที เมื่อฉีดเสร็จก็นั่งรอดูอาการอีกครึ่งชั่วโมง เราไม่มีอาการข้างเคียงอะไร ก็สแกนแอพฯ หมอพร้อม จากนั้นก็กลับบ้าน หลังจากนั้นก็มีการติดตามอาการเมื่อครบ วันกับ 14 วัน ทีแรกยังคิดว่าอาจจะมีปวดแขน มีรอยจ้ำเขียว หรือกระทั่งมีไข้ แต่ก็ไม่มีสักอาการเดียว ยายเชื่อมั่นในบุคลากรในระบบสาธารณสุขบ้านเรานะคะ คำแนะนำของแพทย์มาจากวิจารณญาณที่น่าเชื่อถือ หมอและพยาบาลทำงานกันหนักมากนะคะ ยายยังคิดเลยว่าถ้าตัวเองสาวกว่านี้ ก็คงไปสมัครเป็นอาสาสมัครเหมือนกัน”

                                          

“เพราะวัคซีนไม่ใช่เรื่องใหม่ และอยากแน่ใจว่าแม้ติดโควิด-19 ก็จะไม่เสียชีวิต”

 

คุณจริยา บัณฑิตวัฒนาวงศ์ ชาวสมุทรสาคร เลือกฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แม้จะได้ยินข่าวมากมายเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่สร้างความกังวลให้หลายประเทศทั่วโลก

“วัคซีนไม่ใช่เรื่องใหม่ เราจึงคิดว่ามันดีกว่าที่จะฉีด แทนที่จะมัวแต่กังวลว่าวันนี้ตัวเองติดหรือยัง เราเลือกดูแลตัวเองให้มีภูมิคุ้มกัน ฉีดวัคซีนแล้ว คุณอาจจะติด แต่คุณก็จะเป็นน้อยกว่า และที่สำคัญคือฉีดแล้ว ก็ยังต้องไม่ประมาท ยังต้องใส่หน้ากาก ใช้เจลล้างมือ ล้างมือให้บ่อย และไม่ไปที่ที่คนพลุกพล่าน”

คุณจริยาเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายน และพบว่าตัวเองมีอาการข้างเคียงบ้าง แต่ไม่รุนแรง

“ที่โรงพยาบาลเราไม่มีอาการอะไรเลยหลังฉีดครึ่งชั่วโมง แต่พอรุ่งขึ้นแขนซ้ายก็เริ่มตึงๆ และง่วงนอน ซึ่งก็ปกติเหมือนเวลาฉีดยาทั่วไป ผ่านไป 7 วันก็ปกตินะคะ ไม่มีเรื่องแน่นหน้าอกหรือผื่นคันอะไร”

 

“เพราะอยากกลับไปใช้ชีวิตแบบเก่า และอยากเห็นคนที่เรารักอยู่กับเรานานๆ”

คุณศันสนีย์ และคุณประสิทธิ์ จุนเจือจาน ตัดสินใจฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19  เพราะเชื่อว่าคือหนทางที่จะทำให้ได้ชีวิตที่คิดถึงกลับคืนมา

“ป้าและสามีชอบท่องเที่ยว เราสองคนรักการเดินทางมาก โดยเฉพาะทริปที่ได้ไปกับเพื่อนๆ มันคือความสุขของเรา โควิดทำให้เราไปไหนไม่ได้เลย ก็อึดอัดมากเพราะอยากกลับไปเที่ยว”

นับจากวันที่สองสามีภรรยาได้รับวัคซีนเข็มแรก พวกเขาต่างคอยโทรศัพท์หาคนรอบตัวเพื่อเชิญชวนและติดตามให้ลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนมาโดยตลอด และเฝ้ารอวันที่ครอบครัวและเพื่อนๆ ได้รับวัคซีนกันถ้วนหน้า

“วันที่ป้าไปฉีดแล้วกลับมาบ้าน ป้าก็โทรหาเพื่อนสนิทเพื่อเล่าให้เขาฟังว่าเราไปฉีดมาแล้วนะ ไม่มีอาการอะไร เพื่อนยังแซวเลยว่าฉีดน้ำสิไม่ว่า แต่หลังจากนั้นไม่นาน เพื่อนสนิทคนนี้ก็เสียเพราะติดโควิด เท่านั้นแหละ เพื่อนคนอื่นๆ ถึงได้เวลาตื่น รีบลงทะเบียนกันใหญ่ ก็อยากจะบอกกับคนอื่นๆว่าฉีดวัคซีนเถอะค่ะ ก่อนที่จะสายเกินไป”

คุณศันสนีย์พบว่าสิ่งที่มีส่วนสำคัญมากในการป้องการอาการข้างเคียง คือ การทำใจสบายๆ ก่อนรับการฉีดวัคซีน

“จากข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับผลข้างเคียง ป้ามองว่าคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน สิ่งที่เกิดกับคนอื่น อาจไม่เกิดกับเราก็ได้ และถ้าเทียบกันระหว่างอาการจากการติดโควิดกับอาการจากการฉีดวัคซีน อย่างหลังเสี่ยงน้อยกว่าเยอะ เพราะมีระบบติดตามอาการ สิ่งที่ป้าแนะนำเพื่อนๆ ก็คือระหว่างที่รอคิวไปฉีด ให้ไปหาหมอประจำตัวเพื่อเตรียมตัวให้พร้อม พอถึงวันฉีดก็ไปแบบสบายใจ ไม่เครียด ความดันไม่ขึ้น”

แม้ว่าจะผ่านมาปีกว่าแล้วหลังจากการพบเคสผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทย โรคโควิด-19 ยังคงเป็นโรคที่ยังไม่มีการรักษาที่ชัดเจน อัตราการเสียชีวิตทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และเศรษฐกิจยังคงอยู่ในขั้นวิกฤติ สภาพการณ์เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของวัคซีนในฐานะกุญแจสำคัญสู่ชีวิตปกติ (ใหม่) ของผู้คนทั่วโลก

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นอีกเสียงหนึ่งที่ยืนยันว่าวัคซีนคือทางออก

“ในวันนี้ประเทศไทยมีวัคซีนอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ ชนิดแรกคือชนิดเชื้อตาย ซึ่งมีลักษณะเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เรารู้จักกัน และชนิดที่สองคือชนิดไวรัสเวกเตอร์หรือวัคซีนชนิดไวรัสเป็นพาหะ ทั้งสองชนิดทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคในตัวผู้รับวัคซีน ทั้งนี้ในด้านประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละตัวจะนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะวัคซีนแต่ละชนิดมาจากบริบทการศึกษาวิจัยที่แตกต่าง ศึกษากันคนละที่ คนละประเทศ คนละประชากร คนละช่วงการระบาด ฉะนั้นจึงตอบไม่ได้ว่าวัคซีนตัวไหนดีกว่ากัน หากอ้างอิงจากสารของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย วัคซีนที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนคือ วัคซีนที่เราได้รับเร็วที่สุด และไม่แนะนำให้รอ หรือเลือกวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่ง”

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ ให้ข้อแนะนำว่าประชาชนควรเตรียมความพร้อมทั้งในด้านร่างกายและจิตใจก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน

“ในแง่การเตรียมตัว ต้องทราบว่าเรามีโรคประจำตัวอะไร มีการรักษาต่อเนื่องหรือไม่ มีอาการคงที่ใช่ไหม ถ้ามีการรักษาที่คงที่ มีอาการที่ควบคุมได้ ก็สามารถรับวัคซีนได้ แต่ถ้ามีการปรับยาที่แพทย์ให้ตลอดเวลา ต้องปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อนว่าสามารถรับวัคซีนได้หรือไม่”

สำหรับคนวัยหนุ่มสาวที่แข็งแรงและไม่มีโรคประจำตัว ควรเลื่อนฉีดไปก่อนหากมีภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันใดๆ เช่น อยู่ๆ เป็นหวัดหรือเป็นไข้ ส่วนผู้ที่มีประวัติแพ้ยาหรืออาหาร ควรแจ้งประวัติการแพ้ต่างๆ ก่อนรับการฉีด เพื่อจะได้เฝ้าสังเกตอาการเป็นพิเศษในช่วง 30 นาทีแรก

“อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเตรียมใจ อยากให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่าในการฉีดวัคซีนอาจมาพร้อมผลข้างเคียง ซึ่งส่วนแรกคืออาการที่มาจากความวิตกกังวลหรือความกลัว ที่อาจทำให้มีอาการ ชา อ่อนแรง ซึ่งไปคล้ายกับอาการหลอดเลือดสมอง อีกส่วนหนึ่งคืออาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการฉีดวัคซีนทุกชนิด โดยแบ่งเป็นอาการที่เกิดเฉพาะบริเวณที่มีการฉีด เช่น ที่แขน อาจปวด บวม แดง หรือร้อนผ่าว ซึ่งมีโอกาสเจอมากถึงร้อยละ 20-30 และอาการตามระบบ เช่น มีไข้ต่ำไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส เพลีย หรือปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการเหล่านี้สามารถหายเองได้ภายใน 1-2 วัน และสามารถรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดอาการปวดหรือลดไข้ได้ ดังนั้นไม่ต้องวิตกกังวล”

 

สิ่งที่ทุกคนปรารถนาไม่ต่างกันในวันนี้ คือ อิสรภาพที่จะได้กลับมาทำกิจกรรมทางสังคมตามปกติ ทั้งการกลับไปทำงาน การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ การเดินทางท่องเที่ยว และการได้เห็นเศรษฐกิจทั้งในบ้านเราและทั่วโลกฟื้นตัวดีขึ้น

“เราจะก้าวไปสู่เป้าหมายนี้ได้ก็ต่อเมื่อทุกคนมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งหมายถึงทุกคนอยู่ในสถานะที่ปลอดภัย วัคซีนมีประโยชน์ต่อตัวผู้ที่ได้รับเอง ในแง่ของการลดความรุนแรงของโรคและป้องกันการเสียชีวิต และมีประโยชน์ต่อคนรอบข้าง โดยสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ถ้าประชาชนประมาณร้อยละ 70 ของประเทศได้รับวัคซีน แต่จนกว่าจะถึงวันที่เราจะได้ถอดหน้ากากพร้อมกันทั่วประเทศ แม้ว่าจะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ ดังนั้นจึงยังต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน” ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ กล่าวปิดท้าย

#####