กรมการพัฒนาชุมชน จัดกิจกรรมทดสอบตลาดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant Dให้มีคุณภาพมาตรฐาน ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่อง หลังจากการจัดอบรมเสร็จสิ้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการสินค้าโอทอป กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา ได้เสริมทักษะทางด้านการตลาด สามารถนำความรู้ไปพัฒนาศักยภาพ และส่งเสริมสนับสนุนสินค้าโอทอปให้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้ประกอบทั้ง 24 ราย ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจากผู้ประกอบการทั้งหมด 244 รายที่เข้าร่วมโครงการ ได้เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์โอทอป ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 2.ที่ผ่านมา

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “ผู้ประกอบการทั้ง 24 ราย ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกภายใต้ตัวชี้วัดมาตรฐานของโครงการฯ และผ่านขั้นตอนการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการให้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านการสร้างแบรนด์ ด้านการตลาดดิจิทัล และด้านการออกแบบ ที่เข้าไปช่วยตรวจสอบการผลิตสินค้าให้ถูกต้องตามขั้นตอน และกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานเป็นที่เรียบร้อย ถัดมาเป็นเวลาของการลงสนามจริง ทางกรมฯ จึงได้ทำการจัดกิจกรรมทดสอบตลาด เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้ประกอบการได้พบปะกับลูกค้าจริง ได้เห็นความต้องการของตลาดจริง ๆ อีกทั้งเรายังได้จัดวงสนทนาแบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เจรจาธุรกิจกับคู่ค้าในรูปแบบออนไลน์ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพและเสริมทักษะทางด้านการตลาดให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งมีสินค้าที่ดีอยู่ในมือสามารถใช้เป็นใบเบิกทางให้กับสินค้าโอทอป ที่ได้รับการพัฒนามาอย่างรอบด้านแล้ว สามารถขยายช่องทางการขายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้ในอนาคต นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

            ทางด้านผู้ประกอบการที่ได้ร่วมกิจกรรมทดสอบตลาดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนาฯ เปิดเผยถึงประสบการณ์ที่ได้รับหลังจากผ่านการอบรม จนกระทั่งได้นำผลิตภัณฑ์มาร่วมกิจกรรมการทดสอบตลาดจริง

นางกัลยาณี สาครตระกูล ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตน้ำยาชีวภาพอเนกประสงค์เอ็ม แอ็ท โฮม (EM@HOME) กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับจากโครงการฯ เบื้องต้นคือ ความรู้ทั้งในเรื่องของการผลิต การตลาด ซึ่งมีขั้นตอนต่าง ๆ ค่อนข้างเยอะ หากต้องศึกษาด้วยตัวเองทั้งหมดกว่าจะดึงความรู้แต่ละด้านออกมาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การอบรมในโครงการฯ สามารถช่วยผลักดัน จนทำให้เกิดตัวสินค้าใหม่ที่พัฒนาจากผลิตภัณฑ์เดิมที่มี และในอนาคตเรายังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น

นางชลชญา  ชาญรวินท์ ผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรกันยุง สวนอยู่สบาย จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า หลังจากได้ฝึกอบรมในโครงการฯ เราสามารถพัฒนาจากแพ็คแกจที่ค่อนข้างธรรมดา ให้ออกมาเป็นแพ็คเกจที่สวยงามมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เคยคิดว่าหากเปลี่ยนรูปแบบคนจะไม่ชอบ และไม่สนใจผลิตภัณฑ์ของเรา เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าของเราคือชาวบ้าน คนข้างนอกจะเข้าถึงยาก แต่เมื่อได้รับการอบรมจากทางโครงการฯ ทำให้เราปรับเปลี่ยนความคิด อีกทั้งการพัฒนาแพ็คเกจยังช่วยทำให้คนภายนอกหันมาสนใจและเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของเราได้มากขึ้น

นายกิตติพงศ์ บัวบุตร ผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์บาล์มหญ้าเอ็นยึด ตราชมพูพาน จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า จากเดิมบาล์มหญ้าเอ็นยึดบรรจุในขวดแก้วธรรมดา หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ เราได้พัฒนารูปแบบแพ็คเกจจิ้ง เปลี่ยนเป็นการบรรจุในรูปแบบตลับที่มีความทันสมัยมากขึ้น สะดวกต่อการพกพา เหมาะกับวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งเราได้รับคำแนะนำเรื่องการผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้นจากวิทยากรของโครงการฯ ทั้งเรื่องการบรรจุ และแพ็คเกจจิ้ง ทำให้สินค้าของเรามีคุณภาพและมีมาตรฐานสากลมากขึ้น

โดยเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการทั้ง 24 รายที่เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบตลาดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP พิจารณาจาก 3 หัวข้อหลัก คือ ผลิตภัณฑ์ ต้องมีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ มีนวัตกรรม มีความพิเศษ มีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การตลาด ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถทำตลาดให้เติบโตขึ้น รวมทั้งมีความเข้าใจพร้อมทำตลาดสมัยใหม่ และ ผู้ประกอบการ ต้องมีความพร้อมต่อการเติบโต รวมไปถึงความพร้อมด้านเงินลงทุนสนับสนุน ซึ่งผลิตภัณฑ์จะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบำบัด กลุ่มทำความสะอาดร่างกาย กลุ่มความงาม กลุ่มทำความสะอาดเครื่องใช้ และ กลุ่มเกษตร

ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์แอปพลิเคชัน Shopee และ Lazada หรือภายในร้านค้าผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทสมุนไพรที่ใช่อาหาร