ในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล ปีพ.ศ. 2564 คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดแคมเปญสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน โดยจะมีไฮไลท์เป็นงานเสวนาออนไลน์กับศิลปินมากความสามารถ อาจารย์ผู้สอนศิลปะ และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ในหัวข้อเรื่องบทบาทของศิลปะในการผลักดันให้สิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและชีวิตประจำวัน
เป้าหมายของการรณรงค์ในครั้งนี้ คือการนำงานศิลปะมาเป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างความตระหนักรู้ต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับการตอกย้ำความมุ่งมั่นทั้งของสหภาพยุโรปและกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่จะร่วมกันส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
กิจกรรมในปีนี้ประกอบไปด้วยงานเสวนาออนไลน์ และแคมเปญวิดีโอที่มีศิลปินชื่อดังของไทยมาเข้าร่วม อันได้แก่ กนิษฐรินทร์ ไทยแหลมทอง ศิลปินนักวาดภาพประกอบ นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ศิลปินผู้ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศผ่านศิลปะการจัดดอกไม้ นักรบ มูลมานัส ศิลปินคอลลาจ ผู้ช่ำชองในการหยิบของโบราณมาตีความใหม่ และ พิเชษฐ กลั่นชื่น นักเต้นผู้นำศิลปะการแสดงมาจุดประกายความคิดด้านประเด็นทางสังคม
การรณรงค์เริ่มด้วยวิดีโอ “ศิลปะและสิทธิมนุษยชนท่ามกลางวิกฤตโควิด” ที่นำเสนอมุมมองของศิลปินทั้งสี่เกี่ยวกับบทบาทสำคัญของศิลปะในการเป็นสื่อกลางสำหรับถ่ายทอดประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ให้สาธารณชนทั่วไปได้ตระหนักให้มากขึ้น
“พอมีวิกฤตเข้ามา มันก็มีตัวเร่งปฏิกิริยาตรงนี้เข้ามา ทำให้มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น” คุณกนิษฐรินทร์กล่าว “จากคนที่ถูกลิดรอนสิทธิในสังคมหรือคนที่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ครบถ้วนอยู่แล้ว มันยิ่งถูกโควิดกดให้อะไรๆ มันแย่ลงไปอีก”
คุณนักรบกล่าวเสริมจากมุมมองของผู้สร้างสรรค์งานศิลปะว่า “การที่คนมาดูงานศิลปะ มันทำให้รู้สึกว่ากลไกเรื่องเสรีภาพของเราแสดงออกมาได้ มันก็เป็นประตูบานหนึ่งที่ทำให้เราก้าวไปไกลกว่านั้น เราอาจจะไปค้นคว้าต่อ คิดต่อ หรือไปต่อยอดต่อ มันอาจมาพร้อมความตระหนักรับรู้บางอย่างที่เราไม่เคยได้คิดและตระหนักถึงสิ่งๆ นั้น”
นอกจากการร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านวิดีโอนี้แล้ว เหล่าศิลปินทั้งหลายยังจะมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของศิลปะในการสร้างความตระหนักรู้ต่อสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และความเหลื่อมล้ำในสังคม ในงานเสวนา “’วาดสิทธิด้วยงานศิลป์’ จับเข่าคุยเรื่องศิลปะกับสิทธิมนุษยชนในยุคโควิด” โดยจะมี ผศ. เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และผศ. ปวิตร มหาสารินันทน์ อดีตผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครมาร่วมเสวนาด้วย
เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ฯพณฯ เดวิด เดลี ได้กล่าวถึงผลกระทบของไวรัสต่อสิทธิมนุษยชนไว้ว่า “เราได้เห็นหลายๆ ประเทศพยายามต่อสู้กับโควิด 19 ด้วยการปิดเมือง ทั้งปิดเพียงบางส่วนและปิดทั้งหมด มีการออกมาตรการมาห้ามคนออกนอกบ้านในเวลากลางคืน จำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชน ฯลฯ โดยมองว่าการล็อคดาวน์นี่มันจำเป็นสำหรับการรักษาความปลอดภัยทางสาธารณสุข”
“แต่ที่ต้องคำนึงมากก็คือ ทำอย่างไรเราถึงจะไม่ทำเกินกว่าที่จำเป็นต้องทำ และเราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ใช่การทำลายความมั่นคงของสาธารณสุข สองอย่างนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกัน เพียงแต่ว่าทำอย่างไรให้มาตราการที่ออกมาได้สัดส่วนกับสถานการณ์ และใช้มาตราการนั้น ๆ เฉพาะในระยะสั้น นี่คือการสร้างความสมดุล”
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ฯพณฯ เรืองศักดิ์ สุวารี กล่าวเสริมว่า “สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคนในวงกว้าง ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต การใช้ศิลปะแขนงต่างๆ เป็นเครื่องมือสื่อสาร จะช่วยเสริมสร้างสังคมให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ขยายช่องทางให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ในวงกว้างยิ่งขึ้น”
งานเสวนา ’วาดสิทธิด้วยงานศิลป์’ จับเข่าคุยเรื่องศิลปะกับสิทธิมนุษยชนในยุคโควิดนี้ จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม 2564 เวลา 16.00 น. – 18.00 น. โดยมีณัชชานันท์ เลียงอรุณวงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ European Union in Thailand
แม้งานเสวนาออนไลน์นี้จะจัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรำลึกถึงวันสิทธิมนุษยชน ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี แต่คุณพิเชษฐก็ให้ความเห็นว่า การนำเรื่องสิทธิมนุษยชนมาแลกเปลี่ยนถกเถียงกันนั้นไม่ควรจะถูกจำกัดอยู่แค่ในวันใดวันหนึ่ง
“ตลอดทั้งชีวิตเรา เราจะต้องปกป้องความเป็นเรา เราจะต้องปกป้องสิทธิของเรา” คุณพิเชษฐกล่าว “งานสิทธิมนุษยชนไม่มีอีเวนต์ มันจะต้องเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย”
ติดตามชมคลิปสัมภาษณ์และรายละเอียดเกี่ยวกับงานเสวนาได้ทางเฟซบุ๊กของคณะผู้แทนสหภาพยุโรป https://www.facebook.com/EUinThailand
——————————————————————————————————