จากวิสัยทัศน์ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนนวัตกรรมประเทศไทยให้ก้าวสู่อันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลกภายในปี 2573 เพื่อมุ่งยกระดับประเทศไทยให้เป็นชาติแห่งนวัตกรรมนับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ขานรับเป้าหมายดังกล่าวโดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานวิจัยและการสร้างนวัตกรรมของประเทศให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลกในศตวรรษที่ 21 ผ่านการทำงานร่วมกับภาครัฐ สถาบันการศึกษาและชุมชน ในรูปแบบจตุรภาคี (Quadruple Helix) เพื่อร่วมกันพัฒนาต่อยอดและปรับใช้ความรู้และเทคโนโลยีนำมาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศทั้งปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการ SPACE–F เป็นความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมอาหารแห่งแรกในประเทศไทยที่มีเป้าหมายสู่ระดับโลก ระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) อว. กับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล โครงการ Thailand InnoBIZ Champion เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติฯ อว. กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อหาผู้ประกอบการนวัตกรรมในภูมิภาคที่นำอัตลักษณ์เด่นของแต่ละพื้นที่มาสร้างให้เกิดนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเกี่ยวกับ ปีนี้นับเป็นปีที่ท้าทายสำหรับ อว. ในการขับเคลื่อนนำประเทศไปสู่การเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม” โดย อว. ได้สนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมขึ้นในประเทศ ผ่านการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการนวัตกรรม การขยายโอกาสเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมในส่วนภูมิภาค การส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมเพื่อสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม เช่น การผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2564 ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการนวัตกรรมเพิ่มขึ้นจากความคล่องตัวในการรับถ่ายทอดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย นอกจากนี้ อว. ยังมีแนวทางใหม่ในการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมผ่านการปรับเปลี่ยนจากการวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ฝั่งอุปทานไปเป็นงานวิจัยที่ต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้จริง การสร้างเครือข่ายที่ร่วมกันสร้างนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยเป็น 2% ต่อ GDP หรือประมาณ 370,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว
“นอกจากภารกิจดังกล่าวแล้ว สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด อว. ยังได้มีการริเริ่มสร้าง “แพลตฟอร์มนวัตกรรมประเทศไทย” ที่มีเป้าหมายหลักในการผลักดันให้ประเทศไทยติด 30 อันดับแรกของดัชนีนวัตกรรมโลก ภายในปี 2573 เพื่อสร้างภาพลักษณ์ด้านนวัตกรรมของประเทศและเกิดการยอมรับระดับสากลสู่การเป็นชาติแห่งนวัตกรรม ซึ่งถือว่า NIA ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ เพราะสามารถสร้างให้เกิดการรับรู้อัตลักษณ์นวัตกรรมไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างพันธมิตรนวัตกรรมไทยที่เข้ามาร่วมกันสร้างให้เกิดนวัตกรรมฝีมือคนไทยขึ้นในองค์กรทุกภาคส่วน และเกิดการรวบรวมข้อมูลนวัตกรรมไทยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าว
สำหรับแพลตฟอร์ม นวัตกรรมประเทศไทย มีการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การสื่อสารอัตลักษณ์ทางนวัตกรรมของประเทศไทยให้เป็นที่จดจำ โดยเฉพาะนวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิตที่ประณีต(Innovation for Crafted Living) ซึ่งถือเป็นดีเอ็นเอทางนวัตกรรมของไทย 2. การสร้างเครือข่ายพันธมิตรนวัตกรรมประเทศไทย ให้เกิดการเชื่อมโยง เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทางนวัตกรรมร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทยที่จะมาร่วมกันผลิต สร้างสรรค์ ผลักดัน และส่งเสริมนวัตกรรมของคนไทย ทั้งจากภาครัฐ บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา และสมาคมธุรกิจ กว่า 70 องค์กร โดยที่ผ่านมาได้มีการกิจกรรม Innovation Sharing ที่ให้ผู้แทนเครือข่ายร่วมถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของแต่องค์กร เพื่อจุดประกายให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และ 3. การสร้างฐานข้อมูลนวัตกรรมประเทศไทย ที่มีความเป็นปัจจุบันและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งจากการเรียนรู้ตัวอย่างประเทศที่อยู่ในอันดับต้นของดัชนีนวัตกรรมโลกจะมีจุดเด่นสำคัญที่สอดคล้องกับการดำเนินงานแพลตฟอร์มนวัตกรรมประเทศไทยของ NIA
“ที่ผ่านมาคนไทยอาจยังไม่ค่อยรับรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่เกิดขึ้นมากนัก โดย Innovation for Crafted Living เป็นอัตลักษณ์ของนวัตกรรมไทยที่สะท้อนดีเอ็นเอนวัตกรรมจากไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่มีความประณีตพิถีพิถันในการใช้ชีวิต ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่มีการสร้างสรรค์ด้วยความประณีตใส่ใจในทุกรายละเอียด เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยทำให้มีความสุข สะดวกสบาย และมีความประณีตในการใช้ชีวิตมากขึ้นเพื่อคนไทยและคนทั่วโลก โดยแบ่งเป็น 7 ด้าน
1) “Healthy Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีสุขภาพดี” เป็นนวัตกรรมด้านอาหาร การดูแลสุขภาพ และการรักษาทางการแพทย์ เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดี เช่น นวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ระบบให้คำปรึกษาการแพทย์ทางไกล
2) “Safe Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีความปลอดภัย” เป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์และระบบความปลอดภัย ทั้งการให้บริการสาธารณะและความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่มีความปลอดภัย เช่น แอปพลิเคชั่นติดตามสถานการณ์น้ำ ระบบการแจ้งเตือนภัยคุกคามทางไซเบอร์
3) “Easy Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่สะดวกสบาย” เป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้เกิดการใช้ชีวิตที่ง่ายและสะดวกสบายขึ้นสำหรับคนทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะผู้สูงวัย ผู้พิการ ผู้ป่วย เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่สะดวกสบายได้อย่างเท่าเทียมกัน เช่น หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ ระบบรองรับการชมภาพยนตร์สำหรับผู้พิการทางสายตา
4) “Connected Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่เชื่อมต่อถึงกันได้” เป็นนวัตกรรมที่ช่วยเชื่อมต่อให้ทุกคน ทุกช่วงวัยสามารถสื่อสารและเข้าถึงกันได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกไลฟ์สไตล์ เช่น แอปพลิเคชันเชื่อมโยงผู้สูงวัยและสร้างสังคมเครือข่ายผู้สูงวัย ระบบจองขนส่งออนไลน์
5) “Smart Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่เป็นมิตรกับโลก” เป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน เพื่อให้การใช้ชีวิตของทุกคนเป็นมิตรกับโลกและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน เช่น บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ระบบจัดการเก็บขยะอัจฉริยะ
6) “Wealthy Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีอาชีพและรายได้ใหม่” เป็นนวัตกรรมที่เป็นสินค้า บริการ หรือระบบแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ที่ตอบสนองตรงกับความต้องการใหม่ของลูกค้าและการให้บริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้น เช่น ปลาทูก้างนิ่ม บริการแม่บ้านมืออาชีพ แพลตฟอร์มเชื่อมต่อผู้ซื้อผู้ขาย
7) “Happy Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีความสุข” เป็นนวัตกรรมด้านดนตรี ศิลปะ และนันทนาการ ที่ทำให้คนไทยและคนทั่วโลกมีชีวิตที่มีความสุข เช่น แซกโซโฟนพลาสติก โรงมหรพสร้างสรรค์เพื่อการตื่นรู้ แพลตฟอร์มจัดอีเวทน์ออนไลน์
เราจึงอยากให้คนไทยมาร่วมภาคภูมิใจในนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก และเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีความเป็นเลิศทางนวัตกรรมจากภูมิปัญญาที่สั่งสมมายาวนานจนเป็นอัตลักษณ์ทางนวัตกรรมไทย และเราต้องมั่นใจว่าจะสามารถก้าวไปสู่การเป็น 1 ใน 30 ชาติแห่งนวัตกรรมของโลกที่ทัดเทียมนานาประเทศได้” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวทิ้งท้าย