บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล องค์กรเอกชนที่มุ่งมั่นให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการยกระดับความเป็นอยู่ของสังคมให้ดีขึ้น ภายใต้โครงการ เซ็นทรัลทำ” จัดกิจกรรม “เราเลิก (บุหรี่) กัน” ตั้งเป้าหมายครั้งใหม่สู่การเป็น “คลังสินค้าปลอดบุหรี่ 100%” พร้อมกันนี้ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) และ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ยังได้ส่งหน่วย mobile chest x-ray ที่มีการใช้เทคโนโลยี AI ในการอ่านผลทำให้มีความแม่นยำและทราบผล x-ray ได้ทันที เพื่อให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นให้กับพนักงาน ณ ศูนย์กระจายสินค้าเซ็นทรัล รีเทล บางพลี กรุงเทพฯ
โดยการจัดงาน ครั้งนี้ นำโดย สุพัตรา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมกับ ศ.เกียรติคุณ พ.ญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ร่วมด้วย นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย, นายแพทย์วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ, รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศุภชัย รัตนมณีฉัตร ประธานคณะทำงานฝ่ายแรงงาน สมาพันธ์ฯ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กวิรัช ตันติวงษ์ รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ธเนศร เนื่องจำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่าย Logistics & Supply Chain, Non-Food บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ร่วมจัดเสวนาในหัวข้อ “เรา…เลิก (บุหรี่) กัน”
สุพัตรา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัล ได้จัดตั้งโครงการขึ้นโดยที่มีเป้าหมายรณรงค์ส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรลดปริมาณการสูบบุหรี่ รวมทั้งเลิกบุหรี่อย่างถาวร 100% โดยยึดหลัก “เราไม่ห้าม.. แต่เราห่วง” ให้ความรู้ความเข้าใจ จัดฝึกอบรม เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาบุคลิกภาพ ให้พนักงานของบริษัทหันมาใส่ใจในสุขภาพของตนเองและครอบครัว โดยมีการขับเคลื่อนในบุคคลากรของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า โรงแรมในเครือเซ็นทารา และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ใน สาขาต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค จนเกิด “กลุ่มคนเซ็นทรัลพันธุ์ฮีโร่” บุคคลต้นแบบที่เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนโครงการ โดยในปีนี้ เราตั้งเป้าหมายการดำเนินงานให้ศูนย์กระจายสินค้าเซ็นทรัล รีเทล แห่งนี้ บรรลุเป้าหมายสู่การเป็น “คลังสินค้าปลอดบุหรี่ 100%”
นายแพทย์วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ให้ข้อมูลชำแหละบุหรี่ไฟฟ้าว่า จากผลการวิจัยพบว่าคนที่พยายามเลิกบุหรี่ด้วยบุหรี่ไฟฟ้า กลับมาติดทั้งบุหรี่ปกติและบุหรี่ไฟฟ้าในเวลาเดียวกัน บุหรี่ไฟฟ้าเป็นคำโฆษณาและการตลาด เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตต้องสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่มาทดแทน เชิญชวนด้วยการโฆษณาว่าภายในบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีการเผาไหม้ใบยาสูบ โดยบุหรี่ไฟฟ้าใช้นิโคติน
เหลวที่ได้จากการสกัดซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดควันน้อยลงก็จริงแต่อันตรายไม่ได้น้อยลง เนื่องจากยังมีสารสกัดนิโคตินอยู่ และไม่ว่าจะเป็นบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าก็ประกอบด้วยนิโคตินและสารก่อมะเร็งด้วยกันทั้งสองชนิด
“ในความเป็นจริงนิโคตินไม่มีความจำเป็นต่อร่างกาย สารนิโคตินส่งผลต่อสมองและระบบประสาท มีฤทธิ์ในทางการเสพติดรุนแรงออกฤทธิ์ ก่อให้เกิดการอักเสบจากการต่อต้านในเส้นเลือด ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ เมื่อร่างกายได้รับนิโคตินจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเอพิเนฟรีนและสารโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจ ส่งผลให้สมองหลั่งเอนโดฟินสารแห่งความสุข ซึ่งสารแห่งความสุขสามารถเกิดได้โดยการทำกิจกรรมอื่น เช่น ออกกำลังกาย หากต้องการเลิกบุหรี่ต้องทำให้ร่างกายขับนิโคตินออกไปให้หมด ซึ่งเป็นการเข้าสู่กระบวนการเลิกบุหรี่ต่อไป” นายแพทย์วันชาติ กล่าว
ธเนศร เนื่องจำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่าย Logistics & Supply Chain, Non-Food บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด กล่าวถึงแนวทางนโยบายผลักดันเข้าสู่ “คลังสินค้าปลอดบุหรี่” ว่า เกิดได้จาก 3 พลัง ได้แก่ พลังที่ 1 นโยบายของผู้ก่อตั้งบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ที่ว่า เราต้องการเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิต ในที่นี้ยังหมายถึงชีวิตของพนักงานที่เราอยากเห็นพนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี นำความก้าวหน้ามาสู่สังคมไทย ส่งผลให้บริษัทประสบความสำเร็จตามมา พลังที่ 2 ผู้บริหารระดับสูง ที่มีวิสัยทัศน์ว่า หากพนักงานสามารถเลิกบุหรี่ได้คือการเปลี่ยนชีวิต เนื่องจากการเลิกบุหรี่ได้จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 25% เงินก้อนนี้สามารถทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น ประหยัดค่ารักษาพยาบาล ทั้งหมดนี้มีส่วนผลักดันให้พนักงานมีชีวิตที่ดีขึ้น พลังที่ 3 พลังของพนักงานทุกคน ใจที่มีความมุ่งมั่นอยากเลิกบุหรี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ขณะเดียวกันเพื่อนที่ไม่สูบบุหรี่ก็พร้อมเป็นกำลังใจช่วยเหลือ มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่บริษัทจัดให้ ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการลดละเลิกบุหรี่ได้ เพื่อให้พนักงานของเราได้เปลี่ยนชีวิต และวันหนึ่งคลังสินค้าของเราต้องปลอดบุหรี่ 100%
กลุ่มเซ็นทรัล ได้มุ่งมั่นในการสร้างยุทธศาสตร์พัฒนาคนให้มีความเป็นผู้นำรุ่นใหม่ ที่สำคัญคือต้องเป็นคนที่มีสุขภาพดี โดยมุ่งเป้าการเป็นองค์กรปลอดบุหรี่ และได้มีความพยายามในการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรภายในองค์กร ให้ความสนใจเรื่องการส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรลดปริมาณการสูบบุหรี่ ดำเนินงานอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์คอนเซ็ปต์ “เราไม่ห้าม…แต่เราห่วง” เพราะเราเข้าใจดีว่าเรื่องการสูบบุหรี่เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่เราต้องการส่งเสริมให้พนักงานใส่ใจในสุขภาพของตัวเองและมีความเข้าใจเรื่องการลดสูบบุหรี่ รวมทั้งเลิกบุหรี่อย่างถาวร
###