จากศิลปินบอยแบนด์ในยุค 2000 ที่ก้าวผ่านการใช้ชีวิตตามรูปแบบที่ตัวเองเลือก เขื่อน – ภัทรดนัย เสตสุวรรณ อดีตศิลปินวง K-OTIC และนักจิตบำบัด ที่ไม่ได้ให้คำปรึกษาเฉพาะแค่ในตำรา แต่ยังใช้วิชาประสบการณ์จากชีวิตจริงที่ตัวเองได้รับมาช่วยแนะนำการรับมือกับไซเบอร์บูลลี่ต่างๆ พร้อมส่งแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น จากชุมชนในเขตจตุจักร ทั้งโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ และโรงเรียนเสนานิคม ในกิจกรรม “ยุติการบูลลี่ให้เป็นศูนย์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “RS Diversity” ชื่นชมทุกความหลากหลาย เป็นไปได้ทุกความแตกต่าง ของ อาร์เอส กรุ๊ป โดย เขื่อน ภัทรดนัย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกิจกรรมนี้ว่า
ความรู้สึกที่ได้มาแชร์ประสบการณ์ และแนะแนวทางการรับมือการบูลลี่ให้กับเยาวชนในงานวันนี้
“รู้สึกแฮปปี้มากค่ะ งานนี้เป็น passion ของเขื่อนอยู่แล้ว เหมือนงานจิตบำบัดที่เขื่อนทำอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นวันนี้ที่ได้มาเจอน้องๆ ได้มาพูดถึงพื้นที่ปลอดภัย เรื่องสุขภาพจิต ที่สำคัญได้มาสร้างการรับรู้ให้คนตระหนักถึงผลกระทบจากการบูลลี่ค่ะ”
ในสถานการณ์ที่มีการบูลลี่กันทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ อยากฝากอะไรกับเยาวชน หรือคนรุ่นใหม่ที่ใช้งานโซเชียลมีเดียเป็นประจำ
“การบูลลี่ในโซเชียลมันไม่ได้เพิ่งมีนะคะ มันมีมาตลอด มีเยอะมาก และเขื่อนก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการโดนบูลลี่ตั้งแต่เริ่มมีอินเตอร์เน็ตเลย จนมาถึงในปัจจุบัน อยากจะบอกทุกคนว่า ให้คิดก่อนแชร์ ว่าสิ่งที่เราแชร์ออกไปมันทำร้ายใครหรือเปล่า และสิ่งที่เรามองข้ามอาจจะส่งผลทำให้ใครรู้สึกไม่ดีบ้างหรือเปล่า”
ความหลากหลายและการยอมรับในตัวตนของกันและกันในมุมมองของเขื่อน จะช่วยให้สังคมไทยน่าอยู่ขึ้นได้อย่างไร
“การยอมรับความหลากหลายเกิดขึ้นจากความเข้าใจก่อน ต้องให้ความรู้ และสร้างการรับรู้ให้เข้าใจก่อนว่า คนเรามีความหลากหลาย มนุษย์เราเป็นปัจเจกชน สิ่งสำคัญคือเราไม่เหมือนกัน ก็อยากจะให้ทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากกว่า ในเดือน Pride Month นี้ หลายๆ คนอาจจะโฟกัสที่ LGBTQ+ แต่อยากให้ทุกคนมองกว้างขึ้นว่าความหลากหลายไม่ได้จบที่เพศอย่างเดียว ยังมีเรื่องสีผิว เชื้อชาติ รสนิยม ซึ่งเป็นความแตกต่างในทุกเรื่องเลยนะคะ ไม่จำเป็นที่จะต้องพยายามจัดหมวดหมู่ว่าใครเป็นแบบนั้นแบบนี้ จริงๆ แล้ว ทุกคนต่างกันหมดเลยค่ะ โลกของเรานี่แหละคือความหลากหลาย”
ตอนนี้เขื่อนยังโดนบูลลี่อยู่ในโซเชียลมั้ยคะ
“(หัวเราะ) คนชอบคิดว่า เขื่อนเป็นพื้นที่ปลอดภัย กล้าแสดงออกแล้ว ไม่โดนแล้ว แต่ไม่ต้องไปไหนไกลเลย แค่เลื่อนไปดู TikTok เขื่อน หรือในอินสตาแกรมก็ยังมีคอมเมนต์บูลลี่ ยังมีข้อความส่งมาขู่ฆ่า เยอะแยะไปหมด ถึงแม้วันนี้จะดูสดใสขึ้น ดูดีขึ้น แต่ดีขึ้นไม่ได้แปลว่าดีแล้วนะคะ พวกเราก็ช่วยเป็นกำลังใจให้กันและกันค่ะ”
แล้วเวลามีคอมเมนต์บูลลี่ เขื่อนมีวิธีการจัดการยังไง
“ภาษาอังกฤษเรียกว่า I’ll re-act with kindness. เวลาเค้าแรงมาเราก็จะเบากลับ โดยจะบอกเค้าว่า พูดแบบนี้ไม่ดีนะคะ เพราะว่าคำพูดอาจจะไปทำร้ายใครก็ได้นะคะ”
ดังนั้น หลายๆ คนอาจคิดว่าการพูดจาทีเล่นทีจริง หรือการใช้คอมเมนต์ในโซเชียลต่างๆ เป็นแค่การหยอก การแซวขำๆ แต่ผู้ฟังอาจไม่ได้รู้สึกสนุก และอาจเป็นบาดแผลในใจ ไม่ต่างจากการทำร้ายร่างกาย เราควรสร้างสังคมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย และยุติการบูลลี่ให้เป็นศูนย์ เพราะทุกคนมีความแตกต่างและหลากหลาย
—
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ