คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขนำทีมลงพื้นที่หาดใหญ่–สะเดา ติดตามการบังคังใช้กฎหมายด้านการสาธารณสุข หลังพบบุหรี่เถื่อนเติบโตสูง ระบาดเข้าทางชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน แถมเจอบุหรี่ไฟฟ้าทะลักร่วมด้วย ทำมาตรการควบคุมยาสูบไร้ผล เตรียมเสนอ สธ. ศุลกากร สรรพสามิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางแก้ไขโดยด่วน
ดร. นาที รัชกิจประการ ประธานคณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) ร่วมกับ คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพและติดตามการบังคังใช้กฎหมายด้านการสาธารณสุข (อนุ กมธ.) สภาผุ้แทนราษฎร นำโดยนายธีรภัทร พริ้งศุลกะ รองประธาน ลงพื้นที่ด่านศุลกากรสะเดา และด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา เพื่อร่วมประชุมรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาบุหรี่หนีภาษีเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การจัดเก็บรายได้ของประเทศ และทำให้การบังคับใช้มาตรการควบคุมยาสูบของกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ผล
นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย โฆษกคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขและรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ กล่าวว่า “บุหรี่เถื่อนมีราคาต่ำกว่าบุหรี่ที่จำหน่ายอย่างถูกกฎหมาย 4-5 เท่า ทำให้มีการระบาดของบุหรี่เถื่อนอย่างมาก กลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของประเทศ อีกทั้งยังทำให้มาตรการของรัฐที่จะลดการสูบบุหรี่ เช่นการขึ้นภาษี ไม่ได้ผลอย่างที่ตั้งใจไว้ จากรายงานของสรรพสามิต จ. สงขลาพบว่าสถิติการจับกุมการลักลอบนำเข้าบุหรี่ในพื้นที่ ปี 2564 จับกุมได้เฉลี่ยเดือนละ 6,600 ซอง แต่ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 สามารถจับกุมของกลางได้เฉลี่ยเดือนละ 16,900 ซอง หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 255%”
สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สงขลา 3 สาขา ได้แก่เมืองสงขลา หาดใหญ่ และสะเดา รับผิดชอบเขตพื้นที่ทั้งหมด 16 อำเภอ รายงานผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตปีงบประมาณ 2564 ทั้งสิ้น 473 คดี ของกลาง 78,938 ซอง คิดเป็นเงินค่าปรับ 11.2 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2565 จนถึงปัจจุบันจับได้ 286 คดี ของกลาง 1,350,708 ซอง เป็นเงินค่าปรับ 7.7 ล้านบาท
“นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า จนทำให้จำนวนผู้ใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามนำเข้าหรือแบนบุหรี่ไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันการใช้และการขายบุหรี่ไฟฟ้าได้จริง เพราะยังมีการลักลอบซื้อขายทางออนไลน์และส่งสินค้ากันทางไปรษณีย์ ซึ่งเป็นช่องทางที่สะดวกต่อผู้บริโภคและผู้ขาย แต่ยากต่อการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ จึงจำเป็นต้องหาวิธีแก้ไขโดยด่วน
หากนำบุหรี่ไฟฟ้ามาควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมาย เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพของประชาชนมากกว่า ทั้งเรื่องการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าได้ รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้โดยง่ายและสะดวกเหมือนในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังเป็นผลดีในด้านเศรษฐกิจจากการจัดเก็บภาษีเข้ารัฐได้อีกเป็นจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 สามารถนำมาควบคุมและจัดเก็บภาษีได้ทันที ”
ด้าน ดร. นาที รัชกิจปราการ กล่าวทิ้งท้ายว่า “จากสถิติการจับกุมในพื้นที่ที่มากขึ้น ต้องขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อกำจัดการลักลอบนำเข้าบุหรี่หนีภาษีและบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้นตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทำให้ กมธ. สธ. ได้รับทราบปัญหา และจะได้นำไปพิจารณาเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขให้กับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”