24 สิงหาคม 2565, กรุงเทพมหานคร – ดีป้า พร้อมเครือข่ายพันธมิตรร่วมสานต่อความสำเร็จโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ เดินหน้าขยายผลรุ่นที่ 2 เพื่อยกระดับความรู้และทักษะการพัฒนาเมืองอัจฉริยะแก่เยาวชน คนรุ่นใหม่ให้มีความพร้อมก้าวสู่การเป็น ‘นักดิจิทัลพัฒนาเมือง’ เพิ่ม 150 คนใน 150 พื้นที่ โดยมุ่งหวังให้เป็น กำลังสำคัญในการพัฒนาภูมิลำเนาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล คาดกระตุ้นให้เกิดเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะเพิ่มเป็น 150 พื้นที่ และขับเคลื่อนให้เกิดเมืองอัจฉริยะประเทศไทยเพิ่มกว่า 50 พื้นที่
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า พร้อมเครือข่ายพันธมิตร ร่วมเปิดโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (The Smart City Ambassadors: SCA) รุ่นที่ 2 โดยได้รับเกียรติจาก นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เปิดมุมมองเมืองอัจฉริยะ: เมืองฉลาด คนฉลาด บริหารจัดการอย่างชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยี”
โดย ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 1 สามารถสร้างนักดิจิทัลพัฒนาเมือง จำนวน 22 คนจาก 22 จังหวัด เพื่อเป็น ส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ (Smart City) กับหน่วยงานในพื้นที่ โดยสามารถขับเคลื่อนให้เกิดโครงการใหม่ และต่อยอดโครงการเดิมในการพัฒนาเมือง รวม 49 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,170 ล้านบาท
จากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ดีป้า โดย สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการจึงได้ร่วมกับ บริษัท เวียร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท จัมโบ้ อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด บริษัท คลาวดี เทเลคอม จำกัด และเครือข่ายพันธมิตร สานต่อความสำเร็จสู่โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมือง รุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 เพื่อเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักและต้องการพัฒนาภูมิลำเนามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะที่เข้มข้น ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง โดยประเมินว่า โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 จะปั้นนักดิจิทัลพัฒนาเมือง จำนวน 150 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตัวแทนเมือง (Smart City Captains) จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน 150 คน จาก 150 พื้นที่ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิด
“โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความสามารถและมุมมองของคนรุ่นใหม่ พร้อมส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน เพื่อให้น้อง ๆ คนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง โดยน้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการยกระดับทักษะดิจิทัล และทักษะสำคัญ ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ก่อนก้าวสู่การเป็น ‘นักดิจิทัลพัฒนาเมือง’ ปฏิบัติงานในหน่วยงานรัฐและเอกชนที่ร่วมโครงการ ตลอดระยะเวลา 12 เดือน โดยมีเจ้าหน้าที่ตัวแทนเมืองเป็นพี่เลี้ยง เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาของเมืองในแง่มุมต่าง ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างตรงจุด และเป็นรูปธรรม อีกทั้งขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในแต่ละพื้นที่ ซึ่ง ดีป้า คาดว่า โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 จะกระตุ้นให้เกิดเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะเพิ่มเป็น 150 พื้นที่ มีเมืองอัจฉริยะประเทศไทยเพิ่มไม่น้อยกว่า 50 พื้นที่ และผลักดันให้เกิดโครงการนำร่องพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ต่อไป” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
สำหรับกิจกรรมในโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ประกอบด้วย
1. Pre-bootcamp Session การเตรียมความพร้อมก่อนก้าวสู่การเป็น Smart City Ambassadors อย่างเต็มตัวด้วยคลาสเรียนออนไลน์สุดพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้ง ดีป้า และหน่วยงานพันธมิตร เพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยการเรียนรู้บทบาทและหน้าที่ของนักดิจิทัลพัฒนาเมือง รวมถึงกิจกรรมและความท้าทายที่จะได้พบตลอดโครงการ พร้อมเปิดมุมมองและแนวคิด ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ปูพื้นฐานทักษะที่จำเป็นในการทำงานและการพัฒนาโครงการ รวมถึงทักษะในการทำงานกับทีมงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อประสานงาน และการทำงานด้วยแนวคิด Co-creation
2. Smart City Ambassadors Bootcamp ค่ายกิจกรรมนักดิจิทัลพัฒนาเมือง ระยะเวลา 168 ชั่วโมง อัดแน่นด้วยกิจกรรมสุดเข้มข้น ทั้งองค์ความรู้จากคณะวิทยากรชั้นแนวหน้าของประเทศ กิจกรรมพัฒนาศักยภาพ เสริมทักษะทางสังคม (Soft Skills) การสร้างสรรค์แผนงานพัฒนาเมือง การบริหารจัดการโครงการ การทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลาย เรียนรู้นวัตกรรม เทคโนโลยี และเครื่องมือดิจิทัลที่จะสามารถต่อยอดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับการพัฒนาเมือง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ของประชาชนได้อย่างยั่งยืน
3. Smart City Ambassadors Mentoring Session กิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำในการทำงาน รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล การพัฒนาโครงการ และการเขียนเอกสารนำเสนอโครงการ (Proposal)
4. Smart City Ambassadors Online Knowledge Update กิจกรรมรายเดือนเพื่ออัปเดต ความเคลื่อนไหวและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยผู้เชี่ยวชาญจากเครือข่ายพันธมิตร
5. Smart City Project Pitching เวทีแสดงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของคนรุ่นใหม่ผ่านการนำเสนอโครงการพัฒนาเมืองสู่เป้าหมายของการเป็นเมืองอัจฉริยะ ภายใต้หัวข้อ “Co-creation for the New Challenges” ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของนักดิจิทัลพัฒนาเมืองและเจ้าหน้าที่ตัวแทนเมืองในฐานะ พี่เลี้ยง เพื่อนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องมือดิจิทัลมาประยุกต์เข้ากับลักษณะของการพัฒนา เมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน โดยทีมที่ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลและโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนการร่วมพัฒนาโครงการต้นแบบจากภาคเอกชนผู้สนับสนุนโครงการ
นอกจากนี้ ภายในพิธีเปิดโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ยังมีเวทีเสวนาจากเครือข่ายพันธมิตรในหัวข้อ “Co-creation for the New Challenges” เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ร่วมงานและ นักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Page: Smart City Thailand Office
###