PLAN75 ได้รับการ Standing Ovation 5 นาที จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 75 ซึ่งหนังได้เข้าประกวดในสาขา Un Certain Regard และผู้กำกับจิเอะ ฮายาคาวะ ได้รับรางวัลพิเศษ Camera d’Or Special Award สาขา ผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมสำหรับภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรก และความยอดเยี่ยี่ยมของภาพยนตร์เรื่องนี้ส่งให้ PLAN75 วันเลือกตาย ได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่นส่งชิงรางวัลออสการ์ปีนี้ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม
หนังเล่าเรื่องสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ ประเทศญี่ปุ่นออกนโยบาย PLAN75 ออกมาให้ผู้สูงอายุวัย 75 ปีเลือกได้ว่าจะยังอยู่ หรือจะจากไปด้วยการการุณยฆาต หรือ “การเลือกที่จะตายโดยสมัครใจ” โดยผู้ที่เข้าร่วมกับโครงการนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์หลายอย่าง พวกเขาจะได้รับเงินจำนวนหนึ่งให้ใช้ในบั้นปลายของชีวิตในการพักผ่อน สิทธิการจัดงานศพฟรี แม้กระทั่งสิทธิการเข้าพักและจากไปในโรงแรมระดับห้าดาว ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่สละชีพเพื่อสังคมและประเทศชาติ ตามเกียรติที่ยึดถือกันมาอย่างยาวนานของประเทศญี่ปุ่น
ตัวเอกของเรื่อง มิจิ หญิงชราวัย 78 ทำอาชีพเป็นแม่บ้านทำความสะอาดในโรงแรม เธอต้องอาศัยอยู่คนเดียวหลังสามีเสียชีวิต และมีเหตุที่ทำให้เธอต้องตกงานและไร้ที่อยู่ ทำให้เธอครุ่นคิดเกี่ยวกับการเข้าร่วมนโยบาย Plan 75
หนังได้ จิเอโกะ ไบโช นักแสดงระดับตำนานของญี่ปุ่น ( ผู้พากย์เสียงโซฟีทั้งสาวและชราใน Howl’s Moving Castle ) มารับบท มิจิ
หนังยังได้ดาวรุ่ง ฮายาโตะ อิโซมุระ ผู้ได้รางวัลนักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจาก Japan Academy Prize จากเรื่อง What did you eat yesterday ? (2021) และ A Family (2021) และมีผลงานโดดเด่นในเรื่อง Tokyo Revengers มารับบทเป็นเจ้าหน้าที่รับสมัครเข้าร่วมโครงการ PLAN75 และได้ยูมิ คาวาอิ จากเรื่อง It’s a Summer Film! (2020) มารับบทพนักงานผู้ช่วยให้คำปรึกษากับผู้เข้าร่วมโครงการ PLAN75
บทสัมภาษณ์ จิเอะ ฮายะคาวะ
เมื่อ 6 ปีก่อน คุณทำหนังสั้นเรื่อง PLAN 75 ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย
เดิมทีฉันคิดว่าจะทำ PLAN 75 เป็นหนังยาวในปี 2017 ระหว่างที่ฉันกำลังพัฒนาพล็อตเรื่องนั้น ฉันได้รับการติดต่อจาก เอย์โกะ มิซุโนะ เกรย์ ซึ่เป็นโปรดิวเซอร์ของโปรเจคต์ Ten Years Japan (และกลายมาเป็นโปรดิวเซอร์ของ PLAN 75) เธอกำลังมองหาผู้กำกับที่สนใจอยากทำหนังสั้นว่าด้วยญี่ปุ่นในอนาคต โดยมีแก่นเรื่องเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม ฉันเลยคิดว่า PLAN 75 น่าจะเหมาะกับโปรเจคต์นี้ ฉันเลยเสนอ PLAN 75 ไปให้เขา โดยดัดแปลงเป็นฉบับหนังสั้น บทเดิมที่เป็นหนังยาวนั้น ฉันต้องการจะเล่าชีวิตของตัวละคร 5 ตัว ฉันก็เลยเลือกมา 1 ตัวละครเพื่อทำเป็นหนังสั้นความยาว 18 นาที อีกอย่าง ฉันอยากร่วมงานกับฮิโรคาสุ โคเระเอดะด้วย เพราะเขาจะเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของ Ten Years Japan การทำหนังสั้นเรื่องนั้นจึงนับเป็นโอกาสที่ดีของฉัน
ถ้าไม่นับพล็อตเรื่องที่ดูชวนให้ติดตามและการยินยอมให้คนเลือกตายได้ PLAN 75 กำลังพูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันในญี่ปุ่น เราสามารถสรุปได้เลยไหมว่า หนังกำลังพูดถึงปัญหาสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น
ฉันคิดว่าอย่างนั้น หนึ่งในปัญหาวิกฤติของญี่ปุ่นคือประชากรที่อยู่ในสถานะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่นผู้สูงอายุ ในโลกความเป็นจริงเราอาจจะไม่มีกฎหมาย PLAN 75 แต่หลายๆ อย่างในหนังนั้นเกิดขึ้นจริงๆ เช่น คนแก่หลายคนยังต้องทำงานเพราะลำพังแค่เงินบำนาญนั้นไม่พอกินพอใช้ ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ความรู้สึกที่ผู้สูงอายุต้องกลายเป็นภาระของสังคม และพวกเขาก็ต้องอับอายที่ต้องไปขอสวัสดิการใดๆ จากรัฐ บรรยากาศตอนนี้ทำให้ผู้สูงอายุต้องกลายเป็นคนไร้ค่า สิ้นหวัง และที่หนักหนาที่สุดคือ กลายเป็นคนมองไม่เห็นความเจ็บปวดของคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันตั้งใจเล่าในหนัง
ทำไมตัวละครคนแก่ในหนังถึงยอมเข้าร่วมโครงการ PLAN 75 ได้ง่ายนัก
คนญี่ปุ่นมีความเชื่อที่หนักแน่นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนแก่ๆ ว่า เราต้องไม่เป็นภาระของคนอื่น มันคล้ายเป็นศีลธรรมหลักของชาติเลย ทำให้คนญี่ปุ่นแทบทุกคนไม่อยากสร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือสังคม
นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากสังคมที่ทำให้พวกเขารู้สึกไร้ค่า และเป็นภาระของสังคม สื่อมวลชนเองก็มีส่วนสร้างความหวาดกลัวต่อการเป็นผู้สูงอายุและสังคมสูงอายุ คนก็เลยกลัวเวลาตนเองอายุมากขึ้น แม้แต่ตอนนี้ คนหนุ่มสาวในญี่ปุ่นก็วิตกว่าชีวิตวัยเกษียณของพวกเขาจะเป็นอย่างไร แถมรัฐบาลญี่ปุ่นยังพยายามจะบอกกล่าวกับประชาชนทุกคนว่าให้ช่วยเหลือตนเอง
เราสามารถเรียกสถานการณ์ในหนังของคุณว่าเป็นสังคมแบบ “พรีฟาสชิสม์” (ก่อนการเกิดเผด็จการฟาสชิสม์) ได้ไหม หนังของคุณกำลังวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเสรีนิยมสุดโต่งหรือเปล่า ไอเดียเรื่องการกำจัดประชากรที่ไม่มีคุณค่าในการผลิตมันดูเป็นฟาสชิสม์อยู่ไม่น้อยเลย
ฉันไม่ได้ต้องการติติงแนวคิดแบบเสรีนิยมสุดโต่ง แต่ฉันพยายามวิจารณ์สังคมที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและการผลิตมากกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่างหาก การกำจัดประชากรที่ “ไม่มีคุณค่าในการผลิต”อาจจะใกล้เคียงกับฟาสชิสม์ แม้ประเทศญี่ปุ่นจะไม่มีผู้นำเผด็จการ แต่บรรยากาศดังกล่าวกลับเกิดขึ้นจากแรงกดดันของประชาชนด้วยกันเอง สิ่งนี้แหละที่มันน่ากลัวสำหรับฉัน
การฆาตกรรมหมู่ในช่วงเปิดเรื่อง ทำให้นึกถึงเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในซางามิฮาระ ซึ่งคนร้ายบุกเข้าไปแทงคนพิการ (มีผู้เสียชีวิต 19 ศพ บาดเจ็บ 26 คน โดยผู้ต้องหาเป็นอดีตพนักงานของศูนย์ดูแลผู้พิการเอง)
ฉันตกใจมากตอนได้ข่าวการฆาตกรรมในซางามิฮาระ ตอนฤดูร้อนปี 2016 ฉันมองว่ามันไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากคนบ้าคนหนึ่งลุกขึ้นไปแทงคนพิการ แต่มันเป็นผลผลิตของสังคมที่ใจแคบและไร้เหตุผล ฉันต้องการทำหนังให้คนดูได้ถกเถียงว่าเราต้องการสังคมแบบนี้จริงๆ นะหรือ เหตุการณ์ในซางามิฮาระ คือหนึ่งในแรงกระตุ้นให้ฉันทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา
จริงหรือเปล่าที่คนพูดกันว่า ถ้าคุณไปเที่ยวโตเกียว คุณจะเห็นคนแก่คอยเก็บก้นบุหรี่ตามทางเท้า หรือไม่ก็เป็นพนักงานเฝ้าที่จอดรถ
ใช่ค่ะ ผู้สูงอายุมากมายในญี่ปุ่นยังต้องทำงาน หลายคนทำงานเพราะไม่อยากอยู่เฉยๆ อยากออกมานอกบ้าน พวกเขาไม่ได้ขัดสนเงินทอง (พวกเขาต้องการเข้าหาสังคมบ้าง) แต่ผู้สูงอายุอีกบางส่วนทำเพราะพวกเขาจำเป็นต้องทำเพื่อปากท้อง ฉันยินดีด้วยกับผู้สูงวัยที่ต้องการทำงานเพราะต้องการทำให้ตัวเองรู้สึกมีค่า ทำให้ชีวิตมีความหมาย แต่ถ้าพวกเขาต้องทำเพื่อดื้นรนเพื่อความอยู่รอด หวาดกลัวทุกวันว่าจะเอาอะไรกิน แบบนี้ฉันยอมรับไม่ได้จริงๆ ที่สังคมไม่ดูแลพวกเขา
PLAN 75 มีความคล้ายคลึงกับประเพณี “อุบะสุเตะ” ซึ่งอยู่ในหนังเรื่อง Ballad of Narayama ของโชเฮย์ อิมามุระ
จะว่าอย่างนั้นก็ได้ ฉันรู้ว่าคนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า เกิดมาต้องเสียสละตนเอง ความเสียสละตนกลายเป็นภาพแทนของ “ความดี” และ “ความถ่อมตัว” ฉันคิดว่าหนังสองเรื่องนี้มีตัวละครที่คิดแบบเดียวกัน แต่ใน PLAN 75 ฉันต้องการโจมตีรัฐบาล ซึ่งไม่ได้ปรากฏโฉมในหนัง แต่พวกเขาเป็นผู้ชักใยระบบแบบนี้ให้เกิดขึ้น และประชาชนต้องทุกข์ทรมานกับสิ่งเหล่านี้
PLAN75 วันเลือกตาย
8 กันยายนในโรงภาพยนตร์
ตัวอย่างภาพยนตร์
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ