ปัจจุบันผู้หญิงในสังคมไทยส่วนใหญ่ กำลังเผชิญกับความเสี่ยงหรือภัยเงียบของ “โรคมะเร็งเต้านม” และถือเป็นโรคมะเร็งยอดฮิตที่พบในผู้หญิงไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มีอัตราผู้ป่วยที่ตรวจเจอ ปีละประมาณ 17,000 ราย เฉลี่ยวันละประมาณ 40 กว่าคนและเสียชีวิตมากถึง 4,700 รายต่อปี หรือคิดเป็น 10 คนต่อวัน ส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35-60 ปีขึ้นไป โดยสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมนั้นยังไม่พบแน่ชัด เพราะมีทั้งปัจจัยภายนอกและภายในที่น่ากลัวเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งการณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม โครงการวาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม จึงรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยตระหนักถึงความร้ายแรง และเห็นความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ โดยดำเนินโครงการมาต่อเนื่องร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นปีที่ 22
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า “โรคมะเร็งเต้านมเกิดจากความปกติของเซลล์ที่อยู่ในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม ซึ่งเป็นเซลล์ผิดปกติที่ไม่สามารถควบคุมได้ และอาจแพร่กระจายไปทางเดินน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ต่อมน้ำเหลืองใต้ราวนม ซึ่งโรคมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นโรคยอดนิยมอันดับ 1 ของมะเร็งทั้งหมด คาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี จึงอยากให้ผู้หญิงทุกคนเกิดการตื่นตัวกับภัยร้ายนี้เพื่อรับมือตระหนักรู้เฝ้าระวัง โดยแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งตรวจเจอเยอะที่สุดในช่วงอายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป หากตรวจพบความผิดปกติเร็วในระยะแรกจะได้รีบทำการรักษา และมีอัตราการหายขาดได้
ปัจจัยและสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ได้แก่
1. ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
2. พันธุกรรมแฝงหรือยีนส์กลุ่มเสี่ยง เช่น มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะญาติใกล้ชิดสายตรง
3. ระยะเวลาช่วงมีประจำเดือน ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาเร็วก่อนอายุ 12 ปี และผู้หญิงที่หมดประจำเดือนช้าหลังอายุ 55 ปี ซึ่งมีแนวโน้มในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ รวมถึงผู้หญิงที่ใช้ฮอร์โมนทดแทนเป็นระยะเวลานาน
4. การฉายรังสีโดนเต้านม เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็งปอด ผ่านการฉายรังสีที่อาจไปโดนบริเวณเต้านม ซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ง่ายขึ้น
5. การดื่มแอลกอฮอล์เยอะๆ ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน
6. บุคคลที่เป็นโรคอ้วน มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมเยอะขึ้นกว่าคนรูปร่างผอม
ผู้หญิงที่ตรวจพบโรคมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ เกิดจากการคลำด้วยตัวเองแล้วพบก้อนที่บริเวณเต้านม ซึ่งความรุนแรงของโรคที่เกิดกับบุคคลอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็ง โดยมะเร็งบางชนิดรักษาง่าย บางรายเจอความผิดปกติและมีก้อนขนาดใหญ่ อาจมีการแพร่กระจายตัวและรักษาได้ยาก รวมถึงการมีสภาวะทางร่างกายที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยบางคนมีโรคร่วม อาทิ โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ รวมอยู่ด้วยทำให้รักษาได้ยากขึ้น ดังนั้น 3 ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม คือ 1. ชนิดของเซลล์มะเร็ง 2. ขนาดของการกระจาย และ 3.ความพร้อมด้านร่างกายของผู้ป่วยในการรับการรักษา ถ้าเทียบกับโรคมะเร็งทั่วไปแล้ว มะเร็งเต้านมถือว่าเป็นโรคมะเร็งที่มีการรักษาได้ผลค่อนข้างมาก
การตรวจมะเร็งเต้านมเบื้องต้น รู้ก่อน…รักษาก่อน
นายแพทย์สกานต์ กล่าวเสริมว่า การตระหนักรู้ก่อน จะทำให้เราสามารถรักษามะเร็งเต้านมในระยะแรกได้ทันท่วงที โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งเกิดจากการผิดปกติของเต้านม อาทิ เต้านมบุ๋ม เต้านมเกิดการดึงรั้ง จุกเต้านมผิดรูป รวมถึงมีของเหลวหรือมีเลือดไหลออกมาจากเต้านม ในผู้ป่วยบางรายอาจเจอความผิดปกติที่ลามมาด้านข้างไปถึงต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ ซึ่งเป็นหนึ่งสัญญาณในการเฝ้าระวัง ซึ่งปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมมีหลายวิธี เช่น การคลำด้วยตัวเอง การคลำด้วยบุคลากรทางการแพทย์ การตรวจโดยใช้เอกซเรย์พลังงานต่ำถ่ายภาพของเต้านม หรือที่เรียกว่า “แมมโมแกรม” ซึ่งปัจจุบันการตรวจเมมโมแกรมยังเข้าถึงการตรวจที่น้อยเพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติจึงได้รณรงค์ให้ผู้หญิงไทย หมั่นเช็คสุขภาพเต้านม โดยขอคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญถึงวิธีการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง รวมถึงเพิ่มความมั่นใจและแม่นยำก็แนะนำให้ตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์อย่างน้อยปีละครั้ง
วิธีการรักษาโรคมะเร็งเต้านม
1. การรักษาโดยการผ่าตัด (Surgery) ซึ่งการผ่าตัดเต้านมออกก็มีโอกาสที่หายขาดได้ แต่การผ่าตัดก็มีหลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง การขยายตัวของมะเร็ง ระยะการกระจาย ถ้าเป็นในระยะแรกสามารถผ่าตัดและจบในครั้งเดียว แต่ถ้าผู้ป่วยบางรายมีอาการดื้อยา ดื้อการฉายแสง ก็จะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อยืดอายุของผู้ป่วย ปัจจุบันเทคโนโลยีในการผ่าตัดมีความทันสมัยมากขึ้นจะเป็นการผ่าผ่านกล้อง ซึ่งแผลจะเล็กกว่าการผ่าแบบปกติ ซึ่งเรียกว่าการ ผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery) หรือในบางรายที่ผ่าตัดออกทั้งเต้า พร้อมกับการศัลยกรรมตกแต่งเสริมสร้างเต้านมใหม่ รวมถึงการเติมเต็มให้ผู้สูญเสียเต้านมเพื่อเสริมความมั่นใจในการใช้ชีวิต ด้วยการสวมใส่ Balancing Bra บรารุ่นพิเศษและเต้านมเทียม
2. การรักษาโดยการฉายแสง ซึ่งเป็นเทคนิคการรักษาที่นิยมใช้ในปัจจุบัน การฉายแสงสามารถโฟกัสที่ก้อนมะเร็งได้ตรงจุด
3. การรักษาด้วยยาหรือเคมีบำบัด ยาที่ใช้ในการรักษามีหลายชนิด เช่น ยาปรับฮอร์โมน ยาเคมีบำบัดที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งและยังมีฤทธิ์ต่อเซลล์ทั่วไปด้วย
ดังนั้น การรักษามะเร็งเต้านมขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็งและชนิดของเซลล์มะเร็ง ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนอาจได้รับการรักษาที่แตกต่างกันไป ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก การรักษามะเร็งเต้านมไม่จำเป็นต้องทำการตัดเต้านมในผู้ป่วยทุกราย บางรายมีโอกาสรักษาหายขาดได้เยอะถึง 90% ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งด้วย
โครงการ “วาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม” ซึ่งเป็นกิจกรรมแมมโมแกรมการกุศลฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ไทยวาโก้ จํากัด (มหาชน) เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและมีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งเต้านมแต่ขาดโอกาส ให้ได้เข้าถึงบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์ฟรี ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการตรวจพบมะเร็งเต้านม
โดยกิจกรรมวาโก้แมมโมแกรมการกุศล ได้ร่วมกับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติและโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี, มะเร็งอุบลราชธานี, มะเร็งลำปาง และมะเร็งสุราษฎ์ธานี ในการคัดเลือกบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแต่ขาดโอกาสในการรับบริการ ให้ได้รับสิทธิ์การตรวจแมมโมแกรมและ อัลตราซาวด์เต้านม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ จำนวนโรงพยาบาลละ 30 คน ทั้งยังให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางและชดเชยรายได้ให้กับผู้ด้อยโอกาสทุกคน คนละ 500 บาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระและอำนวยความสะดวกในการรับบริการตรวจสุขภาพเต้านม เป็นการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อรู้ทันภัยมะเร็ง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ที่ https://www.nci.go.th/