บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT สนับสนุนนโยบายภาครัฐ ซึ่งให้ความสำคัญในการบริหารจัดการดูแลความปลอดภัยทางทะเลสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาครัฐ เอกชน ประชาชน  โดย NT ให้ความสำคัญและพร้อมเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานและให้บริการสถานีวิทยุเรือเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลและประกาศข่าวแจ้งเตือนไปยังเรือเดินทะเลพร้อมระบบการสื่อสารประสานให้ความช่วยเหลือ กรณีเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเรือไทย

สถานีวิทยุเรือ หรือ Bangkok Radio คือสถานีวิทยุชายฝั่งของประเทศที่ติดต่อเรือเดินทะเล  มีหน้าที่ ประกาศข่าวชาวเรือเกี่ยวกับข้อมูลด้านความปลอดภัยทางทะเล (MSI: Maritime Safety Information) และเป็นศูนย์ประสานงานเฝ้าฟังรับแจ้งอุบัติเหตุเรือประสบภัย (Alerting Post Unit) ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทำหน้าที่นำข้อมูลข่าวในพื้นที่รับผิดชอบ แจ้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ  กองทัพเรือ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กระทรวงสาธารณสุข  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  กระทรวงการต่างประเทศ  กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ฯลฯ ผ่านระบบ MSI Platform เพื่อจัดทำประกาศคำเตือนเพื่อการเดินเรือ ประกาศชาวเรือ  และประกาศข่าวแก่เรืออย่างทั่วถึงผ่านระบบวิทยุสื่อสารย่านความถี่วิทยุ VHF, MF, HF, CB ระดับท้องถิ่น

 ปัจจุบันนี้ NT อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการปรับปรุงระบบวิทยุติดต่อเรือเดินทะเล (VHF) ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้  โดยมุ่งเป้าพัฒนาการให้บริการด้วยระบบสื่อสารเพื่อการป้องกันภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลระหว่างประเทศ (Global Maritime Distress and Safety System : GMDSS) ตามมาตรฐานขององค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO)  ซึ่งจะสามารถรวบรวมข้อมูลตำแหน่ง ที่ตั้ง เพื่อกระจายข่าวให้แก่เรือตรงตามพื้นที่ที่ต้องการ ตามระดับพื้นที่รับผิดชอบของเนื้อข่าว ไม่ว่าจะเป็นระดับท่าเรือ ระดับท้องถิ่น และระดับสากล พร้อมทั้งประสานงานไปยังหน่วยงานการออกอากาศที่เกี่ยวข้อง (Broadcast Coordinator) ผ่านระบบ MSI Platform

สำหรับระบบ Global Maritime Distress and Safety System (GMDSS) ตามโครงการปรับปรุงวิทยุเรือเดินทะเลจะประกอบด้วย ส่วนหลักในการทำงาน ได้แก่

1. ระบบประกาศข่าวชาวเรือ NAVigational TEleX (NAVTEX) เป็นระบบสำหรับประกาศข่าวสารที่สำคัญต่างๆ เกี่ยวกับการเดินเรือ เช่น ข่าวสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ข่าวการซ้อมรบจากกองทัพเรือ เป็นต้น โดยจะมีช่วงเวลาในการออกอากาศตามที่ IMO กำหนด 

2. ระบบติดต่อวิทยุเรือความถี่ย่าน VHF ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างเรือกับชายฝั่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือภัยต่างๆ ในทะเล โดยระบบสามารถรับข้อความขอความช่วยเหลือ (DSC Message) แสดงตำแหน่งและข้อมูลของเรือในเขตน่านน้ำประเทศไทย และติดต่อสื่อสารด้วยเสียงผ่านคลื่นความถี่ VHF (Radio Telephony) เพื่อการเฝ้าฟังและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลได้อย่างรวดเร็ว

3. ระบบ Automatic Identification System (AIS) เป็นระบบสำหรับติดตามเรือเดินทะเล โดยระบบจะสามารถแสดงตำแหน่งและข้อมูลที่สำคัญของเรือทุกลำที่ติดตั้งระบบ AIS เพื่อประโยชน์ในการให้ความช่วยเหลือเมื่อประสบเหตุทางทะเล รวมทั้งสามารถเฝ้าระวังและติดตามเรือเพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมเรือ ซึ่งนำไปสู่การป้องกันอาชญากรรมทางทะเลได้ด้วยศักยภาพในการให้บริการของ NT ที่ครอบคลุมการเชื่อมต่อทั้งในและระหว่างประเทศ 

 นอกจากนี้ จากการที่ NT ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดูแลในส่วนของวงจรสื่อสารผ่านดาวเทียมพร้อมระบบบริหารโครงข่ายให้กับสถานีวิทยุเรือ   NT จึงมีแผนในอนาคตที่จะนำระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมมาบูรณาการเพื่อพัฒนาการให้บริการ “NAVA” หรือระบบสื่อสารความเร็วสูงผ่านดาวเทียมทางทะเลผ่าน GMDSS  ซึ่งจะอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการเดินเรือและอุตสาหกรรมนอกชายฝั่ง (Offshore) ให้บริการแบบครบวงจรเพื่อการรับส่งข้อมูล สำหรับเชื่อมต่อการสื่อสารให้กับลูกเรือและผู้โดยสาร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและสร้างมั่นใจด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

 

การให้บริการวิทยุเรือของ NT นี้ เป็นบริการที่ก่อตั้งขึ้นโดยกระทรวงทหารเรือในปี 2456 และต่อมาได้โอนหน้าที่ความรับผิดชอบมาสู่กรมไปรษณีย์โทรเลข การสื่อสารแห่งประเทศไทย  บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)  และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นลำดับ  ถึงแม้บริการนี้จะไม่คุ้มค่าในเชิงการดำเนินธุรกิจที่หวังผลกำไรตอบแทน  แต่ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่นำมาซึ่งความภูมิใจแก่องค์กรและผู้ปฏิบัติงานในฐานะหน่วยงานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ  ที่ได้มีส่วนร่วมในการดูแล อำนวยความสะดวก เฝ้าระวัง และช่วยเหลือประชาชน นักท่องเที่ยว เรือโดยสาร เรือสินค้า และเรือประมงมาอย่างต่อเนื่องยาวนานราว 100 ปี

 

*****************