สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน หลังดำเนินการจัดทำ สารคดี Someone หนึ่งในหลาย ล่าสุดได้ จัดเวทีเสวนาสาธารณะครั้งที่ 3    “พลเมืองข้ามพรมแดน : ไทยในเทศ-เทศในไทย และความท้าทายของสังคมพหุวัฒนธรรม”  ศูนย์ประชุมและอาคารจอดรถมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา)

หลากความหมาย หลายความต่าง ในสารคดี “Some one หนึ่งในหลาย” สะท้อนภาพจริงในสังคมไทย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ มีความเข้าใจ และเคารพความแตกต่างได้ อย่างที่ ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้สนับสนุนหลัก บอกถึงความตั้งใจไว้ว่า อยากจะให้สารคดีชุดนี้ เป็น Soft Power ที่บอกผ่านเรื่องราวในมิติต่าง ๆ ภายใต้วัฒนธรรมเดียวกัน

สำหรับภาพรวมของเวทีสาธารณะครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่สร้างความร่วมมือกับประชาสังคมและผู้คนในวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Rights Promotion Network Foundation: LPN), ศูนย์ฝึกอบรมภาษาไทย คอมพิวเตอร์ และส่งเสริมวัฒนธรรมจากแรงงานเพื่อแรงงานชาวเมียนมา มหาชัย (People to People Center: P2P), ศูนย์ฝึกอบรมภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และส่งเสริมสิทธิสตรีแรงงานหญิงชาวเมียนมา (MCLWR) และศูนย์ฝึกอบรมภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา (MEDC) โดยมีกิจกรรม 3 กิจกรรมใหญ่ ๆ ร่วมกัน

เริ่มด้วยกิจกรรมเปิดงาน โดยกลุ่มผู้ให้ทุนผลิตสารคดีและกลุ่มผู้ผลิต ก่อนจะเข้าสู่ช่วง “Some One-ASEAN Buddy: Let’s be Friends” เพื่อเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมไทย-อาเซียน ด้วยกิจกรรรม Intercultural Education ของเยาวชนไทยและเมียนมา โดยให้นำเสนอผลการทำกิจกรรมร่วมกัน

สำหรับกิจกรรมในส่วนที่ 3 คือการเปิดเวทีเสวนาสาธารณะ โดยเวทีแรกเบิกโรงด้วยหัวข้อ “พลเมืองข้ามพรมแดน : หลากมิติไทยในเทศ เทศในไทย หลังโควิด 19” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริจิต สุนันต๊ะ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล, คุณสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN), คุณวาทินี คุณเผือก สำนักงานเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินรายการโดยคุณอดิศักดิ์ ศรีสม

“สิ่งที่ข้ามพรมแดนยากที่สุดคือ …มนุษย์” หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาได้กล่าววรรคทองนี้ไว้ ก่อนจะลงไปที่เนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์การย้ายถิ่นของผู้คนในยุคหลังการระบาดของโรคโควิด 19 รวมถึงสิทธิ เสรีภาพ นโยบายสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผู้ย้ายถิ่น ทั้งที่เป็นคนไทยที่ได้ย้ายออกไปพำนัก ณ ประเทศต่างๆ และผู้คนจากประเทศอื่นๆ ที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเรา

ในวงเสวนายังหยิบยกกรณีของกฎหมายสัญชาติ ที่ทำให้เกิดการแบ่งเขาแบ่งเราของพลเมืองข้ามพรมแดน ความเข้มงวดของภาครัฐ ทำให้เกิดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ขณะเดียวกัน หากเรามีการสนับสนุนนักท่องเที่ยวในระยะยาวที่เป็นกลุ่มเกษียณ หรือเอื้อให้มีการแต่งงานข้ามชาติได้ รัฐก็ต้องมีสถานที่ที่รองรับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างชัดเจนด้วย

 

ปัญหาใหญ่ของแรงงานข้ามชาติ ใช่ว่าจะมีเพียงแค่เรื่องเอกสาร และสิทธิต่างๆ เท่านั้น ความเปราะบางในแรงงาน ไม่ว่าแรงงานไทย เมียนมา กัมพูชา ก็ต้องการนโยบายระยะยาวที่เป็นรูปธรรม และไม่สร้างเงื่อนไขให้บางคนหรือบางกลุ่มฉกฉวยหาผลประโยชน์ เพราะทุกคนมีสิทธิและมีคุณค่าเท่าเทียมกัน

ดังนั้น รัฐต้องจัดสรรทรัพยากร เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิในการทำงาน สิทธิในการเข้าถึงบริการในชุมชน และสิทธิในการบริการในสังคม เช่น การศึกษา สาธารณะสุข การมีส่วนร่วมทางการเมือง สิทธิการเข้าถึงพลเมือง การเข้าถึงสัญชาติไทย   

มาที่เวทีเสวนาที่ 2 “ฉันเป็นใครในแผ่นดินนี้” เสียงจากเยาวชนและครอบครัวข้ามชาติ : โอกาสของสังคมไทยในทัศนะประชาสังคม” ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ คุณสิทธิพร เนตรนิยมอาจารย์ Thuzar Aung,  ว่าที่ร้อยตรีหญิง ศิริวรรณ สมศรีคุณ Aung Myo Thein, คุณโสภาพร ควร์ซ ประธานสมาคมธารา ประเทศเยอรมนี (ร่วมเสวนาผ่านระบบออนไลน์)ผู้แทนเยาวชนเมียนมารองศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และรองศาสตราจารย์ ดร.มรกต ไมยเออร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพหุวัฒนธรรมศึกษา (นานาชาติ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และน้อง ๆ เยาวชนเมียนมา ดำเนินรายการโดยคุณไอลดา พิศสุวรรณ

โดยประเด็นที่ผู้ร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ คืออยากเห็นทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับคู่ชีวิตแบบไร้เงื่อนไข ไม่ว่าเราไปเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเขา หรือเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเรา และควรสนับสนุนเรื่องการเรียนภาษา ที่มากกว่าภาษาตัวเอง เพื่อให้แรงงานได้สังคมใหม่ๆ และเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

“แม้รัฐพยายามที่จะโอบอุ้มทั้งแรงงานและเยาวชนของแรงงาน แต่มันมีความเขย่งกับนโยบายและการปฏิบัติ นโยบายที่เข้าเรียนได้ทุกคน แม้ไม่ใช่คนไทย แต่จริงๆ แล้ว บางโรงเรียนมันไม่เป็นไปตามนโยบายของทางภาครัฐ น้อง ๆ ที่ย้ายมาอยากให้เห็นว่าที่นี่เป็นบ้านและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข” อ.ภูเบศร์ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

สิ่งหนึ่งที่จับใจจากวงเสวนานี้ คือความจริงที่ว่า สังคมไทยยังต้องใช้แรงงานเยอะมาก เราจึงควรที่จะปรับโครงสร้างและทัศนคติของคนในชาติ ให้ข้ามพ้นตัวหนังสือและกฎหมาย เพื่อสร้างสังคมที่เราอยู่ไปด้วยกัน  

ในช่วงสุดท้ายมีการมอบเกียรติบัตรแก่เยาวชนไทยและเมียนมาที่เข้าร่วมกิจกรรม Some One-ASEAN Buddy: Let’s be Friends นิทรรศการ และร้านค้าต่าง ๆ และมอบสิทธิพิเศษในการสอบ MU – Thai Test ให้แก่เยาวชนชาวเมียนมาทุกคนที่เข้าร่วมงาน

สำหรับสารคดีแห่งปีชุด “Some One หนึ่งในหลาย” เกิดจากการทำงานรูปแบบ Co-creation ระหว่างผู้กำกับสารคดีจากบริษัท สื่อดลใจ จำกัด และบริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด รวมทั้งนักวิชาการด้านพหุวัฒนธรรมศึกษาของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมการทำงานสารคดีเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมไทยที่ยั่งยืน ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

สารคดีชุดนี้มีการจัดเวทีสาธารณะควบคู่ไปกับการเผยแพร่สารคดีทาง MCOT HD ช่อง 30 และ YouTube สารคดี Some One หนึ่งในหลาย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มการสื่อสารกับประชาสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมทั้งหมด 4 ครั้งด้วยกัน ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว