· พร้อมจัดเสวนาครั้งสำคัญในหัวข้อ “บุหรี่กับสังคมไทย และโอกาสเสี่ยงมะเร็งปอด” สร้างความตระหนักรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่และแนะวิธีป้องกันและการดูแลสุขภาพปอดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และหลากหลายกิจกรรมให้ความรู้และคำปรึกษาให้ห่างไกลมะเร็งปอด
เนื่องใน “วันงดสูบบุหรี่โลก” ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี คณะทำงานมะเร็งปอดเพื่อคนไทย ภายใต้ มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ Lung And Me Digital Solution สำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอด และ กลุ่มเซ็นทรัล จัดกิจกรรม World No Tobacco Day 2023: Caring Lung And Me, No Smoking, No Killing พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญร่วมเสวนาครั้งสำคัญในหัวข้อ “บุหรี่กับสังคมไทย และโอกาสเสี่ยงมะเร็งปอด” เพื่อสร้างความตระหนักถึงวิธีการป้องกันและการดูแลสุขภาพปอด ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอด โดยมี “คนเซ็นทรัลพันธุ์ฮีโร่ เลิกบุหรี่” ร่วมพูดคุยกับพนักงานที่สามารถเลิกบุหรี่ได้จริง พร้อมด้วย ตูมตาม The Star ที่มาแบ่งปันประสบการณ์ Caring and Sharing: Case ผู้ป่วยมะเร็งปอด เคสผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้ มินิคอนเสิร์ต จากศิลปินชื่อดัง FrenchW และ วง Playground, กิจกรรม วอร์มปอด วอร์มใจ จาก Cover Dance Anti–Smoking Club Thailand บอกให้โลกรู้ว่า “ปอดแข็งแรงแล้วดีอย่างไร” พร้อมด้วยบูธกิจกรรมต่างๆ อาทิ บูธให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่โดยศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี และคณะทำงานชมรมลมวิเศษ, บูธให้คำปรึกษาพร้อมกดจุดเลิกบุหรี่จากสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่, บูธ Lung & Me ที่รวมเรื่องราวประสบการณ์มะเร็งปอดจากคุณหมอและเพื่อนๆ วิธีการอยู่ร่วมกับมะเร็งปอด การค้นหาโรงพยาบาล แพทย์ และแนวทางการรักษา และ บูธ Touch Screen Exhibition ชวนตอบคำถามสั้นๆ เพื่อประเมินว่า สูบบุหรี่นานแค่ไหนถึงเสี่ยงเป็นมะเร็งปอด โดยงานจัดขึ้น ณ Craft Studio ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
สุพัตรา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัล ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการรณรงค์เพื่อสร้างสังคมไทยที่ปลอดบุหรี่ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “โครงการสมาพันธ์เครือข่ายเซ็นทรัลเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ให้องค์ความรู้ในการขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งได้เคยประกาศให้ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่แห่งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เพื่อขานรับนโยบายภาครัฐและด้วยปณิธานมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสังคม และในปี 2566 นี้ เรามีเป้าหมายการลดบุหรี่ในกลุ่มพนักงานต่อเนื่องไปยังศูนย์กระจายสินค้าให้เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เราไม่ห้าม…แต่เราห่วง” ที่ขับเคลื่อนโดย “กลุ่มคนเซ็นทรัลพันธุ์ฮีโร่” ซึ่งเป็นบุคคลต้นแบบด้วยวิธีการเพื่อนชวนเพื่อนให้ “ลด.. ละ.. เลิก สูบบุหรี่” สำหรับปีนี้ กลุ่มเซ็นทรัล ยังคงตระหนักถึงความสำคัญในสุขภาพปอดของทุกคนเหมือนเช่นเคย จึงได้ร่วมกับ คณะทำงานมะเร็งปอดเพื่อคนไทย ภายใต้มะเร็งวิทยาสมาคม ร่วมกับ LungAndMe platform จัดกิจกรรม Caring LungAndMe , No Smoking, No Killing ขึ้นเพื่อสื่อสารเชื่อมโยงถึงผู้ป่วยโรคโรคมะเร็งปอดและผู้ที่สูบบุหรี่ให้ตระหนักถึงพิษภัยผลกระทบต่อสุขภาพ ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ เพื่อลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ให้ได้
รศ.นพ.ดร. วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ ประธานคณะทำงานมะเร็งปอดเพื่อคนไทย กล่าวว่า ปัจจุบันบุหรี่มือสองคือภัยเงียบ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าได้รับไปมากเท่าไหร่ แพทย์เองก็เจอคนไข้ที่ได้รับผลกระทบจากคนรอบข้างสูบบุหรี่เป็นจำนวนมากมาก ให้คิดไว้เสมอว่าการบสูบบุหรี่เป็นการทำร้ายคนที่เรารัก แนวทางการดูแลคนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดคือ ต้องจริงจังในการเลิกบุหรี่ คนเป็นมะเร็งแล้วแต่ยังเลิกไม่ได้ก็มี คนที่เลิกได้บางคนเลิกได้เพราะคนรอบข้าง เช่น กลัวคนที่รักจะเป็นมะเร็งปอด วิธีที่ดีที่สุดในการไม่ให้ตัวเองได้รับควันบุหรี่มือ 2 คือทำสภาพแวดล้อมไม่ให้มีการสูบบุหรี่ โดยนอกจากมะเร็งปอดแล้ว อาการที่พบในคนสูบบุหรี่ ได้แก่ ผิวหนังเหี่ยวย่น โรคเหงือกอักเสบ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งช่องปาก กล่องเสียง มะเร็งรังไข่ เส้นเลือดสมองตีบ ในเพศชายพบมะเร็งกระเพราปัสสาวะ จึงขอแนะนำให้คนสูบบุหรี่ตรวจคัดกรองเป็นประจำ เพื่อให้พบและรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้ ในคนที่ผ่านการรักษาแล้วพบว่าเหนื่อยง่าย ป่วยง่าย ประเด็นสำคัญของการรักษาคือไม่ใช่อยู่นานแค่ไหน แต่ให้อยู่ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้มากที่สุด ซึ่งอยากขอให้อย่าทำลายคนอื่นด้วยการสูบบุหรี่ ในคนอายุน้อยให้คิดว่าเราไม่สูบด้วยความรัก ต่อคนรอบข้าง ต่อสุขภาพตนเองในอนาคต
ขณะที่ รศ.นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ ร.พ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า มะเร็งปอดเป็นสิ่งที่เราป้องกันได้ด้วยการไม่สูบบุหรี่ โดยความน่ากลัวของมะเร็งปอดคือไม่มีอาการ แต่พออาการออกแล้วคือรักษาไม่หาย 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็นคือเสียชีวิต สังคมไทยยังจำนวนผู้สูบบุหรี่สูงอยู่ ในผู้ใหญ่มีมากถึง 50เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันยังมีคนสูบต่อเนื่อง 10 ล้านคน ครึ่งหนึ่งตายก่อนวัย ที่เหลือทุกข์ทรมานจากการเป็นโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่
“ข้อเท็จจริงคือ บุหรี่ไฟฟ้าเกิดมาไม่นาน พิษภัยบางอย่างยังไม่รู้แน่ชัด แต่ผลกระทบระยะสั้นเกิดขึ้นเร็วกว่าบุหรี่มวนแน่นอน เราพบว่าผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นโรคปอดอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งโรคนี้ไม่เกิดในคนสูบบุหรี่ปกติ และมีแนวความคิดในคนที่พยายามเลิกบุหรี่ให้เริ่มด้วยการสูบบุหรี่ไฟฟ้า กลายเป็นว่าได้รับผลเสียแบบ Double Action สำหรับคนที่สูบบุหรี่หากพบว่ามีอาการผิดปกติต้องหาแพทย์เลย เช่น ไอเกิน 2 อาทิตย์ เป็นต้น การเลิกบุหรี่ไม่มีวันที่สายเกินไป ยิ่งเร็วยิ่งดี สำหรับการต่อสู้กับบุหรี่นั้น เราต้องไปถึงเป้าหมายร่วมกัน โดย End Game ของสถานการณ์นี้คือต้องไม่มีคนไทยตายจากบุหรี่ ไม่พึ่งหมอโรคทางเดินหายใจ” รศ.นพ. ฉันชาย กล่าว
ทางด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าใน กทม. ปัญหาหลักคือเด็กมองว่าเป็นสิ่งโก้เก๋ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือ ควันบุหรี่มือสอง (Second Hand Smoke) ซึ่งคนที่ไม่ได้สูบแต่อยู่ในสภาวะแวดล้อมของคนที่สูบบุหรี่และก่อให้เกิดการเสียชีวิตเป็นหลักล้านคน บทบาทแรกของเราคือ ให้ความรู้ต่อประชาชน บทบาทที่สองคือ การบังคับใช้ กฎหมายให้เข้มข้น จึงเป็นหน้าที่ที่ กทม. ต้องปกป้องผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ด้วยการให้ความรู้ การบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งห้ามสูบในหลาย ๆ ที่ เราต้องไปทำให้เข้มแข็ง บังคับใช้กฎหมายในคนที่ฝ่าฝืนอย่างจริงจัง ส่วนตัวคิดว่าการสูบบุหรี่หมดยุคแล้ว เรามีสิ่งดี ๆ ให้ทำเยอะแยะที่ดีต่อสุขภาพตนเอง ต่อคนที่เรารัก ต่อครอบครัวเรา คนสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่คนที่เท่ แต่คนที่เท่ คนที่สมาร์ท คือคนที่ดูแลตัวเอง ดูแลสุขภาพให้ดี มีสุขภาพแข็งแรง คำนึงถึงคนที่เรารัก คำนึงถึงสังคม ส่วนใครติดบุหรี่ไปแล้ว กทม.มีคลินิกฟ้าใส 39 แห่ง เพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่
#WORLDNOTOBACCODAY2023 #กลุ่มเซ็นทรัล #วันงดสูบบุหรี่โลก #เซ็นทรัลเวิลด์