ปัจจุบันการสื่อสารทั่วโลกได้อยู่ในยุคของ “สื่อดิจิทัล” อย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีการสื่อสารที่เกิดขึ้นใหม่อย่างมากมายและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยทาง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่วนหนึ่งในการ ส่งเสริม  สนับสนุน  และกำกับดูแลการอุดมศึกษาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาประสิทธิภาพการสื่อสารของบุคลากรในองค์กรและจัดทำ หลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ “COMMU MAX” (คอมมู แม็กซ์) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่อยู่ภายใต้โครงการ นวัตกรรมการสื่อสารสำหรับนโยบายภาครัฐ : แซนด์บ็อกซ์นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการสื่อสารนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม บนสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้บุคลากรสามารถเลือกใช้สื่อ และการสื่อสารได้อย่างเหมาะสมและทันต่อยุคสมัย โดยจะเริ่มใช้หลักสูตร Commu Max นี้เพื่ออบรมเจ้าหน้าที่และบุคลากรภายในกระทรวง อว. เป็นอันดับแรก เพื่อให้บุคลากรภายในกระทรวงฯ ที่มีอยู่ด้วยกันหลายหน่วยงาน สามารถประยุกต์ใช้โมเดล เลือกใช้ช่องทางในการสื่อสารในยุคดิจิทัลนี้ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งยังเป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการสื่อสารทางเดียวจากข้อมูลที่องค์กรต้องการบอกเล่า ให้เป็นการสื่อสารที่เชื่อมโยงกับความสนใจและรับฟังความคิดเห็นของผู้รับสาร หรือกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ เพื่อสร้างการบอกต่อ ข้อมูลข่าวสาร งานวิจัยต่างๆ ของกระทรวงได้อย่างถูกต้อง และได้รับการสนใจจากกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งได้มีการจัดงานแถลงข่าวเปิด หลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ “COMMU MAX” (คอมมู แม็กซ์) อย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ อาคาร วช.8 สถาบันวิจัยแห่งชาติ โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มาเป็นในประธานในพิธี ร่วมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สังกัดสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)และ ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้ช่วยอธิการบดี (ฝ่ายการนักศึกษา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ TUXSA MBA (Business Innovation) หัวหน้าหลักสูตร Commu Max (คอมมู แม็กซ์) พร้อมด้วยบุคคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวง อว. และสื่อมวลชน ที่เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ กว่า 100 คน

ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประธานในพิธี

พิธีเปิดหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ Commu Max

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช (2)

ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้ช่วยอธิการบดี(ฝ่ายการนักศึกษา)มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ TUXSA MBA (Business Innovation) หัวหน้าหลักสูตร Commu Max

โดย หลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ COMMU MAX นอกจากเป็นจะเป็นการปรับแนวคิดและสร้างโมเดลการทำสื่อประชาสัมพันธ์แล้ว หลักสูตรนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้และใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น AI และ Social Listening Tools เข้าเข้ามาช่วยในการวางแผนและจัดทำสื่อ เพื่อยกระดับให้งานประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐมีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นด้วย สำหรับหลักสูตร Commu Max นี้จะเน้นผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้เน้นการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง ทั้งรายบุคคลและกระบวนการกลุ่ม พร้อมนําเสนอและวิพากษ์ผลงาน เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์จากการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรม จำนวน 90 คน ประกอบด้วยบุคคลากรทั้งในระดับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งจะประกอบด้วยกิจกรรม 2 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 การอบรมในรูปแบบ Workshop จํานวน 3 ครั้ง ในเนื้อหา 4 ด้าน  

§ เนื้อหาด้านการออกแบบ Content Creation

§ เนื้อหาด้านการสร้าง Artwork

§ เนื้อหาด้านการสร้าง Short Video

§ เนื้อหาเนื้อหาด้านการจัดการ Social Voice Management

ส่วนที่ 2 การจัดการทดลองประยุกต์ใช้ความรู้มาพัฒนาการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบการแข่งขัน 

§ โดยแบ่งกลุ่มผู้เข้าอบรมเป็น 10 กลุ่ม เพื่อทดลองผลิตและเผยแพร่ชิ้นงานจริง เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยทีมที่ทำผลงานได้ดีที่สุด3 อันดับ จะได้รับประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติจากทางกระทรวง อว. และได้ร่วมแสดงผลงานในงานวันปิดหลักสูตรต่อไป

โดยทาง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตั้งเป้าหมายสำหรับผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนานักนวัตกรรมการสื่อสารภาครัฐ “COMMU MAX” (คอมมู แม็กซ์) ในครั้งนี้ จะสามารถสื่อสารข้อมูลข่าวสารในการดําเนินงานโครงการต่างๆ ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อนํามาใช้ในการประชาสัมพันธ์องค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถผลิตและเผยแพร่สื่อดิจิทัลในการประชาสัมพันธ์รวมทั้งสามารถใช้สื่อและสื่อสารมวลชนในยุคดิจิทัลเพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจต่อการดําเนินงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสามารถเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น โดยทางกระทรวงฯ มีแผนพัฒนาหลักสูตร Commu Max เพื่อจะสามารถนำไปใช้ต่อยอดกับหน่วยงานและองค์กรภาครัฐอื่นๆ ต่อไป

###