องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เรียกร้องภาครัฐให้บรรจุประเด็นเรื่องการพัฒนามาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มให้สูงขึ้นตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มอย่างเข้มงวด ในแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 อย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งแสดงความผิดหวังต่อร่างล่าสุดของแผนดังกล่าวที่ยังคงไม่ได้ให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพสัตว์ซึ่งเป็นต้นตอของการเกิดและแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรมสู่ห่วงโซ่อาหาร สิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำสาธารณะ
ปัญหาสวัสดิภาพสัตว์เชื่อมโยงกับวิกฤตเชื้อดื้อยาอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ร่วมกับอาสาสมัครได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งน้ำรอบๆฟาร์มหมูอุตสาหกรรมพร้อมพูดคุยกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อสรุปและเผยผลงานวิจัย “มัจจุราชดื้อยาแฝงในแหล่งน้ำใกล้ตัวคุณ” ที่แสดงหลักฐานสำคัญของการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาในเนื้อสัตว์ สิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำสาธารณะในประเทศไทยซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมในฟาร์มอุตสาหกรรม ผลการวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมที่ย่ำแย่ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาดังกล่าว
ปัจจุบันกว่า 3 ใน 4 ของปริมาณยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ทั่วโลกถูกใช้กับสัตว์ฟาร์ม การใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาลนี้มีสาเหตุหลักมาจากการเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีสวัสดิภาพ สัตว์ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะถูกขังอยู่ในกรงอย่างทุกข์ทรมาน เช่น แม่หมูถูกขังอยู่ในกรงแคบ ๆ ลูกหมูโดนตัดตอนอวัยวะอย่างเจ็บปวด รวมถึงการถูกแยกจากแม่ตั้งแต่ยังเล็ก หรือแม้กระทั่งไก่ที่มีการเลี้ยงรวมกันอยู่อย่างหนาแน่น ฯลฯ
แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เสนอแนะว่ายาปฏิชีวนะไม่ควรถูกใช้เพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มในสัตว์ฟาร์ม และมีการคาดการณ์ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการปศุสัตว์นี้เพิ่มสูงขึ้นถึง 67% ระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2573 ผลกระทบจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมหาศาลในภาคการเกษตรร่วมกับแหล่งอื่นก่อให้เกิดวิกฤติด้านสุขภาพระดับโลก เนื่องจากเชื้อดื้อยามีการแพร่กระจายจากฟาร์มไปสู่คนได้โดยช่องทางต่างๆ เช่นการสัมผัสโดยตรงของคนงาน การปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารและปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมแหล่งน้ำสาธารณะ
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้เข้าร่วมในกระบวนการพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำเสนอผลงานวิจัย รายงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตลอดจนสะท้อนเสียงของชาวบ้านในชุมชนที่อยู่แวดล้อมฟาร์มอุตสาหกรรมที่มีความกังวลต่อสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวและถามหาหน่วยงานรับผิดชอบที่จะช่วยสร้างความมั่นใจในชีวิตและความปลอดภัยของพวกเขาได้ นอกจากนั้นยังได้มีการนำเสนอแนวทางการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์และการบังคับใช้กฎหมายการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการป้องกันโรคเพื่อเป็นทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “มีงานวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสวัสดิภาพสัตว์และการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ การละเลยประเด็นนี้ในแผนปฏิบัติการระดับชาติ ทำให้เราไม่สามารถจัดการกับปัญหาเชื้อดื้อยาที่กำลังเป็นวิกฤติด้านสุขภาพของคนไทยได้อย่างครอบคลุม เราขอเรียกร้องให้ภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปกป้องสุขภาพของประชาชน
การบรรจุแผนงานด้านการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในแผนปฏิบัติการระดับชาติไม่ได้เป็นทางเลือกทางด้านจริยธรรมเท่านั้น แต่คือความจำเป็นที่สำคัญเพื่อการปกป้องสุขภาพทั้งของมนุษย์และสัตว์ ผมจึงอยากขอย้ำถึงความเร่งด่วนในการดำเนินการอย่างกล้าหาญและเด็ดขาดในการรวมสวัสดิภาพสัตว์ไว้ในแผนฯฉบับนี้”
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการประสานและบูรณาการงานด้านการดื้อยาต้านOperational Plan) จุลชีพ มีการบรรจุข้อเรียกร้องเหล่านี้ในยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงาน (ของแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึงกรมปศุสัตว์ต้องมีการพิจารณาเพื่อยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มให้สูงขึ้น ให้สอดคล้องต่อมาตรฐานขั้นต่ำการเลี้ยงสัตว์ฟาร์ม (FARMS: Farm Animal Responsible Minimum Standard, https://www.farmsinitiative.org) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถช่วยลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะลดลง
2. การบังคับใช้กฎหมายการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มอย่างเข้มงวด
3. บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการเข้าถึงยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องของเกษตกร รวมถึงจัดให้มีการพัฒนาความรู้ด้านการใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมและแนวทางการเลี้ยงสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพ
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เชื่อมั่นว่าหากข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการบรรจุลงในแผนปฏิบัติการ จะช่วยให้เป้าหมายในภาพรวมการลดปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพประสบความสำเร็จไว้ รวมถึงเป็นการสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสัตว์ คน และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้นำด้านการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขวิกฤตเชื้อดื้อยาได้อย่างแท้จริง
รายละเอียดผลงานวิจัย“มัจจุราชดื้อยาแฝงในแหล่งน้ำใกล้ตัวคุณ”
www.worldanimalprotection.or.th/Deadly-superbugs-found-in-waterways
###