สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เปิดตัว “รางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ (Creative Excellence Awards หรือ CE Awards)” ครั้งแรกกับการมอบรางวัลให้       นักสร้างสรรค์ตัวจริงในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมบุคคล ชุมชน ผู้ประกอบการ หน่วยงาน องค์กร หรือสถาบัน     ต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการ เครื่องมือ หรือกระบวนการ โดยนำความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)    มาประยุกต์ใช้ในการสร้างให้เกิดคุณค่า (Value Creation) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม        หรือสิ่งแวดล้อมเพื่อต่อยอดไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ โดยงานประกาศรางวัล จะจัดขึ้นในวันที่        24 สิงหาคม 2566 ณ สามย่าน มิตรทาวน์ ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่าน มิตรทาวน์ กรุงเทพฯ

ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ได้กล่าวถึงที่มาของรางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ (Creative Excellence Awards หรือ CE Awards) ว่า ภารกิจของ CEA ประกอบด้วย 3 มิติหลัก ไม่ว่าจะเป็นการการพัฒนาย่าน/เมืองสร้างสรรค์ ธุรกิจสร้างสรรค์ และนักสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งหมดล้วนยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมและธุรกิจสร้างสรรค์ ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงรอบด้านไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับนานาชาติได้”

รางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ (Creative Excellence Awards หรือ CE Awards)   จึงเป็นรางวัลที่ทาง CEA มีความตั้งใจที่จะเชิดชูความสามารถของบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้นำกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้ในการสร้างให้เกิดคุณค่า และเกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ทั้งยังต่อยอดไปสู่การเติบโตของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมพลังใจ กระตุ้นศักยภาพของนักสร้างสรรค์ไทยได้มีความภาคภูมิใจ รวมถึงเป็นแบบอย่างในการถ่ายทอดผลงานที่จะก่อเกิดประโยชน์ในวงกว้าง ตลอดจนเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้”

ด้านนายพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ให้รายละเอียดเพิ่มเติม สำหรับรางวัล Creative Excellence Awards หรือ CE Awards จะมีด้วยกันทั้งหมด 15 รางวัล แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1) Creative City Awards รางวัลการพัฒนาย่าน สถานที่ชุมชน หรือเมือง รวมทั้งกิจกรรมที่ดึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวของย่าน ผู้คน หรือธุรกิจดั้งเดิม ผสานกับความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม   เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและพัฒนาให้ตอบโจทย์คนในพื้นที่และผู้มาเยือนในมิติต่าง ๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และความยั่งยืน

2) Creative Business Awards ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ทั้ง Sustainability Awards เป็นรางวัลสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการ หรือ โครงการ ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบ และกระบวนการผลิต ที่เน้นความยั่งยืนอีกทั้งคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน และ Value Creation Awards รางวัลของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างคุณค่าเพิ่มในเชิงธุรกิจ ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการ หรือโครงการ โดยเป็นการผสมผสานระหว่างมิติทางเศรษฐกิจและมิติความยั่งยืนอย่างลงตัว

3) Creative Social Impact Awards รางวัลสำหรับการนำความคิดสร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ไขหรือคลี่คลายประเด็นต่าง ๆ ทางสังคม (Social) อีกทั้งช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นให้น้อยลง 

กระบวนการคัดสรรผู้ที่จะได้รับรางวัลจะผ่านการเฟ้นหาอย่างเข้มข้น ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) Nomination การใช้เครื่องมือ Social Listening จาก Mandala AI Ecosystem ในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล และคัดเลือกกลั่นกรองผลงานโดยคณะกรรมการจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง 2) In / Out Expert Panel    การตัดสินผลงานที่ผ่านเกณฑ์โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดในวงการสร้างสรรค์   เพื่อหาผลงานที่ผ่านการคัดเลือกสู่รอบสุดท้าย และ 3) Discussion & Vote Expert Panel การตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ มา พูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อคัดเลือกผลงานที่ได้รับรางวัลในแต่ละสาขา หลังจากผลงานผ่านรอบ In/ Out” นายพิชิต กล่าว

   โดยหลักเกณฑ์การตัดสินจะต้องเป็นผลงานที่คิดค้นโดยคนไทย หรือมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงาน และจะต้องเป็นผลงานใหม่ (1-3 ปี) และก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกในสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ผลงานต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

   นอกจากนี้ รางวัล CE Awards จัดได้ว่าเป็นรางวัลแรกที่มีการใช้ Data จากเครื่องมือ Social Listening –ของ Mandala AI ที่เข้ามาช่วยประเมินผลและวิเคราะห์ข้อมูลจากประชาชนทั่วไป มาใช้ตัวช่วยในการคัดเลือก

โดย นางสาวชนิดา พูลบัณฑิตย์ Chief Operating Officer บริษัท โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้สร้างแพลตฟอร์ม Mandala AI ได้กล่าวว่า “ทางบริษัทฯรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับทาง CEA ในการใช้เครื่องมือ Mandala AI มาประมวลผลข้อมูล โดยเครื่องมือดังกล่าวเป็นตัวช่วยยืนยันเรื่องความถูกต้องของข้อมูล อีกทั้งยังสามารถติดตามผลเรื่องของ Engagementต่างๆที่เกิดขึ้นในประเด็นต่าง ๆ ได้  ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้ ยังช่วยเป็นการขยายการรับรู้ว่าจริง ๆ แล้ว Social Listening Tool สามารถนำไปใช้กับงานสร้างสรรค์ได้และสายงานอื่น ๆ ได้อย่างแพร่หลายไม่ได้เพียงจำกัดแค่งานด้านการตลาดเพียงเท่านั้น

“สำหรับรางวัล CE Awards จะเป็นเครื่องการันตีรับรองความโดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนสร้างมูลค่าและความแตกต่างให้บุคคล หน่วยงาน และองค์กรที่ได้รับรางวัล รวมถึง ยกระดับเส้นทางการทำงานในวงการสร้างสรรค์ให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย โดยเติมเต็มช่องว่างให้กับผลงานอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และต่อยอดไปสู่ระดับนานาชาติได้ ทั้งยังเป็นแบบอย่าง และแนวทาง ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักสร้างสรรค์คนอื่นที่จะได้พัฒนาตัวเองเพื่อนำเสนอผลงานที่มุ่งสร้างความยั่งยืนอย่างสร้างสรรค์ให้กับประเทศต่อไป” ดร. ชาคริต กล่าวปิดท้าย

การประกาศรางวัล Creative Excellence Awards หรือ CE Awards จะจัดขึ้นภายใต้งาน Creative Business Connext ในวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 17.30 – 20.00 น. ชั้น 5 สามย่าน มิตรทาวน์ กรุงเทพฯ

——————————————————–

เกี่ยวกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน): สศส. หรือ Creative Economy Agency (Public Organization): CEA เป็นหน่วยงานเฉพาะด้านที่ทำหน้าที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่าง ๆ ให้เติบโต และส่งเสริมให้ภาคการผลิตนำความคิดสร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ นำไปสู่การยกระดับศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจและประเทศในระดับสากล