ในแวดวงธุรกิจคงจะคุ้นชินกับคำว่า ESG ที่ย่อมาจาก Environment, Social, Governance ซึ่งหลายคนอาจมองว่า ESG จะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นแค่ช่วงหนึ่ง ในที่สุดก็จะหมดความนิยมไปเหมือนกระแสอื่น แต่ความจริงแล้ว ESG ไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็นแนวคิดการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

เพื่อให้ลูกค้า คู่ค้า และพันธมิตรธุรกิจ มีความเข้าใจและเตรียมพร้อมปรับตัวในเรื่องนี้ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เห็นความสำคัญตามกรอบ B+ESG ที่ผสานการดำเนินธุรกิจและความยั่งยืนเป็นเนื้อเดียวกัน โดยอยู่บนพื้นฐานของการสร้างการเติบโตและความยั่งยืนให้กับทุก Stakeholders จึงได้จัดเสวนาหัวข้อ เส้นทางสู่ความยั่งยืนของธุรกิจไทย ด้วยแนวคิด Sustainable Growth – The Way to Business of the Future โดยนำ Best Practice จากบริษัทชั้นนำของไทยที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาองค์กรตามแนวคิด ESG อาทิ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคเกษตรอุตสาหกรรม พร้อมด้วย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หนึ่งในองค์กรที่ทำงานด้านความยั่งยืนมายาวนานมาร่วมแบ่งปัน เพื่อเป็นแนวทางให้ลูกค้าธุรกิจ และ SME นำไปพัฒนาองค์กรของตนเอง  

 

ESG ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของธุรกิจ

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มมีมาตรการทางการค้าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น CBAM หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism ซึ่งเป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ที่จะเริ่มบังคับใช้กับสินค้าเหล็ก ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย อลูมิเนียม และจะขยายไปยังสินค้ากลุ่มอื่นในอนาคต และยังมีมาตรการ CCA หรือ Clean Competition Act ที่จะมีการปรับราคาคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้าสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย หรือ Thailand Taxonomy ออกมา เพื่อผลักดันภาคธุรกิจสู่แนวคิด ESG และยังได้แสดงเจตนารมย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของระดับประเทศ โดยประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065 

“นอกจากมาตรการระดับโลกและประเทศแล้ว บริษัทชั้นนำระดับโลกและบริษัทใหญ่หลายแห่งในประเทศไทย ก็เริ่มมีนโยบายกระตุ้นให้ซัพพลายเออร์และคู่ค้าของธุรกิจ ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย เช่น มีประกาศที่จะใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 100% ครอบคลุมทุกร้านค้าและสำนักงานทั่วโลกภายในปี 2026 หรือ มีกฎให้ผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานวัดและจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อทำความเข้าใจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาและดำเนินการลดอย่างมีนัยสำคัญกับผู้ผลิตในอนาคต และจะมีอีกหลายบริษัทที่ทยอยออกมาตรการออกมา ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วอาจสูญเสียโอกาสทางธุรกิจได้” นายศรัณย์ กล่าว

 

Climate Change เกิดแน่ แนะผู้ประกอบการเร่งประเมินตัวเอง 

ดร.ศรายุธ แสงจันทร์ กรรมการผู้จัดการกลุ่ม Health Products and Sustainability กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า มิตรผลเริ่มต้นปรับเปลี่ยนองค์กรโดยการวิเคราะห์ธุรกิจของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำคือการปลูกอ้อย จากนั้นจึงต่อยอดไปยังเรื่องอื่น ๆ ของ ESG ซึ่งมิตรผลมองว่า Climate Change นั้น มีผลต่ออุตสาหกรรมเกษตรอย่างแน่นอน จึงมีการบริหารจัดการในเรื่องนี้ และกำหนดเป้าหมายที่จะเป็นองค์กร Net Zero สิ่งที่ได้ดำเนินการ คือ พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ มีการพัฒนาโรงงานไฟฟ้าให้สามารถผลิตคาร์บอนเครดิต ขณะเดียวกันก็ทำให้ซัพพลายเออร์หันมาให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย

 

“แต่ละองค์กรควรมีแนวทางในการรับมือกับ Climate Change เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแน่นอน สิ่งแรกที่ต้องทำเพื่อเปลี่ยนผ่านในเรื่องนี้ คือ การประเมินองค์กรตัวเองว่ามีกิจกรรมอะไรบ้าง เริ่มตั้งแต่รับวัตถุดิบเข้ามาจนถึงการส่งมอบสินค้า จากนั้นให้วัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละกิจกรรม เพื่อพิจารณาว่าจะมีมาตรการอย่างไรที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละจุดได้” ดร.ศรายุธ กล่าว

 

ตามโลกให้ทัน พิจารณาปัจจัยเสี่ยง มองหาโอกาสใหม่

ดร.ณัฐกร ไกรกุล ผู้จัดการฝ่าย (Vice President) Decarbonization Center of Excellence บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาสต่าง ๆ ได้ เช่น ประเด็นความเสี่ยงด้าน Climate Change ที่เป็นประเด็นสำคัญของโลก และมีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับต่าง ๆ เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท ในส่วนของ GC นั้น มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการเข้ากับการดำเนินธุรกิจ จนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น DJSI, CDP และ EcoVadis เป็นต้น จนปัจจุบัน GC ได้ยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายระยะยาว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ผ่านแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ได้แก่ 1) Efficiency-Driven ผ่านโครงการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ 2) Portfolio-Driven ผ่านการปรับโครงสร้างธุรกิจที่เน้น Sustainable Product ให้มากขึ้น และ 3) Compensation-Driven ผ่านการศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Carbon Capture and Storage และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้คาร์บอนเครดิตจากโครงการปลูกป่าต่างๆ นอกจากนี้ GC ยังมีการกำหนดแนวทางการกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากลยุทธ์และการดำเนินงานด้าน Decarbonization เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

“เราต้องรู้ให้ทันว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จากนั้นพิจารณาว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยง อะไรคือโอกาส เพื่อที่จะได้บริหารจัดการ ทั้งเรื่องความเสี่ยงและเรื่องของการสร้างธุรกิจใหม่ในอนาคต ถ้าเรามองว่า Climate Change จะส่งผลกระทบกับเรา ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้หันมาพิจารณาว่าสินค้าและกระบวนการผลิตขององค์กรเรายังดำเนินต่อไปได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงแก้ไข อย่ารอช้า เพราะเราอาจเปลี่ยนไม่ทัน” ดร.ณัฐกร กล่าว

 

สินเชื่อสีเขียว-สินเชื่อสีฟ้า รองรับโปรเจกต์ทั้งใหญ่และเล็ก

นายกมลพันธ์ ลักษณา หัวหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ทีทีบี ช่วยให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างราบรื่น ผ่านการพัฒนาสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Loan ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น มีทั้งอาคารสีเขียว พลังงานหมุนเวียน การจัดการของเสีย การป้องกันมลพิษ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทีทีบี ยังได้ขยายจากสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมไปสู่สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนทางทะเล หรือ Blue Loan และยังมีสินเชื่อที่ส่งเสริมความยั่งยืน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยตามผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของลูกค้า

“หลายคนมองว่าการขอสินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องทำในสเกลใหญ่ แต่ความจริงแล้วแค่โปรเจกต์เล็ก ๆ ก็สามารถขอสินเชื่อได้ ทีทีบี มีความยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อ ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารสีเขียวทั้งอาคาร หรือต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานใหม่ทั้งหมด แค่เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ เปลี่ยนหลอดไฟ หรือเครื่อมือบางอย่างที่จะช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น หรือเปลี่ยนเป็นรถยนต์ EV ก็สามารถขอสินเชื่อได้” นายกมลพันธ์ กล่าวปิดท้าย

 

ทีทีบี มุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ด้วยสินเชื่อสีเขียวและสินเชื่อสีฟ้า ตอกย้ำเส้นทางสู่ “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Banking) เพื่อให้ธุรกิจและโลกอยู่รอดไปด้วยกัน

 

* * * * * *

#ให้ชีวิตการเงินดีทั้งวันนี้และอนาคต #เปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น

#ttb #MakeREALChange

* * * *