วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และรองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมกับคุณโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ การยางแห่งประเทศไทย และคุณธนากร พูตระกูล กรรมการบริหารบริษัท เอส.ที.พี.เม็ดดิเทค จำกัด ได้ร่วมลงนามในสัญญาให้ใช้สิทธิ พร้อมกล่าวถึงความสำเร็จของผลงาน “หุ่นจำลองสำหรับฝึกเจาะเลือดและใส่สายสวน ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทย และบริษัท เอส.ที.พี.เม็ดดิเทค จำกัด ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตึกสิริกิตติ์ ชั้น 5 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงเป้าหมายในการผลักดันผลงานวิจัยให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ว่า “พิธีลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิของผลงานวิจัยเรื่อง หุ่นจำลองสำหรับฝึกเจาะหลอดเลือดและใส่สายสวน ถือเป็นการต่อยอดผลงานวิจัยผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยมหิดลและการยางแห่งประเทศไทย ให้แก่ภาคเอกชนในรูปแบบการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing) สิทธิบัตรการประดิษฐ์เพื่อนำไปผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังเป็นต้นแบบในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของภาครัฐสู่ภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้สร้างสะพานเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ให้มีการนำไปใช้ในวงกว้าง ช่วยสร้างคุณค่าให้กับงานวิจัยได้อย่างมากมาย หรือที่เราพูดกันว่า “จากหิ้งสู่ห้าง” อย่างแท้จริง”

 

รองศาสตราจารย์ ดร. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความร่วมมือและบทบาทของ iNT ที่มีส่วนผลักดันผลงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรมในครั้งนี้ “ทาง iNT ได้เล็งเห็นศักยภาพของหุ่นจำลองในเชิงพาณิชย์ จึงได้ดำเนินการยื่นจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาผลงานวิจัยหุ่นจำลองสำหรับฝึกเจาะหลอดเลือดและใส่สายสวนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เลขที่คำขอ 2301003851 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 พร้อมเป็นตัวกลางในการจับคู่ธุรกิจเจรจาเพื่อตกลงจัดทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing) ให้แก่บริษัท เอส.ที.พี.เม็ดดิเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท SMEs รุ่นใหม่ที่ประกอบกิจการผลิต และจำหน่ายเครื่องมือเครื่องใช้ รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ทุกชนิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเอาผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงในระดับอุตสาหกรรม อันถือเป็นการยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์และสนับสนุนผลงานนวัตกรรมที่ผลิตโดยคนไทยออกสู่เชิงพาณิชย์ในประเทศและออกสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคต”

 

นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ การยางแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า “การยางแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรกลางที่รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศไทยทั้งระบบอย่างครบวงจร และมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการพัฒนางานวิจัยด้านยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งนโยบายของการยางแห่งประเทศไทย มุ่งเน้นสนับสนุนงานด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์จากยางพารา รวมถึงการนำผลงานวิจัยจากยางพาราไปใช้ประโยชน์ได้จริง”

 

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงปิยนุช พูตระกูล ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะแพทย์ผู้ประดิษฐ์นวัตกรรม ได้กล่าวว่า “การประดิษฐ์ผลงานนี้เกิดขึ้นจากการวิจัย ร่วมกับ นางสาวราตรี สีสุข สังกัดการยางแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดปัญหาและอุปสรรคในการเรียนการสอนฝึกเจาะหลอดเลือดและใส่สายสวนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการเจาะเลือดและใส่สายสวนที่บริเวณหลอดเลือดดำที่คอ เรียกได้ว่า เป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเทคนิคการใส่จะต้องใช้แพทย์ที่มีความชำนาญ เพราะอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการฝึกซ้อมหัตถการนี้กับหุ่นจำลองเพื่อให้เกิดความชำนาญก่อนที่แพทย์จะลงมือปฏิบัติในผู้ป่วยจริง เพื่อลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากการทำหัตถการ โดยการประดิษฐ์ครั้งนี้ได้รับการคัดเลือกจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทย นอกจากนี้ยังเป็นการสานต่อนโยบายรัฐบาลที่มุ่งให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศแห่งนวัตกรรมและสามารถออกสู่เชิงพาณิชย์ในระดับนานาชาติได้ รวมถึงตอบรับแนวคิด Thailand transformation ของอุตสาหกรรม 5.0”

 

คุณธนากร พูตระกูล กรรมการบริหารบริษัท เอส.ที.พี.เม็ดดิเทค จำกัด กล่าวถึงแผนการดำเนินงานหลังจากที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัยหุ่นจำลองสำหรับฝึกเจาะหลอดเลือดและใส่สายสวน “บริษัทมีแผนการดำเนินการด้านธุรกิจและการตลาด เริ่มตั้งแต่ในระยะแรกจะซื้อหุ่นจำลองตัวต้นแบบจากการยางแห่งประเทศไทย และรับถ่ายทอดองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยมหิดลและการยางแห่งประเทศไทย จนกระทั่งสามารถผลิตหุ่นจำลองที่ได้รับมาตรฐานได้เอง จากนั้น วางแผนที่จะทำการตลาดในโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าเป็นจำนวนมากต่อไป”