กรุงเทพฯ – 6 มีนาคม 2562 – ย้อนไปเมื่อยี่สิบกว่าปี ในขณะที่สังคมไทยยังมองว่าการทำอาหารเป็นเรื่องของงานในบ้าน สามารถต่อยอดไปเป็นอาชีพได้ยาก โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง แต่ไม่ใช่สำหรับ อาจารย์บิ๊บ ชัชชญา รักตะกนิษฐ ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวไทยขนาดใหญ่ ที่เมื่อมีโอกาสเมื่อใด คุณปู่คุณย่าจะชวนให้ลูกหลานมาช่วยเตรียมทำอาหาร นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆให้ผู้หญิงสมัยใหม่อย่างเธอมองว่าการทำอาหารเป็นเรื่องสนุกและเห็นโอกาสและช่องทางในการประกอบอาชีพ
“เราโตมาในครอบครัวที่ทุกคนชอบทำอาหาร ตอนเด็กๆอยากทานขนมอะไร คุณพ่อก็จะชอบให้ทำทานเอง โดยจะใช้อุปกรณ์เครื่องครัวประจำบ้านที่ตกทอดมาจากคุณปู่คุณย่าที่มีอยู่มาใช้ เราถูกสอนให้ทำขนมตั้งแต่ ม.ต้น ทำขนมไปแจกเพื่อนๆบ้าง
ทำทานกันเองบ้าง ขนมชิ้นแรกที่ทำจำได้ว่าคือคาราเมลคัสตาร์ด ต่อมาก็เป็นเมอแรงค์ พอได้ลองทำแล้วทำได้ ก็ทำให้รู้สึกสนุกไปกับมันและเริ่มสนใจ”
“เราตัดสินใจเลือกเรียนในสาขา Hotel Management โดยตั้งใจที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมบริการ (Food and Beverage Service) หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสไปเรียนที่ เลอ กอร์ดอง เบลอ ที่ประเทศอังกฤษ เราเริ่มต้นเข้าสู่วงการนี้ จากพื้นฐานความสนใจด้านขนมหวานที่เรามี พอได้ไปเรียนที่นี่ ก็เลือกเรียนทั้ง 2 ด้าน ทั้งอาหารและขนมหวาน ทำให้เราเรียนและมีประสบการณ์ทำอาหารยุโรปมากขึ้นด้วย” อาจารย์บิ๊บ ชัชชญา กล่าว
จากประสบการณ์ที่เธอสั่งสมมา ทั้งจากการทำงานในโรงแรม ร้านอาหารดัง และร้านเบเกอรี่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เธอเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างในวงการอาหารมากขึ้น จากบทบาทผู้ถ่ายทอดความรู้ และผู้อำนวยการที่โรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิต มากกว่าสิบปีที่คร่ำหวอดในวงการการศึกษาด้านศิลปะอาหารในประเทศไทย จึงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าอาจารย์บิ๊บ ชัชชญา คือบุคคลหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยอย่างแท้จริง
ในฐานะผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อพูดถึงบทบาทของผู้หญิงในครัวโลก อาจารย์บิ๊บ ชัชชญา มองว่า เพศสภาพไม่ใช่ข้อจำกัด หรือตัวชี้วัด ความก้าวหน้าในสายอาชีพอีกต่อไป ผู้หญิงสามารถประสบความสำเร็จได้ ถ้าไม่ยอมแพ้ไปเสียก่อน
“เรามองว่า ผู้หญิงที่มีใจรักการทำอาหาร ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดตัวเองอยู่แต่ในห้องครัวเท่านั้น หากเราเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เราจะทำได้ดี ด้วยสัดส่วนที่ดูเหมือนว่าจำนวนผู้ชายที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมนี้จะมากกว่าผู้หญิง เรามองว่า มันไม่ได้เกี่ยวกับเพศสภาพแต่อย่างใด ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน ความอดทน ความความตั้งใจ วินัย แพชชั่น และการอัพเดทความรู้ใหม่ๆ เป็นสิ่งที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก” อาจารย์บิ๊บ ชัชชญา กล่าวทิ้งท้าย
อาจารย์บิ๊บ ชัชชญา รักตะกนิษฐ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา โรงเรียนศิลปะการอาหารและผู้ประกอบการคูลิเนอร์ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มุ่งให้นักเรียนได้เรียนรู้และมีประสบการณ์แบบ 360 องศา: นักเรียนจะได้รับความรู้ พัฒนาทักษะทางด้านวิชาชีพ พัฒนาความคิดทางด้านการบริการ และการบริหารจัดการที่แท้จริง เพื่อความสำเร็จในเส้นทางสายอาชีพ ธุรกิจ รวมถึงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ที่ชีวิตการทำงานจะเกี่ยวข้องกับการทำอาหารอยู่ตลอดเวลา อาจารย์บิ๊บ ชัชชญา ยังคงมองว่าความรู้เรื่องงานบ้านงานเรือน ทักษะในการประกอบอาหาร หรือ “เสน่ห์ปลายจวัก” ที่อยู่คู่มากับสังคมไทยมานานหลายยุคหลายสมัย เป็นสิ่งที่ควรรักษาไว้ในทุกๆบ้าน อาหารเป็นศูนย์รวมของคนในบ้าน การใช้เวลาร่วมกัน การรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตา หรือแม้ช่วยกันเตรียมอาหารในโอกาสพิเศษ เหล่านี้ล้วนแต่ช่วยเพิ่มความสุขให้แก่ครอบครัว “เสน่ห์ปลายจวัก” มีติดบ้านใด บ้านนั้นก็อุ่นใจ