วัยหนุ่ม 2544

วันนี้ ในโรงภาพยนตร์

ตัวอย่างภาพยนตร์https://youtu.be/nWt7_O9wU4s

 

ชื่อเรื่อง: วัยหนุ่ม 2544

แนว: แอ็กชัน, ดราม่า

ผู้กำกับ: พุฒิพงษ์ นาคทอง

เขียนบท: พุฒิพงษ์ นาคทอง

นำแสดงโดย: ณัฏฐ์ กิจจริต, เป้ – อารักษ์ อมรศุภศิริ, จ๋าย – อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี, ท็อป – ทศพล หมายสุข, เบนจามิน วาร์นี, ต้น – อรุณพงค์ นราพันธ์, เอม – ภูมิภัทร ถาวรศิริ, ก้อย – อรัชพร โภคินภากร, จี๊ด – แสงทอง เกตุอู่ทอง

เข้าฉาย: 28 พฤศจิกายน 2567

 

เหล่าวัยหนุ่ม

ณัฏฐ์ กิจจริต รับบท เผือก | สังกัด: บ้านฝั่งธน | ตำแหน่ง: แรกเข้า

 

เผือกคือตัวละครหลักของเรื่องที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวแทนสายตาคนดู ด้วยการเป็นเด็กใหม่ที่เพิ่งถูกพาตัวไปอยู่ในพื้นที่สี่เหลี่ยมหลังกำแพงสำหรับกักขังอิสระ ที่เรียกว่า ‘เรือนจำ’ และระบบการปกครองในโลกสีเทาเข้ม โดยมีกอล์ฟรับเข้าไปดูแลในบ้านฝั่งธน

เผือกเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ โดยมีแม่ (รับบทโดย แสงทอง เกตุอู่ทอง) คอยเลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็กจนโต ทำให้สิ่งใดก็ตามที่มีความใกล้เคียงกับ ‘ความเป็นแม่’ กลายมาเป็นเสมือนจุดอ่อนจุดเดียวของเผือก ‘ก่อนเข้าคุก’ เผือกเป็นเด็กช่าง ที่ใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยความที่ว่าอยากพาแม่และจิตสุภา (รับบทโดย อรัชพร โภคินภากร) คนรักออกไปจากสลัมให้เร็วที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ 

 

เป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ รับบท เบียร์ สังกัด: บ้านคลองเตย ตำแหน่ง: พ่อบ้าน

 

เบียร์เป็นพ่อบ้านคลองเตย ที่ปกครองลูกน้องให้อยู่ใต้อาณัติด้วยอำนาจและความความกลัว โดยบอยเป็นคู่ซี้ เขาใช้ชีวิตอยู่ในคุกโดยปราศจากความกลัวและไม่สนสิ่งใด นอกจากการอยู่อย่างสุขสบาย เบียร์เป็นคนที่ผ่านอะไรมาเยอะ มั่นใจในฝีมือการสู้รบของตัวเอง รวมไปถึงเล่ห์เหลี่ยมกลโกงที่มีมากมายนับไม่ถ้วน เบียร์มีรอยสักมังกรบริเวณไหล่ซ้ายพาดมาจนถึงบริเวณเอว เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการเป็นขาใหญ่ประจำถิ่น

 

‘ก่อนมาอยู่ในคุก’ เบียร์โตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีนัก เขาต้องอยู่อย่างดิ้นรนและมีค่านิยมแปลก  ๆ เอาชีวิตรอดด้วยการขายยา และเอาเปรียบคนอื่นจนพลาดท่าและโดนจับในที่สุด

 

จ๋าย อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี รับบท บังกัส | สังกัด: บ้านฝั่งธน | ตำแหน่ง: พ่อบ้าน

 

บังกัสเป็นพ่อบ้านฝั่งธน ที่ปกครองลูกน้องในบ้านให้อยู่กันแบบครอบครัว บังกัสมีรอยสักมังกรพันอยู่ที่ขา แสดงถึงความเป็นขาใหญ่ประจำถิ่น บริเวณคิ้วซ้ายของบังกัสมีรอยแผลเป็นที่เกิดจากการเอามีดกรีดเพื่อระบายความเจ็บปวดจากการสูญเสียแม่อันเป็นที่รักไป เขาเป็นคนสุขุมนุ่มลึก แต่ในขณะเดียวกันเขาเองก็เป็นคนที่มีความสับสนในตัวเองสูงมาก ๆ เพราะชีวิตของเขากำลังจะถึงทางแยกอีกครั้ง เมื่อในอนาคตอันใกล้เขากำลังจะพ้นโทษ บีบให้เขาต้องเลือกว่าจะใช้ชีวิตแบบเดิม หรือจะเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง 

 

ชีวิตบังกัส ‘ก่อนเข้ามาอยู่ในคุก’ เป็นเด็กวัยรุ่นที่มีปัญหากับที่บ้าน และไม่สามารถจัดการกับปัญหาของตัวเองได้ ด้วยช่วงอายุและความพลุ่งพล่านของอารมณ์ พาให้เขาตัดสินใจพิดพลาดจนต้องมาอยู่ในเรือนจำ 

 

ท็อป ทศพล หมายสุข รับบท บอย | สังกัด: บ้านคลองเตย | ตำแหน่ง: ยอดบ้า

 

บอยยอดบ้าฝั่งคลองเตย เป็นตัวซื้อเรื่องเขาไปทั่ว เขาได้รับโทษปล้นยาจนทำให้ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในคุก บอยมีความเจ้าเล่ห์ ใจถึง ไร้เกฎเกณฑ์  กล้าแลกกล้าเสี่ยงและไม่กลัวตาย ใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยการเสพติดความเร้าใจ ความเจ็บปวด และความหวาดกลัวของคนอื่น เพื่อเติมเต็มความสะใจของตัวเอง เรียกได้ว่าเขาคนนี้ ‘ร่างกายอยากปะทะตลอดเวลา’ นี่คือหนึ่งในตัวละครที่น่าจับตา เขาเป็นเสมือนโจ๊กเกอร์ประจำเรื่องที่ทุกฝีก้าวล้วนถูกคิดและวางแผนเอาไว้หมดแล้ว ไม่มีการกระทำไหนที่เขาทำโดยไร้ซึ่งเจตนา 

 

เบนจามิน โจเซฟ วาร์นี รับบท กอล์ฟ | สังกัด: บ้านฝั่งธน | ตำแหน่ง: ยอดบ้า

 

กอล์ฟยอดบ้าฝั่งธน ที่แม้จะได้ชื่อว่าเป็นยอดบ้า แต่กอล์ฟก็เป็นคนที่เก็บความบ้าไว้ข้างในลึก ๆ เขามักจะถูกเพื่อน ๆ เรียกว่าฝรั่ง แต่แท้จริงแล้วเขาเป็นคนไทยจนเป็นที่มาของรอยสักบนสันมือซ้ายว่า Made in Thailand

เพราะ ‘ก่อนเข้าคุก’ ความสัมพันธ์ระหว่างกอล์ฟกับพ่อไม่ค่อยสู้ดีนัก และพ่อก็เลี้ยงดูเขามาไม่ดีเท่าไหร่ นั่นทำให้เขาต้องเอาใช้ชีวิตเอาตัวรอดมาด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก ใช้สัญชาตญาณนำ ไม่ค่อยรู้ผิดรู้ถูก พอเข้ามาอยู่ในคุก กอล์ฟได้บังกัสคอยช่วยเหลืออยู่ตลอดนั่นทำให้เขามองบังกัสเป็นเหมือนพ่อคนที่ 2 

 

ต้น อรุณพงค์ นราพันธ์ รับบท กร | สังกัด: บ้านคลองเตย | ตำแหน่ง: ตัวซื้อเรื่อง

 

กร เป็นหนึ่งในสามขาใหญ่แห่งบ้านคลองเตย เป็นคนโผงผาง และเป็นตัวเปิด ถึงจะตัวเล็กแต่เก๋ากว่าใคร เรียกได้ว่าเป็นตัวปัญหาที่คอยซื้อเรื่องอยู่ตลอดเวลา และเพราะกรไปงัดกับกอล์ฟยอดบ้าของบ้านฝั่งธน จนกลายเป็นชนวนเหตุให้ เบียร์เองก็ต้องหันมางัดกับบังกัสด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกรก็เป็นตัวละครที่จะยอมทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด

 

เอม ภูมิภัทร ถาวรศิริ รับบท ฟุล๊ค | สังกัด: บ้านคลองเตย | ตำแหน่ง: แรกเข้า

 

ฟลุ๊ค เป็นตัวละคร LGBT ที่เข้าคุกมาพร้อมกับเผือก เด็กใหม่สองคนที่ถูกทางพัสดีหมายตา ฟลุ๊คเป็นคนที่รักใครแล้วมอบทุกสิ่งอย่างในชีวิตไปหมดเลย เขาเชื่อว่าการมีชีวิตอยู่นั้น จะต้องมีด้วยหัวใจ ต้องมีด้วยความรัก เมื่อไหร่ที่เขาตัดสินใจรักใครแล้ว เขาก็จะไม่ไม่สงสัยอะไรในตัวคน ๆ นั้นอีกเลย เป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยความรัก

 

ชีวิต ‘ก่อนเข้าคุก’ ฟลุ๊คเป็นคนที่พยายามหาที่ทางให้กับตัวเองเนื่องจากเรื่องของเพศภาพยังไม่หลากหลายนัก ฟลุ๊คพยายามที่จะรู้จักตัวเองไปด้วย และพยายามที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจตัวเขามากขึ้นไปด้วย ทว่าวัยเด็กของเขาไม่ได้อบอุ่นเหมือนใคร ๆ ความโชคดีเดียวที่เขามีคือแฟนที่รักเขามาก ฟลุ๊ครู้สึกโชคดีที่ได้รักกับคน ๆ นี้ ทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตนี้เขาอยู่ได้เพราะความรักอย่างเดียว เพราะฉะนั้นสำหรับฟลุ๊คแล้วโลกที่ไร้ซึ่งความรัก..คือการที่ไม่มีโลกนี้ไปเลยเสียยังจะดีกว่า ซึ่งสิ่งที่ฟลุ๊คกลัวมากที่สุด คือการตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า “ชีวิตไร้ซึ่งความหวัง”

กว่าจะเป็นวัยหนุ่ม

 

ถึงจะประเดิมด้วยผลสุดเดือดอย่าง 4Kings ทั้ง 2 แต่ความจริงแล้ว วัยหนุ่ม 2544 คือโปรเจกต์ในฝันของผู้กำกับพุฒิพงษ์ นาคทองที่อยากจะทำหนังเกี่ยวกับคุกขึ้นมา ซึ่งโปรเจกต์หนังเรื่องวัยหนุ่ม 2544 นั้นถูกเขียนบทขึ้นมาก่อน 4Kings โดยใช้ชื่อโปรเจกต์ว่า ‘บ้านเมตตา’

 

“แต่ว่าความจริงแล้วคิดว่าวัยหนุ่มนี่น่าจะเป็นความฝันของพุฒิก่อนที่จะมี 4Kings อีก พุฒิอยากทำหนังคุกฮะ” –  เป้ อารักษ์

 

และเพื่อเตรียมตัวรับบทเป็นเหล่าวัยหนุ่มทั้งหลาย ทีมนักแสดงนำ ใช้เวลาที่มีก่อนเริ่มถ่ายทำ ทุ่มเททุกอย่างทั้ง ควบคุมอาหาร ไปจนถึงการฟิตหุ่นเพื่อให้ร่างกายมีความเหมาะสมกับบทบาทที่ได้รับมากที่สุด และเพื่อให้คนดูเห็นแล้วรู้สึกเชื่อได้มากที่สุดว่ารูปร่างนี้คือร่างกายที่พร้อมปะทะจริง ๆ

 

“อันนี้น่าจะเป็นแรงค์ในการเปลี่ยนแปลงสำหรับบทบาทนักแสดงของผมมากที่สุด คือผมก็ยังไม่เคยปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อเข้าหาบทได้มากขนาดนี้มาก่อน พอไปอ่านบทแล้วบอยมันเป็นคนประมาณนี้ ร่างกายเดิมผมมันไม่เชื่อ คนที่จะต้องตื่นมาเสพความรุนแรง ร่างกายมันต้องไม่ใช่ร่างกายนั้นอะ มันต้องเป็นร่างกายที่คนเห็นแล้วแบบ ถ้าเราตื่นมาแล้วร่างกายอยากปะทะทุกวัน มันต้องมีความน่ากลัวประมาณนึงครับ 

 

ก็เลยเป็นเหตุผลที่ผมทำร่างกายภายในช่วงเวลาแบบจำกัด เพื่อให้ลงมาเท่าที่ใจเราอยากจะให้ตัวละครบอยเป็น นี่คือสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนเลยใน 35 ปีที่เกิดมา อันนี้เป็นครั้งแรกเลย รู้สึกว่าเออมันโหดมากจริง ๆ สำหรับเรา เพราะว่าวันแรกที่ตั้งเป้าก็ยังไม่ได้เชื่อว่ามันจะทำได้นะครับ เรามี Reference อยู่ว่าพี่พุฒิผมอยากไปเป็นแบบนี้เลย นี่แหละเป็นร่างกายที่พร้อมจะเดินออกไปกระแทกใครก็ได้ แบบท้าไฝว้ใครก็ได้ มีอะไรแบบอยากจะใช้ร่างกายปะทะตลอด ไม่กลัวใคร กล้าที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่าง ร่างกายต้องประมาณนี้ 

 

เหลือเวลา 2 เดือนที่จะต้องทำให้ได้ ก็ลุยเลยเราก็คิดว่าได้เท่าไหร่เท่านั้น แต่มันจะคิดในใจตลอดเวลาว่าถ้าเทรนเนอร์หรือคนที่ดูแลเราบอกว่าได้อะ แล้วเราทำไม่ได้ เราก็โทษใครไม่ได้เหมือนกัน แล้ววันนึงที่ภาพมันออกไปอยู่ในภาพยนตร์แล้วอะ ตัวบอยไปได้แค่ไหนมันเป็นเพราะว่าเราอย่างเดียวเท่านั้น มีแค่ตัวเรา 100% เราจะทำได้ไม่ได้ โทษใครไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมเลยทุ่มให้มันเต็มที่ แล้วเราจะไม่เสียใจเลยว่าโอเคเนี่ยมันสุดได้เท่านี้แล้วว่ะ อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงตัวละครที่ โหดมาก หนักมาก สำหรับผม” – ท็อป ทศพล

 

“ตอนแรกคิดว่าทำไม่ได้ด้วยนะ โจทย์มาพี่พุฒิบอกเบนขอซิกแพค อุ้ย! อีก 2 เดือน..ทันเหรอ แต่ก็ทัน เออ! งงตัวเองเหมือนกัน รู้สึกว่าคนเราพอมันมีอะไรกดดันมาก ๆ ถ้าเราใช้แรงกดดันนั้นให้เป็นผลประโยชน์กับตัวเราอะ เฮ้ย! มันดีนะ มันเป็นแรงกระเพื่อมที่ดีมากเลย แล้วก็บวกกับว่าเหมือนณัฏฐ์เขาก็อยู่หมู่บ้านเดียวกันด้วยก็เลยกลายเป็นว่ามีเพื่อนไปออกกำลังกายด้วยกันมันเลยได้ผลักดันกัน 

 

แล้วคือพอมันมีบ้านฝั่งคลองเตย เขาก็จะมีแบบลงสตอรี่ของเขาว่าแบบ เฺฮ้ยผลงานถึงไหนแล้ววะ ไอ้เราตอนแรกกับณัฏฐ์ก็เหมือนไม่ค่อยได้ On Track เท่าไหร่ ก็แบบเฮ้ยเมื่อไหร่ซิกแพคมันจะมาวะ พี่ท็อปมาเลยจ้า ปึ้ง! มาคนแรกเลยซิกแพค ถ่ายลง IG สตอรี่เลย กดดันกว่าเดิมทีนี้ มันก็เหมือนแบบช่วย ๆ กันครับ เป็นแรงผลกดันที่ดี ทุกคนก็ฟิตหุ่นไปด้วยกันเป็นกลุ่มก้อน” – เบนจามิน วาร์นี

 

“น้อง ๆ ทุกคนอะทำได้อย่างดี คุณณัฏฐ์เขาแบบ เขาก็ลงเต็มที่นะ เขาก็ไปซ้อมมวยด้วยกันกับผม ต่อสู้ด้วยกันแล้วก็มาฟัดกันในกอง “ – เป้ อารักษ์

ไม่เพียงแค่เรื่องของการฟืตหุ่นเท่านั้น อีกหนึ่งความท้าทายของ วัยหนุ่ม 2544 สำหรับเหล่านักแสดงคือการทำการบ้าน ค้นหาข้อมูลของบทบาทที่ได้รับมา และแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการค้นคว้า คือเหล่าผู้คนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในคุกจริง ๆ

 

“ตอนที่ผมไป Research ผมจะเจอคาแรกเตอร์บางอย่างที่เราไม่คิดว่ามันจะมีครับ คนที่มันแค่กล้าแล้วก็บ้าเต็มที่ เหมือนกับอย่างถ้าถาม หรือลองไปคุยกับพี่ ๆ ที่เคยติดมา บางคนที่โดนตลอดชีวิตอะ เขาก็แค่อยากจะมีความสุขข้างใน เพราะว่ารู้อยู่แล้วว่าจะไม่ได้ออกไอ้ความคิดตรงนั้นมันทำให้มนุษย์เราเป็นไปได้แบบสุดทาง

 

ตอนที่เราเตรียมตัวเล่นหนังเรื่องนี้มันไม่ใช่แค่การ Workshop มันเป็นการออกไปหาคาแรกเตอร์ที่เราไม่เคยสัมผัส ผมเองก็ไม่เคยติดคุกนะ เราก็ต้องไปหาจุดร่วมของมนุษย์ที่ผ่านประสบการณ์คนละแบบกับเรา เพราะฉะนั้นผมก็ไปเจอหลายคนมาก ๆ ครับ จำไม่ได้แล้วว่ากี่คน

 

รวมไปถึงการไปในสถานที่ที่เราเรียกว่าเรามาจากที่นั่นก็คือคลองเตย ก็ได้พบอะไรหลาย ๆ อย่างครับ แล้วก็ได้เข้าใจ อาจจะไม่ได้เข้าใจทั้งหมดนะ เพราะเราก็ไม่ได้ไปลองทำจริง ๆ นะ แต่ก็ได้พูดคุยอะไรก็ได้เข้าใจระบบของความคิดของคนที่อยู่ในนั้น รวมถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนที่จะเข้าไปในนั้น ” – เป้ อารักษ์ 

 

แบ่งแยกเขตแดน และกฎหมู่ของแต่ละบ้าน

 

เพราะทุกที่ มีกฎ มีระเบียบที่ต้องทำตาม แม้กระทั่ง..การแบ่งแยกไม่เว้นแม้แต่ในเรือนจำ ที่มีการแบ่งตัวนักโทษไปอยู่ตามบ้านต่าง ๆ ตามสถานที่ที่โดนจับมา ซึ่งแต่ละบ้านก็จะมีหัวเรือใหญ่ที่เรียกว่า ‘พ่อบ้าน’ คอยปกครองและดูแลอยู่ แต่จะปกครองกันแบบไหน จะอยู่กันแบบสุขสบาย หรือภายใต้การกดขี่ที่เน้นสร้างความหวาดกลัว ก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติของพ่อบ้านแต่ละคน โดยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวัยหนุ่ม 2544 นั้นจะพาคนดูไปพบกับ “บ้านคลองเตย” บ้านที่ปกครองด้วยเงิน ใช้อำนาจกดขี่ และเน้นการสร้างความหวาดกลัวแก่เด็กในบ้าน ในทางกลับกันก็เป็นบ้านที่อุดมสมบูรณ์และมีเงินใช้

 

“การปกครองของบ้านคลองเตยก็จะปกครองด้วยเงินแล้วก็ความกลัวครับ คือตัวเบียร์กับบอยเนี่ย เป็นหัวหน้าแก๊งที่คอยปกครองน้อง ๆ เป็นพ่อบ้าน แต่ว่าก็คือจะเป็นแก๊งที่อุดมสมบูรณ์ มีเงินใช้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็กดขี่ข่มเหง น้อง ๆ ก็อยู่ด้วยความกลัวคือเบียร์ บอย และกรเป็นขาใหญ่” – เป้ อารักษ์

 

และ “บ้านฝั่งธน” ขั้วตรงข้ามที่มีวิธีการปกครองแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เน้นไปที่การปกครองแบบครอบครัว มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน เห็นใจกัน พ่อบ้านแบ่งข้าวให้เด็กในบ้าน แต่…ก่อนจะกลายมาเป็นระบบการปกครองแบบครอบครัว บ้านฝั่งธนก็เคยใช้ความรุนแรงมาก่อนเช่นกัน

 

“บ้านฝั่งธนจะเป็นฟีลแบบ เซ็ตโทนไว้แล้วครับ ของเขาก็จะเป็นแบบแฟมิลี่หน่อย เป็นวอร์ม ๆ คือเข้ามาในโลกที่มันโหดร้ายแล้ว แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์ที่มันเป็นเหมือนครอบครัว ช่วยเหลือกัน” – ท็อป ทศพล

 

“ผมว่า..ฝั่งเราก็เคยเป็นแบบเขา ก็คือไม่ได้ต่างกันเลย อาจจะมากยิ่งกว่าเขาด้วยซ้ำ เขาอาจจะเป็นผลผลิตจากสิ่งที่เราเคยทำไว้ในอดีต มันก็เลยส่งต่อกันมา มีวิธีการแบบนี้มาตลอด แต่ว่า ณ วันนี้บ้านเรากำลังเปลี่ยนไป เพราะพ่อบ้านตัวนี้ (บังกัส) มันจะได้อภัยโทษด้วย แล้วมุมมองในในการอยู่ในคุกมันก็เปลี่ยนไป มันก็เลยอยากให้ทุกคนอยู่อย่างสบายไม่ได้มีเรื่องเพราะว่ามันไม่แน่ใจว่า ในวันที่กูไม่อยู่พวกมึงจะดูแลตัวเองกันได้หรือเปล่า” – จ๋าย อิชณน์กร

 

ซึ่งนอกจากบ้านคลองเตย และ บ้านฝั่งธนแล้ว วัยหนุ่ม 2544 ยังมีการพูดถึงบ้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

 

“เผือกเขากำลังจะเข้าไปติดคุกเป็นครั้งแรกครับ ดังนั้นการที่เผือกเข้าไปแล้วต้องไปอยู่บ้านโน้นบ้านนี้ มันเหมือนตัวเผือกเองก็พาคนดูเข้าไปรู้จักกับวัฒนธรรมบางอย่างที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ ในคุกด้วย ส่วนเผือกจะโดนจับไปอยู่ทุกบ้านเลย ซึ่งจริง ๆ ในเรื่องเราก็มีการพูดถึงบ้านอื่น ๆ ด้วยครับ แค่ว่า อาจจะไม่ได้เล่าเยอะครับ” –  ณัฏฐ์ กิจจริต

 

“จริง ๆ เอม ถ้าตาม Background ของเรื่องแล้ว เอมคือบ้านนางลิ้นจี่นะ เอมคือบ้านพระราม 3 นางลิ้นจี่ เพราะว่าเขาโดนจับมาจากตรงโน้น แล้วเขาเป็นคนที่นั่น แล้วพอเข้ามาปุ๊บ มันก็เรียกว่าโดนแพ็คคู่มากับเผือก แล้วก็โดนตีตรามาว่าแพ็คคู่นี้โดนโยนมาเพื่อรับกรรม” – ท็อป ทศพล

 

เพราะนี่คือสถานที่ ที่รวบรวมบรรดาวัยหนุ่มมากหน้าเอาไว้มากมาย อีกทั้งยังมีทั้งการการแบ่งบ้าน มีการปกครองแบบต่าง ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่จะมีการกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นซึ่งเหตุผลหลัก ๆ ของการวิวาทนั้นมาจากการแย่งชิงทรัพย์กร ศักดิ์ศรี 

 

“มันเป็นเรื่องทรัพยากรครับ ในคุกเนี่ยทรัพยากรทุกอย่างที่มันเข้ามา ที่ทำให้เราสบายขึ้นมันมีค่า เพราะฉะนั้นพอแบ่งแบ่งเป็น 2 บ้านแล้ว มันก็จะมีการแก่งแย่งทรัพยากรกัน แก่งแย่งที่ แก่งแย่งอาหาร แก่งแย่งพลังงาน และอภิสิทธิ์บางอย่าง เช่น ไม่ต้องทำกองงาน กินข้าวอร่อยกว่า ได้กินส้มในกอง แล้วก็พอมันต้องการอะไรแบบนั้นแล้วมันทำให้ตีกันครับ” – เป้ อารักษ์

 

“แล้วก็แหม ผู้ชายอะ ฉกรรจ์มากช่วงนั้น วัยแบบเขาเรียกว่ามันคือเสือของทุกที่ เสือ สิงห์ กระทิง แรด ทุกที่มารวมกันอยู่ที่นี่ มันมีศักดิ์ศรีค้ำคอ มันมีชื่อเสียงเรียงนามที่เขาสร้างกันมาจากข้างนอก เข้ามาข้างในก็จะถูกป่าวประกาศ แล้วมันรวมกันอยู่ การลงให้กันมันยากมาก คนที่บอกว่าเจ๋งมาก ๆ ไอ้คนที่รู้สึกว่ามันเจ๋งกว่า ก็อยากจะวัดว่า จริง ๆ แล้วก็เจ๋งกว่า” – ท็อป ทศพล

 

LGBT ดอกไม้ท่ามกลางหนุ่มฉกรรจ์

 

ถึงเรื่องราวผ่านตัวละครผู้ชายเป็นหลัก แต่อีกหนึ่งความน่าสนใจของวัยหนุ่ม 2544 คือการส่องไฟที่เพศที่ 3 ผ่านตัวละคร ฟลุ๊ค (รับบทโดย เอม ภูมิภัทร ถาวรศิริ) ตัวละคร LGBT เพียงหนึ่งเดียวของเรื่อง พร้อมพาคนดูไปสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของของ LGBT ในเรือนจำ 

 

“การใช้ชีวิตโดยต้องแยกจากคนรัก คือสิ่งที่เขาต้องต่อสู้อยู่ทุกวันตั้งแต่ตอนตื่น ตอนนอน ก็ต้องต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ทุกวันว่าแบบ โอเคความรักกับเรือนจำอันไหนจะชนะ ศรัทธากับความสิ้นหวังปะทะกันอะไรจะชนะ 

 

นี่คือสิ่งที่ฟลุ๊คต้องสู้อยู่ทุกวันเช่นเดียวกัน ความรักที่เขามี หรือว่าความหวังที่เขาจะมีในชีวิตตัวเองอีกข้างหน้าต่อไป กับการที่ต้องรักษาหัวใจตัวเองไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลงอยู่ในสถานที่แห่งนี้ ที่เป็นสถานที่ใหม่ของเขามันจะเป็นยังไง 

 

มันยากนะเวลาที่คนเผชิญกับความสิ้นหวังถึงขั้นนั้น มันไม่มีใครเหมือนเดิมหรอก แล้วยิ่งสถานที่มันคือสถานที่ที่เป็นเรือนจำที่มันพร้อมที่จะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ตลอดเวลามันยากเหลือเกินที่เขาจะรักษาหัวใจดวงเดิมเอาไว้” – เอม ภูมิภัทร

 

“ตามหลักการที่รู้มานะครับ คนที่เป็น LGBT ในคุกอ่ะ ความจริงแล้วอาจจะอยู่ได้สบายกว่า เพราะว่าเป็นคนที่ทุกคนต้องการ 

ตัวเบียร์ก็พยายามจะเลี้ยงตัวของฟลุ๊ค ให้อยู่สบาย แล้วก็เป็นเมียเขาคนเดียว แต่มันก็มันก็ไม่ได้สบายขนาดนั้นอะ ก็ให้ของดี ๆ แหละ แต่ว่าก็ต้องเป็นเครื่องเพศของเบียร์ด้วย แต่พอเรื่องราวดำเนินไปแล้วแบบ ไอ้เรื่องหึงหวงมันเกิดขึ้นครับ ความหึงหวงของน้องในคุกมันเกิดขึ้น คือข้างในเข้าแย่งกันเหมือนแย่งผู้หญิงเลย” – เป้ อารักษ์

 

“ข้างในนี่เรื่อง LGBT นี่ไม่ได้เลยนะ หน้าอ่อน น้องสวยอะไรพวกนี้ มันมีหน้าอ่อน หน้าอ่อนก็แบบผู้ชายเขาเรียกเอาไวอัง แบบหน้าตาดี ๆ หน่อย ขาวหน่อยเขาจะเรียกว่าน้องหน้าอ่อน น้องสวยนี่ก็อาจจะเป็นเมีย แล้วสองอย่างนี้ข้างในนี่เล่นไม่ได้เลย คือถ้าเดินไปบอกว่า เฮ้ย! เบียร์แม่งมีคนมามองหน้าว่ะ คือยกบ้านกันได้เลยนะ เอากันได้เลยอะ เรื่องนี้คือไม่ได้ ก็ฟีลเหมือนนอกใจแบบนี้เลย” – ท็อป ทศพล

 

นอกจาก ฟลุ๊คจะเป็นเสมือนดอกไม้ท่ามกลางเหล่าวัยหนุ่มแล้ว ตัวละครตัวนี้ยังเป็นตัวละครสำคัญที่จะพาคนดูไปสัมผัสกับมุมที่มืดที่สุดของเรือนจำด้วยเช่นกัน เมื่อฟลุ๊คต้องตกอยู่ในสถานะ ‘ผู้ถูกกระทำ’ นำไปสู่หนึ่งในซีนที่ยากที่สุด และโหดที่สุดซีนหนึ่งสำหรับนักแสดงแทบทุกคนในเรื่อง

 

“ซีนนั้นคือผมใช้คำว่า..ผมเกิดมาผมก็ไม่เคยทำสิ่งนี้เหมือนกัน มันเลวร้ายเกิน” – ท็อป ทศพล

 

“โคตรดาร์กอะ เพราะในชีวิตจริงเราไม่ทำแบบนั้นอะ ไม่มีทางเลยอะ แล้วมันมีช็อตนึง พอเอมเขาถ่ายซีนที่โดนทำร้ายเสร็จ เขาก็เริ่มยิ้มแล้ว เขาก็ถามพี่ ๆ ในฉากว่า “เป็นไงพี่โหดไหม ปกติโหดกว่านี้ไหม” พวกพี่ที่นั่งอยู่เขาก็ยิ้ม ๆ แล้วบอกว่า ก็คือมันก็ประมาณเนี้ย สิ่งที่มึงโดนก็คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นข้างใน โห..มันหดหู่สำหรับเรามาก เพราะว่ามนุษย์คนนึงมันจะทำกับมนุษย์อีกคนนึงได้ขนาดนี้เลยหรอ” – เป้ อารักษ์

 

แผลเป็นและรอยสัก

 

อีหนึ่งสิ่งที่เป็นเสมือนธรรมเนี่ยมปฏิบัติ และเป็นสัญลักษณ์บอกความเก๋าเกมของเหล่าวัยหนุ่ม คือรอยสักและแผลเป็น และรอยสักแต่ละลายล้วนมีความหมายซ่อนอยู่ เช่นเดียวกันกับแผลเป็นสิ่งที่เป็นเหมือนการบ่งบอกความเจ็บปวดที่ซ่อนอยู่ข้างในลึก ๆ ของตัวละคร

 

เผือก (ณัฏฐ์ กิจจริต)

 

รอยสัก: รอยสักริบบิ้นบริเวณหน้าอกด้านซ้าย (ก่อนเข้าคุก) และข้อมือซ้าย (สักตอนอยู่ในคุก)

ควมหมาย: สิ่งที่เชื่อมโยงตัวละครเผือกกับผู้เป็นแม่ และสัญลักษณ์ย้ำเตือนว่า “ฉันยังเหมือนเดิม”

 

“มันเริ่มต้นจากอันนี้ครับที่เป็นของแม่ แล้วระหว่างทางอะแม่เขาจะมีรอยสักตรงข้อมือ (ข้อมือด้านซ้าย) พอเผือกอยู่ในคุกไปเรื่อย ๆ เนี่ย เผือกก็เข้าใจว่ามันเป็นสัญลักษณ์ให้ตัวเองว่า ฉันยังเหมือนเดิมก็เลยสักเหมือนแม่ คือการที่คนเรามันโดนขังเข้าไปข้างในอ่ะครับบางทีมันจะมีวิธีการยืนยันบางอย่างว่าเรายังเหมือนเดิมนะ เรายังเหมือนคนข้างนอกนะ” – ณัฏฐ์ กิจจริต

 

บังกัส (จ๋าย อิชณน์กร)

 

รอยสัก: รอยสักมังกรพันรอบขาทั้งสองข้าง (มีมาตั้งแต่อยู่สถานพินิจ)

ความหมาย: แสดงความเป็นขาใหญ่ประจำถิ่น

 

แผลเป็น: บริเวณเหนือคิ้วซ้าย

ที่มา/ความหมาย: ได้มาตอนที่คุณแม่เสีย เป็นการแสดงออกถึงความเจ็บปวดของตัวละคร

 

“นักโทษเนี่ยเขาจะทนความสูญเสียหรือความเจ็บปวดหรือการถูกทอดทิ้งไม่ค่อยได้ แล้วบางทีข้างในนั้นมันไม่มีทางออก หลาย ๆ คนก็อาจจะตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง แต่อีกหลาย ๆ คนก็จะใช้วิธีการบรรเทาความเจ็บปวดนั้นด้วยการแบบทำร้ายร่างกายตัวเอง กรีดหน้าตัวเอง ซึ่งตัวละครนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น” – จ๋าย  อิชณน์กร

 

กอล์ฟ (เบนจามิน วาร์นี)

 

รอยสัก:

รอยสักคาบูกิ (บริเวณไหล่ซ้าย) – แสดงออกถึงความนิยมด้าน Gangster และซามูไรญี่ปุ่น

รอยสักจระเข้ (บริเวณหน้าอกซ้าย) – บ่งบอกว่าถึงจะหน้าฝรั่งจริง ๆ เป็นคนไทย

รอยสัก Made in Thailand (บริเวณสันมือซ้าย) – บ่งบอกว่าจริง ๆ แล้วเขาเป็นคนไทย

รอยสักหน้ายักษ์ (บริเวณด้านหลังส่วนล่างเหนือก้น) – ป้องกันตัวจากการโดนจ้องตอนอาบน้ำ 

 

อันนี้จริง ๆ ผมไปทำการบ้านมา คือผมพยายาม ทำการบ้านแบบให้มันมีหลายเรื่องราวมารวมกันไม่ได้แบบอิงพี่หรั่งพระนครทั้งหมดแต่เราไปฟังบทสัมภาษณ์เขา แล้วเราสนใจเรื่องที่ว่าเขามีรอยสักตรงนี้ถ้าจำไม่ผิดนะฮะ แล้วเขาสักเพราะว่าตอนที่เขาเพิ่งเข้ามาใหม่เนี่ยเขาตัวขาว แล้วตอนเขาอาบน้ำอย่าง คนก็มองก้นมอง ก็เลยแบบว่า เฮ้ยสักยักษ์ที่ก้นเลยดีกว่าให้ตามันใหญ่ ๆ แล้วใครมองก้นแบบจะได้มองมาที่ยักษ์” – เบนจามิน วาร์นี

 

เบียร์ (เป้ อารักษ์)

 

รอยสัก: รอยสักมังกร (บริเวนหน้าอกซ้ายพันรอบตัวมาจนถึงเอว)

ความหมาย:  แสดงถึงความเป็นรุ่นใหญ่

 

“ตอนที่ภาพหลุดออกไปเนี่ย เขาจะคิดว่าผมเป็นบังเดี่ยวนะครับ แต่ว่าไม่ใช่ครับ เป็นรอยสักที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบังเดี่ยว แล้วก็คนที่เป็นขาใหญ่สุดเขาจะสักมังกรกัน แล้วคนที่สักในคุกเนี่ยยิ่งเยอะยิ่งเท่  มันคือค่านิยมซึ่งผมไม่รู้ว่าผมเข้าใจถูกหรือเปล่านะ เพราะว่าการที่สักในคุกเนี่ยมันไม่มีเครื่องใช่ไหม มันต้องแทงมือ แล้วก็ถ้าจะสวยได้เนี่ยมันต้องใช้เวลาเยอะมาก 

 

เพราะฉะนั้นการที่เป็นขาใหญ่ต้องมีเวลา คุณไม่ต้องไปทำกองงาน คุณสามารถมาหลบแล้วให้เพื่อนแทงได้ หรือแบบว่าคนทำรอยสักเนี่ยแทงได้ ก็รอยสักนี้เป็นรอยมังกรนะครับที่ลงสีถือว่าเป็นรุ่นใหญ่ในคุกถ้าสักได้ทั้งตัวอย่างนี้เต็ม ๆ” – เป้ อารักษ์

 

บอย (ท็อป ทศพล)

 

รอยสัก: 

อุณาโลม(บริเวณลำคอ) – กลไกการปองกันตัวและเสริมสร้างความน่ากลัวของตัวละคร

สังวาล (รอบคอ) –  กลไกการปองกันตัวและเสริมสร้างความน่ากลัวของตัวละคร

สักใต้ตา –   กลไกการปองกันตัวและเสริมสร้างความน่ากลัวของตัวละคร

สมอ (แขนขวา) – สัญลักษณ์บ่งบอกว่าอยู่บ้านคลองเตย

 

“ทุกอย่างจะมีความหมายก็คือตรงนี้เป็นสังวาลย์นะครับ (รอบคอ) อันนี้ก็คือเป็นการดีไซน์ร่วมกับพี่พุฒิครับ ก็มีอุณาโลม (ลำคอ) ก็คือดูเป็นคนแบบ จริง ๆ แล้วตัวบอยลึก ๆ อ่ะครับมันมีความเปราะอยู่ ผมว่าทุกตัวละครมันจะมีความเปราะ มันจะมีด้านที่เขากลัวอยู่ อันนี้มันเป็นเหมือนการเสริมสร้างเกราะ ถ้าเรียกคือมันเป็นกลไกการป้องกันตัวของของบุคคล ของตัวละครบอยครับ เพื่อให้ทุกอย่างข้างนอกมันดูน่ากลัว สักขอบตามีรอยสักถม ๆ มีการห้อยพระ มีตะกรุดคาดเอวครับ” – ท็อป ทศพล

 

แผลเป็น: แก้มขวา

ที่มา/ความหมาย: เกิดจากการง้อน้อง

 

แผลเป็นมีที่หน้าตรงนี้ครับ (แก้มขวา) ซึ่งแผลเป็นนี่ก็ดีไซน์มาจากที่คุยกับพี่ ๆ ข้างในที่มาเป็นเหมือนเป็นที่ปรึกษาให้กับพี่พุฒิด้วยคือข้างในเขาจะมีแบบเหมือนเลี้ยงน้อง คือมันเกิดจากพี่คนนึงที่เขาเคยเล่าให้ฟังว่า มีพี่ข้างในที่แบบมีน้องนี่แหละ แต่ว่าน้องงอน แล้ววิธีการง้อน้องเขามันก็เหมือนเราง้อหญิงข้างนอกอะ แต่ข้างในคือผู้ชาย 

 

แล้วไปง้อด้วยการแบบเอาของไปให้กิน เอาอะไรไปให้กิน ก็ไม่หาย มันเริ่มแบบเสียหน้าไม่ได้แล้วอะ ก็เลยเอาแก้วหรือเอามีดโกนอะไรเงี้ยแล้วกรีดหน้าต่อหน้าน้อง ตาจ้องน้องแล้วก็กรีดไป เป็นฟีลก็ถามว่ามึงหายงอนไหม หน้ากูยังกล้ากรีดเลย ถ้ามึงไม่หายหน้าต่อไปเป็นหน้ามึงแน่ เป็นฟีลแบบนี้ครับ 

 

แบบมึงจะหายหายดี ๆ ไหมหน้ากูก็กรีดไปแล้ว เพราะฉะนั้นหน้ามึงมันไม่มีทางที่กูจะไม่กล้ากรีดเลยมันก็เลยเป็นที่มาของแผลเป็นตรงนี้” – ท็อป ทศพล

 

อื่น ๆ: ห้อยพระ และคาดตะกรุดที่เอว 

 

เพราะรอยสักเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมของคนข้างใน นั่นทำให้ช่างสัก หรือ คนสัก ในคุกนั้นมีความสำคัญ และจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นบุคคลที่ทุกคนต้องการและต้องพึ่งพา 

 

“คนที่สักในคุกเนี่ยมันเป็นเหมือนกับเป็นเหมือน Artist เป็นคนที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพราะทุกคนอยากมีรอยสักเพราะฉะนั้นคนที่สักได้คนที่เป็นช่างสักเนี่ยก็จะอยู่สบายหน่อย” – เป้ อารักษ์

 

อย่างไรก็ตามการแต่งเติมรอยสักเหล่านี้เองก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่ทำให้บรรดานักแสดงเข้าถึงบทบาทมากขึ้นตามไปด้วย

 

“มีแน่นอนเลยครับ มีแน่ ๆ โดยเฉพาะรอยสักของพี่ ๆ นักแสดงสมทบทั้งหลายมันสร้างบรรยากาศที่แบบ โอ้โหคุกรุ่น แล้วก็น่ากลัวมาก ๆ จำได้ว่าคิวแรกที่เจอเขาเนี่ย อื้อหือ! มันตึงแบบ..มันเป็นบรรยากาศที่พิเศษมากที่เราแบบ ไม่เคยเจออะไรอย่างนี้ มาก่อนเลย เป็นมนต์เสน่ห์ของการแสดง ของโลกของภาพยนตร์ครับ”  – จ๋าย  อิชณน์กร

 

“รอยสักนี่ส่งผลสุด ๆ เลยครับ คือเราชอบพี่พุฒิตรงที่ว่า พอเขาทำทำโปรเจกต์ในแต่ละเรื่อง เขาอยากให้มันเรียลที่สุด นักแสดงสมทบที่เขาชวนมาพี่แก๊ง ๆ ที่มาช่วยสนับสนุนนักแสดงหลักนะฮะ ก็จะเอาตัวจริงมาเลยอะไรอย่างนี้แล้วพอเขาเอาตัวจริงมาเนี่ย 

 

มันทำให้ คาแรกเตอร์เรารู้สึกมากขึ้น พอเราเดินเข้าไปปุ๊บเราเห็นพี่ ๆ เขาอย่างนี้ มันเหมือนมันหลอกเราอีกทีได้อ่ะ มันแบบไม่ใช่เล่น ๆ แล้วนะ นี่อยู่ตรงนี้แล้วนะ ของจริงแล้วนะ แล้วพี่เขาก็สักกันหมดเลย แล้วมันไม่ใช่แบบเมคอัปอะ มันคือรอยสักจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่คนสองคน มันคือมาเป็นแก๊ง ก็ยิ่งทำให้เราอินบท แล้วก็รู้สึกกับตัวละครมากขึ้นครับ ตัวละครมีชีวิตมากขึ้นด้วยเพราะเขาเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้เราด้วย”- เบนจามิน วาร์นี

 

เปิดประตูสู่เรือนจำ

 

ขึ้นชื่อว่า พุฒิพงษ์ นาคทอง มาพร้อมกับความเดือดดาลของภาพยนตร์ และความกล้าที่จะหยิบเรื่องราวที่ไม่มีใครพูดถึง คือการใช้สถานที่จริง นักแสดงประกอบที่มีประสบการณ์ในเรือนจำจริง ๆ ในการถ่ายทำ เพื่อให้ภาพและบรรยากาศที่ได้มีความทรงจริงมากยิ่งขึ้น ซึ่งวัยหนุ่ม 2544 ไปถ่ายทำกันในเรือนจำจริง ๆ ถึงสองที่ด้วยกัน นั่นคือ เรือนจำกลางเพชรบุรีที่มีอายุกว่า 100 ปี และ เรือนจำกลางเขาบิน

 

มันจะมี 2 ที่หลัก ๆ ก็จะมีเรือนจำกลางเพชรบุรีกับจะมีซีนสุดท้ายเลยที่เราไปที่เขาบินเป็นซีนจบ ที่นี้เรือนจำกลางเพชรบุรีเนี่ยคือเหมือนเหมือนสตูดิโอใหญ่ ๆ อ่ะครับ คือทุกคนน่ะช่วยกันมาก ๆๆๆ ไม่ว่าจะตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อให้เราได้คุกจริง ๆ มาถ่ายทำ” – ณัฏฐ์ กิจจริต

 

แน่นอนว่าการลงไปถ่ายทำใน ‘สถานที่จริง’ นั้นไม่เพีงแค่จะทำให้คนดูรู้สึกได้ถึงความสมจริงหรือเพิ่มความขลังของตัวภาพยนตร์เท่านั้น เพราะนอกจากลอยสักจะมีส่วนช่วยให้นักแสดงเข้าถึงบทบาทมากขึ้นแล้ว การเข้าไปถ่ายในสถานที่จริงนั้นยังเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ทำให้นักแสดงสามารถเข้าถึงบทบาทได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน และมันยังเป็นส่วนช่วยต่อยอดจินตนาการให้กับนักแสดง เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงความคิด และสภาวะความเป็นอยู่ของตัวละคร ณ สถานที่นั้นจริง ๆ ได้ด้วยเช่นกัน

 

 “ทุกอย่างมันจริงไปหมดเลย มันทำให้เราไม่ต้องทำงานอะไรเพิ่มขนาดนั้น เราแค่เข้าไปแล้วก็อยู่กับสถานที่ตรงนั้น ผมเจออะไรหลายอย่างมาก ๆ จากการแบบฟังเสียง หรือว่าสังเกต แค่อยู่ตรงสถานที่แห่งนั้นอะครับ

มันเกิดอะไรขึ้นเยอะมาก มันมีนกหลายพันธุ์มาก ๆ ที่อยู่ตรงนั้น มันมีแดดหลายแบบมาก ๆ มันมีลมหลายแบบมาก ๆ มันมีอากาศหลายแบบมาก ๆ ในคุกที่เพชรบุรี 

 

แล้วหลายครั้งมันเป็นตัวกลางที่เชื่อผมก็ฟลุ๊คอะ หลายครั้งมาก ๆ ที่แบบ นกบางตัวหรือว่าแดดแบบบางบางวัน มันเชื่อมผมกับฟลุ๊คมาก ๆ เลย” – เอม ภูมิภัทร

 

“ผมเองในฐานะนักแสดงเราก็ได้ยินเรื่องเล่ามาเฉย ๆ ว่าถ้าได้ถ่ายทำในสถานที่จริงมันจะสนุก มันจะอินมากอะไรเงี้ย แต่นี่คือครั้งแรกเลย แล้วก็รู้สึกได้เลยว่าทุกอย่างที่โดยปกติมันต้องผ่านจินตนาการ

 

 รอบนี้มันเหมือนเรามีตัวช่วยเยอะ เรื่องกลิ่น เรื่องเสียง ฝุ่น ลูกกรงที่เขย่ามันก็ไม่ขยับ ที่นั่งก็ไม่สบาย คือผมรู้สึกว่าทุกแผลที่ผมได้มาจากระหว่างการถ่าย มันจริงไปหมดเลย แล้วมันก็เอื้อให้นักแสดงมีสมาธิอยู่กับตรงนั้น แล้วก็โอบรับทุกเซนส์ที่มันเกิดขึ้นอะครับ กลิ่น เสียง ลม อย่างการไม่มีลมก็น่าสนใจมาก” – ณัฏฐ์ กิจจริต

 

และเมื่อสถานที่จริงที่ใช้ถ่ายทำนั้นเป็นสถานที่ที่กักขังอิสรภาพ การเข้าไปถ่ายทำในสถานที่จริง สัมผัสบรรยากาศ ความขลัง และความน่ากลัวจริงของสถานที่ทำให้ท็อป-ทศพล หมายสุข สัมผัสได้ถึงความหดหู่ และการสูญสิ้นอิสรภาพตามตัวละครไปด้วยเช่นกัน 

 

“ผมใช้คำว่ามนุษย์มันเกิดมาพร้อมกับอิสรภาพอะครับ ถ้าวันหนึ่งอิสรภาพเราสูญสิ้นวันนั้นเราจะได้เจอตัวเองมากที่สุดเลยครับ เราจะได้รู้เลยว่ามันไม่ใช่เรื่องที่สวยงาม มันไม่ใช่เรื่องที่น่าทดลองครับ คือผมเข้าไปถ่าย ผมยังรู้ว่าผมได้ออกมานะ ในสถานที่แห่งนั้นแล้วกันนะครับ ในทุก ๆ มุมของการใช้ชีวิตข้างในอะ แม่งโคตรหดหู่เลยแม้กระทั่งแบบอากาศที่หายใจ 

 

มันมีซีนหนึ่งที่เป็นซีนไนท์แล้วแบบ มีนักแสดงรวมทั้งหมดในห้องแค่ประมาณ 44 คนที่นับยอดได้นะครับ ที่เป็นนักแสดง แล้วก็รวมทีมงาน รวมอะไร ผมก็ตีไปประมาณร้อยนึงแล้วกันสำหรับในห้องนั้น ผมยังหายใจไม่ออกเลยอะ ยังรู้สึกว่า โอ้โห! อยู่กันยังไงวะ แต่พอถามพี่เขา ที่เขาแบบอยู่กันตรงนั้นจริง ๆ มีคนที่บอกว่าผมเคยนอนตรงนี้ด้วยซ้ำ ก่อนที่จะแบบยกเลิกเรือนจำนี้ไป บางคนก็เคยใช้ชีวิตอยู่ในนี้ หลายคนเลยแหละครับเพราะว่าเราใช้พื้นที่ ที่อยู่ในพื้นที่จริง ๆ อะนะครับ เขาบอกว่าห้องนี้อยู่กันจริง ๆ อะคือหลัก 200 คน ผมนับใน Set แค่ 44 ยังว่าแน่นเลยอะ จริง ๆ ที่เขาใช้ชีวิตกันอยู่คือ 200 คนอะ

 

นอนแบบขาฟันปลาบางคนนอนตะแคง บางคนต้องนั่ง คือมันโหดร้ายมากครับ ไม่ใช่เรื่องที่เข้าไปแล้วมันจะไปแบบ เฮ้ยไปเป็นทหารมาว่ะ 2 ปี ไม่ใช่อ่ะ มันไม่ใช่สิ่งที่เอาไว้วัดความเป็นสุภาพบุรุษของเรา หรือความเป็นแบบแม่งชายชาตรีว่ะผ่านสิ่งนี้มาแล้ว แม่งไม่ใช่เลย 

 

ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ต้องลองก็ต้องรู้อะครับ มันมีตัวอย่างให้เห็นอีกเยอะแยะไปหมดเลยนะ อย่าเข้าไปเองเลย แล้วเวลาคนที่เข้าไปข้างในอะ สิ้นอิสรภาพแล้ว คนที่สิ้นไปกับคุณด้วย ที่เห็นก็คือห้องเยี่ยมญาตินะ ญาติคุณก็ติดคุกไปด้วยครับ เพราะว่าเขาปล่อยคุณไม่ได้ เขาต้องมาหาคุณ ใจมันติด มันติดกันอยู่แบบนี้ มันวนเป็นมวลรวม” – ท็อป ทศพล

 

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่เป็นตัวช่วยเสริมความสมจริงให้กับวัยหนุ่ม 2544 คือเหล่าบรรดา ‘นักแสดงประกอบ’ ที่ส่วนหนึ่งเคยสัมผัสประสบการณ์จริงในเรือนจำมาก่อน ซึ่งพี่ ๆ นักแสดงประกอบเหล่านี้ก็กลายมาเป็นเสมือนคนดูกลุ่มแรก และภาพสะท้อนที่ผลักดันให้นักแสดงจินตนาการได้มากขึ้นว่าแต่ละการกระทำนั้นจะส่งผลให้เกิดอะไรตามมาบ้าง 

 

ที่ช่วยได้อีกอย่างหนึ่งคือพุฒืเขาบารมีถึงในการที่จะไปเอาพี่ ๆ Extra ที่หลาย ๆ คนเคยติดในนั้นมา ก็มันทำให้บรรยากาศของหนังมันน่าดูขึ้นไปอีก อัปขึ้นไปอีก” – เป้ อารักษ์

 

“เราชอบพี่พุฒืตรงที่ว่า พี่พุฒืพอเขาทำทำโปรเจกต์ในแต่ละเรื่องเขาอยากให้มันเรียลที่สุด นักแสดงสมทบที่เขาชวนมา พี่แก๊ง ๆ ที่มาช่วยสนับสนุนนักแสดงหลักนะฮะ ก็จะเอาตัวจริงมาเลย แล้วพอเขาเอาตัวจริงมาเนี่ย มันทำให้ คาแรกเตอร์เรารู้สึกมากขึ้น 

 

พอเราเดินเข้าไปปุ๊บเราเห็นพี่ ๆ เขาอย่างนี้ มันเหมือนมันหลอกเราอีกทีได้ มันแบบไม่ใช่เล่น ๆ แล้วนะ นี่อยู่ตรงนี้แล้วนะ ของจริงแล้วนะ แล้วพี่เขาก็สักกันหมดเลย แล้วมันไม่ใช่แบบเมคอัปอะ มันคือรอยสักจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่คนสองคน มันคือมาเป็นแก๊ง ก็ยิ่งทำให้เราอินบท แล้วก็รู้สึกกับตัวละครมากขึ้นครับ ตัวละครมีชีวิตมากขึ้นด้วยเพราะเขาเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้เราด้วย” – เบนจามิน วาร์นี

 

“การทรีทกันหลังจากคิวแรก คือทุกคนก็จะรู้สึกว่าโอเคพยายามมองพวกพี่ ๆ เขาเป็นคนดูกลุ่มแรกเลย ถ้าเกิดซีนนี้เราพาเขาไป ถ้าหันไปแล้วเขารู้สึก ถ้าเกิดเราแบบลุก ทุกคนไปพร้อมกัน ทุกคนโกรธพร้อมกัน ขยับพร้อมกัน หายใจพร้อมกัน จริง ๆ พวกผมพยายามมองพวกพี่เขาเป็นเป็นมาตรวัด ดังนั้นมันเลยเป็นมันเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ที่มันเกิดขึ้นนะ 

 

สำหรับเรื่องนี้ครับรายละเอียดในการแสดงบางอย่างบางทีเราเล่นซีนนี้เสร็จผมก็เดินไปหาเขา พี่ผมใช่ไหมครับ ถ้าอย่างนี้มันจะเกิดผลกระทบแบบที่เกิดขึ้นในซีนไหมอะไรอย่างนี้ เราก็พยายามรีเช็กกับเขาว่า เฮ้ยหน้าใหม่ที่มันเข้ามาในคุกเนี่ย มันได้ขนาดไหนแบบรีเลชันชิประหว่างเขากับเจ้าหน้าที่หรือว่าอะไรอย่างนี้มันมันไปได้ขนาดไหน” – ณัฏฐ์ กิจจริต

 

และวัตถุดิบสุดท้ายในผลงานของผู้กำกับ พุฒิพงษ์ นาคทอง คือ ‘ฉากแอ็กชันที่สมจริง’ และดุดัน ซึ่งแน่นอนว่าในวัยหนุ่ม 2544 เองก็มีฉากแอ็กชันเดือด ๆ อยู่หลายฉาก แต่กุญแจสำคัญที่ทำให้ฉากแอ็กชันของผู้กำกับพุฒิพงษ์ นาคทองมีความสมจริงนั้น คือฉากแอ็กชันที่ดูไม่เป็นคิวบู๊ แต่เป็นกันซัดกันจริง ๆ นัวกันจริง ๆ ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าแต่ละคนอยากจะเอาชีวิตกันจริง ๆ

 

“มันก็เป็นสิ่งที่พี่พุฒิอยากได้ นั่นคือคิวแอ็กชันที่ไม่ได้เป็นคิว มันคือคนซัดกันจริง ๆ นัวกันจริง ๆ จะเอาชีวิตกันจริง ๆ มันไม่มีท่า มันไม่มีทาง มันไม่มีลีลาหรอก อันนั้นก็สิ่งที่อยากได้ เพราะฉะนั้นการที่มันอยากได้ความธรรมชาติอ่ะครับ Movement ร่างกายมันก็คงต้องธรรมชาติด้วย” – ท็อป ทศพล

 

“ฉากใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นฉากล้างบางครับ ในฉากนั้นหลัก ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เลยคือทุกคนจะใส่เสื้อชุดทหาร ก็จะเป็นชุดเหมือนชุดออกรบอะฮะ ล้างบางก็คือตอนที่บ้านทั้งสองฝั่งเขาต้องการที่จะมามาใฝว้กันแต่จำนวนเยอะมาก เราก็นัดกันไว้แล้ว เตี๊ยมกันไว้ 

 

ไอ้วันถ่ายทำเนี่ยเอาจริงซีนนี้รู้สึกตื่นเต้นมาก ๆ ในชีวิตนักแสดงที่ผ่านมาทั้งหมด บอกเลยว่าซีนนั้นผมรู้สึก Amazing มาก รู้สึกว่ามันมีทั้งฉากแอ็กชันที่เราต้องเล่นเอง แล้วก็มีการรุมกัน แล้วก็คนก็เยอะด้วย เป็นประสบการณ์ที่ดีแล้วก็สนุกมาก ๆ เลยครับ แต่วันนั้นแดดแรงมากเลยนะ ลืมเรื่องแดดไปเลยเอาจริง มันสนุกมากอะ ไม่เคยเล่นฉากแอ็กชันที่มันมีมวลคนเยอะขนาดนั้น” – เบนจามิน วาร์นี

 

มุมมองก่อนและหลังเข้าเรือนจำ

การต้องรับบทเป็นนักโทษ ในหนังที่เล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ คือโอกาสไม่กี่ครั้งในชีวิตของเหล่านักแสดงที่จะได้ไปแตะบทบาท แตะตัวละครที่เป็นดั่งขั้วตรงข้าม ซึ่งแน่นอนว่าก่อนที่พวกเขาจะได้มารับบทเป็นวัยหนุ่มเหล่านี้ นักแสดงแต่ละคนก็ล้วนมีภาพจำต่อวัยหนุ่มคล้าย ๆ กัน แต่ในขณะเดียวกันการได้มาสวมบทบาทเป็นวัยหนุ่มเองก็ทำให้พวกเขาได้พบเฉดสีที่แตกต่างกันออกไป เห็นมิติที่หลากหลายมากขึ้น และมีมุมมองต่อเหล่าวัยหนุ่มที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

 

ณัฏฐ์ กิจจริต: 

 

“ผมเคยหลงตัวเองว่าผมจะหาคำตอบให้เรื่องนี้ได้ ผมเคยคุยกับพี่จ๋ายว่า Content เรา Sensitive เนอะ เราต้องเราระแวดระวังในการจะโปรโมทถึงหนังเราหรือจะเชิญชวนคนอะไรอย่างเงี้ย แล้วก็เข้าใจมาตลอดว่าเดี๋ยวระหว่างถ่ายเดี๋ยวแม่งเจอแน่นอนคำตอบเนี่ย ปรากฏว่าถ่ายเสร็จออกมาอะครับ ความน่ากลัวคือมันไม่มีคำตอบอะครับ มันมีแต่คำถาม มันมีแต่คำถามที่แม้กระทั่งเราที่อยู่ในซีน เราก็ยังไม่เจอคำตอบสักเท่าไหร่นะ 

 

อย่างผมเชื่อว่าคนจะออกไปแล้วถกเถียงกันแน่นอนว่าถ้าเป็นกู้ยิงถ้าเป็นกูไม่ยิงหรอก ถ้าเป็นกูทำอย่างนี้อย่างนั้น แต่สุดท้ายเรื่องหนึ่งที่คนไม่ได้มีเวลาคิดอ่ะครับ ก็คือเวลาคือสุดท้ายแล้วโมเมนต์ก่อนที่มันจะยิง ก่อนที่มันจะกด Trigger ตรงนั้นมันแค่เสี้ยววินาทีแล้วตัวละครผมแค่เป็นคนที่ไม่ทันตัวเองเฉย ๆ แล้วเขาแค่พยายามเก็บกวาด ผลกระทบหลังจากนั้นเฉย ๆ มันเลยยากที่จะที่จะหลงตัวเองแล้วบอกว่าสุดท้ายเผือกสอนอะไร 

 

ผมรู้สึกว่าความรู้สึกที่แตกต่างจริง ๆ ที่จับต้องได้เลย อยากให้ชวนมาดูมากกว่าว่าไม่ได้อยากชวนมาช่วยตัดสินด้วยนะ ว่าแบบถ้าเป็นชั้นยิงถ้าเป็นชั้นไม่ยิงอะไรเงี้ย ผมแค่อยากชวนมาดูว่า เออดูแล้วคงมีคำตอบของตัวเองกันแหละว่าอยากจะจัดการชีวิตตัวเองกันยังไงต่ออะไรอย่างเงี้ยครับ”

 

เป้ – อารักษ์ อมรศุภศิริ:

 

“เปลี่ยนแปลงแน่นอนครับคือเราไม่ได้ตัดสินเขาจากการที่เขาเคยติดหรือเปล่าแล้วอ่ะ แต่ว่าตัดสินเขากับการเป็นมนุษย์ตอนนี้มากกว่าซึ่งมนุษย์ทุกคนมันก็มีมีหลายด้าน

 

ก็คิดว่าเรื่องนี้น่าจะทำให้คนมองคนในคุกอีกแบบ เป็นการให้โอกาสกัน เช่นเดียวกันคนที่เคยติด ผมคิดว่าก็ไม่น่าจะอยากติดนะถ้าดูเรื่องนี้ หรือว่าคนที่ไม่เคยติดดูแล้วก็ไม่น่าจะอยากติดได้นะครับ”

 

จ๋าย – อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี

 

ต่างกันมาก ๆ เลยครับ ยิ่งไปเจอนักแสดงสมทบที่เขาเป็นนักโทษ ที่เคยเป็นนักโทษจริง ๆ มาก่อน ด้วยลุคคาแรกเตอร์ของเขา เราก็เหมือนคนทั่วไป เราเป็นนักแสดง เราก็คิดว่า เขาก็คงจะแบบเป็นอย่างที่ภาพจำที่เราเคยคิดไว้ ก็คงจะมีความตึง ๆ หน่อยเข้ากับคนได้ยาก 

 

แต่เปล่าเลย พวกเขาน่ารักมาก ๆ นะฮะ แล้วเขาก็ให้เกียรติพวกเรามาก ๆ แล้วก็เฟรนด์ลี่มาก ๆ แล้วเขาก็ตั้งใจมาก ๆ พยายามมาก ๆ ที่จะทำในหน้าที่ของเขาให้เต็มที่สุด มันก็เลยทำให้งานหรือหนังเรื่องนี้ผ่านออกมาได้แบบราบรื่น”

 

ท็อป – ทศพล หมายสุข

“ข้างในมันรวมคนไว้เยอะมากเลยนะครับ แล้วมันก็ต่างที่มา ต่างที่ไป ในการถูกนำมารวมกัน บางคนตั้งใจ บางคนเจตนาทำสิ่งนั้น บางคนไม่เจตนา จะชอบถูกถามแบบนี้ครับ เจตนาไม่เจตนา โดนกี่ครั้งแล้ว 

 

ในความรู้สึกผมอ่ะคือมันตัดสินคนไม่ได้เลยครับว่าเรารู้สึกยังไงกับพี่ ๆ ที่เคยผ่านประสบการณ์นี้มา แต่ผมหน้าชา..รู้อย่างนึงก็คือถ้าเลือกได้ไม่มีใครอยากเข้ามาอะครับ แล้วการที่ก้าวพ้นคำว่าเลือกได้ไม่เข้ามา แม่งเป็นเรื่องแบบเสี้ยววินาทีทั้งนั้นอะครับ แค่เสี้ยววินาที

 

 บางคนอาจจะโอเครู้อยู่แล้วว่าทำสิ่งนี้เดี๋ยววันนึงถ้าเกมจะต้องโดน แต่ทุกคนก็คิดว่าตัวเองจะต้องไม่เกม หรือบางคนก็แบบถ้าย้อนไปได้จะไม่ทำอันนี้ ถ้าย้อนไปได้กูใจเย็นกว่านี้หน่อยอะไรแบบนี้ครับ มันก็เป็นเรื่องของภาวะอารมณ์ ภาวะการตัดสินใจในช่วงเวลาสั้น ๆ ทั้งนั้นครับ”

 

เอม – ภูมิภัทร ถาวรศิริ

 

“เปลี่ยนไปตลอดเวลา ตั้งแต่ก่อนถ่าย ตั้งแต่ระหว่างถ่าย ตั้งแต่หลังถ่าย หรือตั้งแต่ ณ โมเม้นต์นี้ มันไม่ใช่การเปลี่ยนในแง่ดีไม่ดี มันคือการเข้าใจเขามากขึ้นเรื่อย ๆ เข้าใจจากปกติที่เราเข้าใจคน ๆ หนึ่งประมาณหนึ่ง แล้วพอเราใช้เวลากับเขา แล้วจากที่เราคิดว่าเราเข้าใจพอแล้ว ดีแล้ว ประมาณนี้แล้ว เรายังเข้าใจเขาได้มากขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายทุกคนคือมนุษย์นะฮะ ทุกคนคือมนุษย์อยู่ดีฮะ ผมไม่ชอบเวลาเห็นคนที่เห็นคนไม่เท่ากันอะ”

 

——————————————————-

 

เกร็ดภาพยนตร์

 

เป้ อารักษ์ และ พุฒิพงษ์ นาคทอง ร่วมงานกันครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง รัก/สาม/เศร้า ซึ่งในตอนนั้นผู้กำกับพุฒิทำหน้าที่เป็น Reporter ในกองถ่าย

– เผือกเป็นตัวละครที่มีประสบการณ์เคยเป็นมวยล้มมาตลอดว่า ซึ่งณัฏฐ์ กิจจริตเผยว่า

 

“มันมีหลายเฉดที่ผมที่ผมชอบในการเป็นเผือกเพราะมันแบบมันอั้นดีอะ มันแบบเหมือนโดนปลดอาวุธตลอดเวลา จะต่อยตีก็ไม่ได้ร่างกายเราโดนมาแล้ว เผือกไม่มีอาวุธเป็นคำพูด ไม่มีอาวุธเป็นร่างกาย มันแบบทน ๆ ๆ”

 

– วัยหนุ่ม 2544 ถ่ายทำในช่วงหน้าร้อนปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ร้อนที่สุด

– หลังจากถ่ายทำภายนตร์เรื่องนี้เสร็จณัฏฐ์ กิจจริต เผยว่าเขากลายเป็นคนที่ใช้ชีวิตระวังมากขึ้น 

– ณัฏฐ์ กิจจริตและเป้ อารักษ์ ตัดสินใจเล่นภาพยนตร์เรื่องวัยหนุ่ม 2544 ตั้งแต่รู้เรื่องโปรเจกต์

– เหตุผลที่ จ๋าย อิชณน์กร ตัดสินใจเล่นวัยหนุ่ม 2544 เพราะเรื่องราวของวัยหนุ่ม 2544 เป็นโลกที่เขาไม่เคยสัมผัส

 

 “มันเป็นโลกที่เราไม่เคยได้สัมผัส แล้วก็มีโอกาสน้อยที่จะได้สัมผัส หรือแม้แต่ได้รับรู้นะฮะ ผมว่ามันเป็นโอกาสที่ดีโดยเฉพาะในฐานะนักแสดงแล้ว ที่เราจะได้ลงไปค้นคว้า ค้นหา หรือแม้แต่ลงไปรู้สึกในแบบที่ตัวละครรู้สึก”

 

– เดิมทีแล้วผู้กำกับบอกว่าจะไม่มีการลบรอบสักของจ๋าย อิชณน์กรออก

“เมคอัปรอยสักกับทำแผลเป็นใช้เวลานานครับ นานจนเจ็บปวดใจ เพราะว่าผู้กำกับเนี่ยเขาบอกผมว่า เรื่องนี้จะไม่มีลบรอยสักอะไรทั้งนั้น แล้วเขาก็ลบรอยสักผม แล้วก็เติมลายสักผมแล้วก็ทำแผลเป็นผมด้วย เฮ้อ..! (ตอบแบบติดตลก)”

 

– หนึ่งในฉากสำคัญของเรื่องคือฉากชิงตัว ซึ่งเป็นทั้งจุดเปลี่ยนของเรื่อง และจุดเปลี่ยนของหลาย ๆ ตัวละคร

– สิ่งที่ยากที่สุดในการรับบทบังกัสของจ๋าย อิชณน์กรคือการต้องเล่นเป็นตัวละครรองคอยซัพพอร์ตตัวละครหลักให้ไปสู่จุดจบให้ได้ดีที่สุด
– สิ่งที่ จ๋าย อิชณน์กร ได้จากการเล่นหนังเรื่องนี้คือมันทำให้เขาเข้าใจ เห็นใจ และรู้สึกรับผิดชอบต่อฐานแฟนเพลงบางกลุ่มมากขึ้น

– เดิมทีแล้วตัวละครกอล์ฟของเบนจามินจะมีรอยสักคำว่าไอลดา แต่จากการพูดคุยกับผู้กำกับทำให้ท้ายที่สุดรอยสักไอลดาก็ถูกปัดตกไปและเปลี่ยนไปพูดถึงไอลดาในบทแทน

– อีกหนึ่งในที่มาของรอยสัก Made In Thailand ของกอล์ฟ มาจากที่ เบนจามิน ต้องการสะท้อนเรื่องของลูกครึ่งในประเทศไทย 

 

“จริง ๆ เมืองไทยอะถ้าดูดี ๆ จะมีลูกครึ่งเยอะฮะ มันจะมีลูกครึ่งเยอะที่เกิดมาแล้วมีปัญหาในครอบครัวเยอะนะบ้านเรา จริง ๆ แล้วตัวเด็กก็คือเป็นลูกครึ่งก็จริง หน้าฝรั่งก็จริง แต่ภาษาอังกฤษไม่ได้เลย เราก็อยากเน้นเรื่องพวกนี้ เราก็เลยอยากสัก Made in Thailand ครับ”

 

– ทรงผมสกินเฮดของเผือกคือสิ่งที่อยู่ในบทมาตั้งแต่แรก และนั่นทำให้ ณัฏฐ์ กิจจริต ไม่มีปัญหากับการที่จะต้องตัดผม 

– เอมเผยว่าการจัดสกินเฮดเองก็มีผลต่อการรับบทเป็นฟลุ๊คเช่นกัน

 

“เป็นไปได้ครับเพราะว่าเขาก็หวงผมเขานะเพราะฟลุ๊คเขาหวงผมเขา แต่ผมไม่ได้ห่วงผมขนาดนั้น ก็เลยอาจจะมีความง่ายขึ้นในแง่ของ Physical ที่เปลี่ยนไป”

 

–  เป้ อารักษ์ ต้องมีการถ่ายฉากอาบน้ำกลางแดน ซึ่งทำให้จนถึงทุกวันนี้เขายังคงมีรอบไหม้เป็นรูปรอยสักติดตัวอยู่

– บทเบียร์คือการพลิกคาแรกเตอร์ครั้งสำคัญของเป้ อารักษ์ สู่การรับบทเป็นตัวร้าย

– เพื่อรับบทบอย ท็อป-ทศพล ต้องฟิตหุ่นและลดน้ำหนักภายในระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งเขาน้ำหนักลดลงไปถึง 10 กิโลด้วยกัน

– บทบาทของบอยนั้นมีความแรงมาก ๆ ถึงขั้นที่ผู้กำกับพุฒิเตือนกับท็อป-ทศพลว่า อาจจะโดนเกลียดได้เลย

คือผมไม่รู้ว่าพี่พุฒิมองเห็นอะไรในตัวว่าแบบ จากตุ้มเม้งที่เล่นแบบนั้น จะเปลี่ยนเทิร์นมาเป็นบอยที่ฉีกจักรวาลขนาดนี้ มันคนละเส้นนิสัยกันอะครับ 

 

เรื่องนั้นผมใช้คำว่าถูกกระทำแล้วกัน เรื่องนี้คือกระทำเขาจนแบบว่าพี่พุฒิบอกว่า ‘ท็อปครับ ท็อปอาจจะถูกเกลียดได้นะครับเรื่องนี้’ ผมเลยบอกว่า ‘ได้พี่ถ้าเกิดว่าเขาเกลียดมากจริง ๆ ผมก็จะดีใจกับพี่พุฒิด้วยว่า เออบทบอยมันไปถึงตามที่พี่พุฒิอยากให้เป็นแล้วครับ” 

 

– ตัวละครกร เป็นตัวละครที่ไม่มีบท

 

“คือว่าบทไม่มี แต่มีคิวให้คุณ ใช่ครับ..มันเป็นอะไรที่บ้ามาก ๆ ครับ” – ต้น อรุณพงค์

 

– เพราะไม่มีบททำให้ต้น อรุณพงค์ มาดีไซน์และตีความตัวละครในวันถ่ายทำ

– กรเป็นตัวละครที่อยู่ในคุกตั้งแต่แรก

– เดิมทีแล้วก่อนจะมาเป็นนักแสดงต้น อรุณพงค์เคยเป็นช่างสักมาก่อน

– เพราะมีรอยสักตามตัวเยอะอยู่แล้วตัวละครกรของต้น อรุณพงค์จึงไม่ได้มีการสักเพิ่มเติมจากของเดิม

– วัยหนุ่ม 2544 คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่ต้น อรุณพงค์ต้องเล่นฉากแอ็กชัน

– เดิมทีแล้วต้น อรุณพงค์ เคยไปแคสต์ 4Kings 2 มาก่อน

– ด้วยความที่ภาพลักษณ์กลมกลืนกับทีมนักแสดง Extra ทำให้ในที่แรกเป้ อารักษ์ และท็อป ทศพล กลัวต้น อรุณพงค์จนไม่กล้าเข้าไปคุยด้วย