2 ตุลาคม 2563 – ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น ประกาศยึดมั่นจุดยืนในการสนับสนุนข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Global Compact หลังลงนามในแถลงการณ์ The Statement from Business Leaders for Renewed Global Cooperation เพื่อผนึกกำลังกับผู้นำธุรกิจจากทั่วโลกในการผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “The Statement from Business Leaders for Renewed Global Cooperation หรือคำแถลงการณ์ของผู้นำธุรกิจเพื่อสานต่อความร่วมมือระดับนานาชาติ เป็นนโยบายใหม่ของสหประชาชาติที่ประกาศใช้ในเดือนกันยายน 2563 เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของการก่อตั้งสหประชาชาติ และ 20 ปี ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ ซึ่งทุกองค์กรธุรกิจที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าวถือว่าได้ให้คำมั่นที่จะทำงานร่วมกันในระดับสากล อย่างมีความรับผิดชอบ จริยธรรม และความโปร่งใส เพื่อสนับสนุนประเด็นสำคัญต่างๆ ตามที่ทางสหประชาชาติได้กำหนดไว้”
ภายใต้แถลงการณ์ฉบับนี้ องค์กรที่ลงนามจะต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำที่มีจริยธรรมและธรรมาภิบาลผ่านกลยุทธ์ นโยบาย การปฏิบัติงานและความสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้องกับองค์กร มุ่งจัดการกับระบบที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและความอยุติธรรม ผ่านกระบวนการตัดสินใจที่ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในตลอดทุกระดับขององค์กรธุรกิจ ให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติ รัฐบาล และภาคประชาสังคม ผลักดันให้เกิดการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ตรวจสอบความรับผิดชอบและความโปร่งใส สร้างความแน่นอนของระบบกฎหมาย รวมถึงส่งเสริมความเสมอภาคและเคารพสิทธิมนุษยชน
“ในฐานะที่เป็นสมาชิกหนึ่งในสังคมโลก เอปสันได้แสดงถึงความแน่วแน่ในการรับผิดชอบต่อสังคมในมุมต่างๆ ทั้งการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ ยึดหลักสิทธิมนุษยชน การรักษาสิ่งแวดล้อม การว่าจ้างบุคลากรที่มีความหลากหลาย และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมต่างๆ อย่างจริงจัง และมุ่งมั่นที่จะหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ทั้งยังพยายามที่จะพัฒนาบริษัทฯ ให้ก้าวขึ้นเป็นองค์กรที่สังคมขาดไม่ได้ ผ่านการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมขององค์กรและด้วยการมีบทบาทสำคัญในการสร้างโลกให้ดียิ่งขึ้นผ่านผลิตภัณฑ์และบริการของเอปสัน” นายยรรยง กล่าว
ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Global Compact (UNGC) ถูกริเริ่มขึ้นโดยเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้องค์กรธุรกิจทุกแห่งทั่วโลกผสานการปฏิบัติงานและกลยุทธ์ โดยยึดหลักสากล 10 ประการของ UNGC ที่ครอบคลุมทั้งด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต ข้อบังคับของ UNGC ที่ถูกเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2543 ได้ชี้นำและสนับสนุนวงการธุรกิจทั่วโลกให้พัฒนาตามเป้าหมายและคุณค่า
ที่กำหนดโดยสหประชาชาติ ผ่านแนวทางปฏิบัติขององค์กรที่มีความรับผิดชอบ โดยมีบริษัทมากกว่า 10,000 แห่งและผู้ลงนามที่ไม่ใช่ธุรกิจ 3,000 รายในกว่า 160 ประเทศ รวมถึงเครือข่ายท้องถิ่นมากกว่า 60 ราย เข้าร่วม จึงทำให้ UNGC เป็นโครงการความริเริ่มด้านความยั่งยืนขององค์กรที่ใหญ่ที่สุดในโลก