โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งที่พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลฯ รวมถึงประชาชนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ที่ได้ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมเรียบร้อยแล้ว
จากข้อมูลปัจจุบันของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้ารับฉีดวัคซีนโควิด-19 เต็มจำนวนตามที่ได้รับการจัดสรรจากภาครัฐแล้วโดยเริ่มฉีดในวันที่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 พร้อมกันกับโรงพยาบาลและจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ เป็นเวลา 54 วันต่อเนื่องโดยไม่มีวันหยุด ซึ่งเป็นไปตามระยะเวลาที่รัฐกำหนดให้ประชาชนกลุ่มแรกเข้ารับบริการ รวมจำนวนกว่า 15,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 100 ปี จำนวน 3 ราย ได้ลงทะเบียนขอเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถือเป็นแบบอย่างที่ดีและยังช่วยกระตุ้นให้กลุ่มผู้สูงอายุกล้าที่จะตัดสินใจเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและลดการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงหากป่วยเป็นโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีน ความมั่นใจในศักยภาพของทีมแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และคุณภาพมาตรฐานของโรงพยาบาลฯ โดยผู้สูงอายุกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้เตรียมความพร้อมในทุก ๆ มิติ อาทิ ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ การให้บริบาลทางการแพทย์ขั้นสูง คุณภาพมาตรการการดูแลผู้สูงวัยและผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับวัคซีนเป็นสำคัญ
เภสัชกรหญิงอาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า นับตั้งแต่บำรุงราษฎร์ทราบถึงแนวทางการกระจายฉีดวัคซีนตามที่ภาครัฐจัดสรรให้แก่ประชาชนผ่านจุดฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลต่างๆ นั้น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์พร้อมที่จะสนับสนุนเพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง จึงได้วางแผนถึงกระบวนการในการฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบเพื่อความพร้อมในการเปิดให้บริการแก่ประชาชนในระยะแรก สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป โดยบำรุงราษฎร์ได้คำนึงถึงคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล พร้อมจัดทีมแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และสหสาขาวิชาชีพเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำและดูแลผู้มาใช้บริการอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน ทั้งก่อนการฉีด ระหว่างการฉีด โดยเฉพาะหลังการฉีด 30 นาที จำเป็นต้องมีการสังเกตอาการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และในกรณีที่ผู้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนมีเหตุจำเป็นที่ต้องออกนอกบริเวณ ควรต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบ และหลังจากครบ 30 นาทีก่อนกลับบ้านจะมีการวัดสัญญาณชีพเพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับการฉีดมีภาวะปกติ ในกรณีหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ จะมีแพทย์และทีมฉุกเฉินประจำจุดฉีดวัคซีน ห้องปฐมพยาบาล พร้อมด้วยรถเข็นฉุกเฉิน (emergency cart) ที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนยาและเวชภัณฑ์ตามมาตรฐานสากลที่สามารถให้การดูแลช่วยเหลือได้ทันท่วงที นอกจากนี้ โรงพยาบาลฯ ยังอำนวยความสะดวก โดยจัดลำดับการรับบริการ แบบทางเดียว ให้ผู้มารับวัคซีนอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างและลดการสัมผัสที่ไม่จำเป็น รวมถึงห้องฉีดวัคซีนที่ให้บริการครั้งละหนึ่งคนไม่ปะปนกับใคร มีฉากกั้นเพื่อความเป็นส่วนตัวอีกด้วย
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้จัดจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ชั้น 10 อาคาร A (อาคารคลินิก) ตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.00 น. โดยมีการกำหนดขั้นตอนการรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ดังนี้
1. ผ่านจุดคัดกรองโควิด-19 ตามมาตรการด้านสาธารณสุข
2. จุดลงทะเบียน โดยให้แสดงบัตรประชาชน พร้อมหลักฐานการนัดฉีดวัคซีนจากโรงพยาบาลฯ หรือหมอพร้อม
3. ตรวจคัดกรอง วัดสัญญาณชีพและลงนามในใบยินยอมรับวัคซีน
4. รอรับการฉีดวัคซีน
5. ฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยพยาบาลวิชาชีพ
6. พักสังเกตอาการ 30 นาที ขอความร่วมมือในการอยู่พักสังเกตอาการจนครบตามเวลาที่กำหนด โรงพยาบาลฯ มีการเตรียมพร้อมตามมาตรฐานในกรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์
7. จุดตรวจสอบก่อนกลับ วัดสัญญาณชีพ
8. ข้อแนะนำหลังฉีดวัคซีน การนัดฉีดวัคซีนเข็มที่ 2
9. ลงข้อมูลบน ‘หมอพร้อม’ และสมัครแอปพลิเคชัน Bumrungrad เพื่อรับข้อมูลข่าวสารจากทางโรงพยาบาลฯ
10. เสร็จสิ้นขั้นตอนการฉีดวัคซีน
นพ. อชิรวินทร์ จิรกมลชัยสิริ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลวัคซีนโควิด-19, หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม, แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้คำแนะนำแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง ว่าควรได้รับการฉีดวัคซีน หากไม่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีน เนื่องจากผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงถึงชีวิตหากติดเชื้อโควิด- 19 ได้ สำหรับอาการแพ้วัคซีนนั้นแยกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ 1. การแพ้วัคซีนรุนแรง (anaphylaxis) 2. ผลข้างเคียงของวัคซีน (side effects) หรือ 3. อาการเป็นลม (vasovagal syncope) ที่อาจเกิดจากความเครียด เจ็บปวด ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติหยุดทำงานชั่วคราว จนเกิดอาการหน้ามืด ใจสั่น เป็นลม หมดสติได้ โดยมีวิธีสังเกตอาการ และวิธีปฏิบัติตัว ดังนี้
1. ภาวะแพ้วัคซีน เป็นปฏิกิริยาของร่างกายผ่านระบบภูมิคุ้มกัน ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 มักเกิดขึ้นภายในเวลา 15–30 นาทีหลังรับวัคซีน ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยที่สุดคือ ผื่นคันคล้ายลมพิษ อาจมีอาการบวม นอกจากนี้อาการที่พบร่วมกันได้แก่ หายใจเหนื่อย แน่นหน้าอก ชีพจรเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ โดยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นหลายระบบพร้อมกัน ซึ่งจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลด้วยการให้ยาฉีดที่เป็น Adrenaline หรือ Epinephrine แล้วอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายในเวลา 24 ชั่วโมง
2. ผลข้างเคียงของวัคซีน มักจะเกิดขึ้นหลังฉีดไปหลายชั่วโมง จนถึง 3 วัน อาการที่เกิดขึ้น เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด อาการมักหายไปเองได้ โดยไม่ต้องให้การรักษา หรือรักษาตามอาการ แต่หากมีอาการปวดมาก อาจประคบด้วยความเย็นบริเวณที่ฉีดวัคซีน แล้วให้ยาแก้ปวดพาราเซตตามอล
3. อาการเป็นลม เป็นอาการหน้ามืดที่สามารถพบได้บ่อยในผู้ที่มีสุขภาพร่างกายหรือจิตใจอ่อนแอ เช่น คนป่วย อดนอน หิว หรืออยู่ในสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อน แสงแดด ความเครียด ความวิตกกังวล ยืนเป็นเวลานาน เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หน้าซีด เหงื่อแตก ความดันโลหิตลดต่ำลงและเป็นลมหมดสติได้ โดยภาวะดังกล่าวสามารถหายได้เอง หากได้พักผ่อน อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี และไม่มีความจำเป็นต้องได้ยารักษา
ในกรณีที่ผู้มาฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีผลข้างเคียงหรือแพ้เล็กน้อยแบบไม่รุนแรง สามารถรับวัคซีนเข็มที่สองได้ตามกำหนด ไม่มีข้อห้ามในการรับฉีดวัคซีนเข็มต่อไป แต่สำหรับกรณีที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis) แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีนเข็มที่สอง เพื่อหาสาเหตุว่าอาการแพ้ชนิดรุนแรงเกิดจากอะไร และปรับการฉีดวัคซีนเข็มที่สองเป็นอีกยี่ห้อที่มีส่วนผสมที่ต่างจากวัคซีนเข็มแรก ซึ่งสาเหตุที่แพ้วัคซีนชนิดรุนแรงมักเกิดจากส่วนประกอบที่มีอยู่ในวัคซีน ที่พบบ่อยคือ Polyehtylene glycon (PEG) ซึ่งวัคซีน/ยาที่มีส่วนประกอบของ PEG ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA vaccine (Pfizer หรือ Moderna) ยาฉีด methylprednisolone ยาคุมชนิดฉีด (Depo–Provera) ยาระบาย miralax หากมีประวัติแพ้รุนแรงต่อกลุ่มนี้ อาจให้วัคซีนกลุ่มอื่น เช่น Sinovac vaccine เพราะไม่มีส่วนผสมเหล่านี้อยู่ อีกส่วนประกอบอื่นในวัคซีนที่อาจแพ้ คือ polysorbate ซึ่งมีรูปร่างคล้าย PEG ทำให้อาจพบการแพ้ร่วมกันได้ (cross–reactivity) ซึ่งวัคซีนที่มีส่วนประกอบของ polysorbate ได้แก่ ตับอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดบวม วัคซีนโควิด –19 ของ AstraZeneca, Sputnik–V, Johnson & Johnson
หากพบว่ามีอาการรุนแรงหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือรับคำปรึกษาได้ที่ศูนย์ข้อมูลวัคซีนโควิด-19 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โทร. 1378 และสามารถติดตามบทความสุขภาพของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ที่ https://www.bumrungrad.com/th/centers/covid19-vaccine-Information
———————————————