ข้อมูลล่าสุดจากสาธารณสุขประเทศอังกฤษ (PHE) แสดงให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าสามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้า (B.1.617.2 เดิมคือสายพันธุ์อินเดีย) ได้ในระดับสูง

ข้อมูลการใช้วัคซีนที่เผยแพร่ในเอกสารก่อนการตีพิมพ์(pre-print) โดย สาธารณสุขประเทศอังกฤษ พบว่าหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าครบทั้งสองเข็มแล้ว วัคซีนมีประสิทธิผลสูงถึง 92% ในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและไม่มีผู้ที่เสียชีวิตจากสายพันธุ์เดลต้าในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน โดยรายงานดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าที่สามารถป้องกันสายพันธุ์อัลฟ่า (B.1.1.7 เดิมคือสายพันธุ์อังกฤษหรือเคนท์) โดยมีประสิทธิผลสูงถึง 86% ในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและไม่มีรายงานการเสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน

 

ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิผลต่อการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการน้อย (mild symptomatic disease) ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยวัคซีนมีประสิทธิผลสูงถึง 74% ในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจากสายพันธุ์อัลฟ่า และ 64% จากสายพันธุ์เดลต้า

ประสิทธิผลที่สูงขึ้นของวัคซีนในการลดความรุนแรงของโรคและการนอนรักษาในโรงพยาบาลพิสูจน์ได้จากการที่ทีเซลล์มีการตอบสนองต่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งสัมพันธ์กันกับการป้องกันที่นานและมีประสิทธิภาพสูงด้วย

เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนา BioPharmaceuticals กล่าวว่า จากข้อมูลการใช้วัคซีนจริงแสดงให้เห็นว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า สามารถป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าในระดับที่สูง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ผู้คนต่างมีความกังวล เนื่องจากสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะยังมีบทบาทสำคัญมากทั่วโลก โดยยังคงมีความต้องการใช้วัคซีนในปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะในประเทศอินเดียและประเทศที่เข้าร่วมในโครงการ COVAX”

 

จากการวิเคราะห์ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ารวม 14,019 ราย ในประเทศอังกฤษ มี 166 ราย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 12 เมษายน ถึง มิถุนายน 2564

ข้อมูลการใช้วัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้านี้ รวบรวมจากการติดตามผลแบบเฉพาะกลุ่มสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สองแล้ว ซึ่งอาจส่งผลต่อการประเมินประสิทธิผลของวัคซีน

ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในอนุทวีปอินเดียและมีแนวโน้มจะระบาดไปในประเทศต่างๆทั่วโลก ปัจจุบัน สายพันธุ์เดลต้าได้เข้ามาแทนที่สายพันธุ์อัลฟ่าที่แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศสกอตแลนด์และเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหราชอาณาจักร โดยคณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกันขององค์การอนามัยโลก (Strategic Advisory Group of Experts on Immunization – SAGE) ได้แนะนำให้มีการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หรือ เดิมเรียก AZD1222

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าถูกคิดค้นและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัท วัคซีเทค ซึ่งก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้ โดยหลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ในกว่า 70 ประเทศ ครอบคลุม 6 ทวีปทั่วโลกแล้ว และจากการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้จะช่วยเร่งให้มีการเข้าถึงวัคซีนใน 142 ประเทศผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโครงการโคแวกซ์

 

เกี่ยวกับ แอสตร้าเซนเนก้า

แอสตร้าเซนเนก้า (ชื่อย่อหลักทรัพย์ AZN ในตลาดหลักทรัพย์ LSE/ STO/ Nasdaq) เป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นทางด้านการคิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยาเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มยาโรคมะเร็ง กลุ่มยาโรคหัวใจ ไต และระบบเผาผลาญ และกลุ่มยาโรคทางเดินหายใจ แอสตร้าเซนเนก้า มีฐานอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศ และมีผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมยาต่างๆ จากแอสตร้าเซนเนก้า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาไปยังเว็บไซต์ astrazeneca.com และช่องทางทวิตเตอร์ @AstraZeneca