บพข. และ สกสว. กองทุน ววน. นำเสนอผลการศึกษาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย เข้าสู่คณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ เผย จังหวัดใหญ่ที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวมากได้รับผลกระทบหนัก ผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีสภาพคล่องเพียงพอให้อยู่ได้เพียง 6 เดือน แรงงานในภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบถ้วนหน้า มาตรการเยียวยาจากภาครัฐที่ผ่านมาเป็นมาตรการทั่วไป ไม่ได้เป็นมาตรการเฉพาะที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เล็งเห็นถึงความสำคัญ พร้อมนำผลการศึกษาไปใช้ประกอบการร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ จาก สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในฐานะผู้อำนวยการแผนวิจัย “การศึกษาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย” ตามแผนงานสนับสนุนทุนวิจัย แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้ กองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ได้นำเสนอผลวิจัยต่อคณะกรรมการกลั่นกรองวาระการประชุม คณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ

ผลการศึกษา ย้ำให้เห็นภาพผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้นเป็นรายจังหวัด กลุ่มผู้ประกอบการ และสาขาแรงงาน โดยพบว่าจังหวัดใหญ่ที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวมากจะได้รับผลกระทบมากกว่า ในส่วนของผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมีสภาพคล่องเพียงพอให้สามารถประคับประคองธุรกิจได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น ขณะที่แรงงานในภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบถ้วนหน้า

 

 

• จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยว อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 มากที่สุด คือ จังหวัดภูเก็ต กรุงเทพมหานคร และชลบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุด

• กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบ 6 เดือนแรกหลังจากเกิดวิกฤติการระบาดของโควิด-19 คือ ธุรกิจนันทนาการ รองลงมา คือ ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม แต่นับตั้งแต่เดือนที่ 7 ธุรกิจที่ยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอและสามารถประคับประคองการดำเนินธุรกิจได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น คือ ธุรกิจการขนส่ง

• กลุ่มแรงงานในธุรกิจนันทนาการเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีแรงงานได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยส่วนมากเป็นผลกระทบในด้านการถูกลดค่าจ้าง/ค่าตอบแทน และถูกลดเวลาทำงาน รองลงมาเป็นกลุ่มธุรกิจนำเที่ยว โดยส่วนมากเป็นผลกระทบในด้านการถูกลดค่าจ้าง/ค่าตอบแทน และถูกลดเวลาทำงาน

นอกจากนี้ มาตรการเยียวยาจากภาครัฐเพื่อภาคการท่องเที่ยวที่ผ่านมาเป็นมาตรการทั่วไป ไม่ได้เป็นมาตรการเฉพาะที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าหากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย นักท่องเที่ยวจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวภายใต้ความปกติใหม่ (New Normal) โดยจะเพิ่มความใส่ใจในสุขภาพอนามัย ความสะอาด ความปลอดภัย ระยะห่างทางสังคม ดิจิทัล ความเชื่อถือได้ และความรับผิดชอบต่อสังคม มากขึ้น

พร้อมเสนอภาครัฐ ควรมุ่งเน้นการช่วยเหลือผลกระทบระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและแรงงาน โดย 1) เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างกว้างขวางให้ครอบคลุมประชากรกว่าร้อยละ 70 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) เป็นลำดับแรก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและสาธารณสุข และการเตรียมความพร้อมในการเตรียมตัวเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 2) บริหารจัดการภาพรวมการแก้ไขปัญหาภาคการท่องเที่ยวอย่างบูรณาการและเป็นระบบ และช่วยเหลือผู้ประกอบการแบบเฉพาะกลุ่มเรียงตามลำดับความเร่งด่วน รวมทั้งตั้งกองทุนช่วยเหลือและสนับสนุนธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว 3) ช่วยเหลือและเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยพัฒนาทักษะของแรงงานภาคการท่องเที่ยวทั้ง Upskill และ Reskill โดยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับภาคการท่องเที่ยวอย่างเต็มศักยภาพ ภายใต้บริบทของความปกติใหม่ (New Normal)