จากเด็กหนุ่มผู้ผลิต คิด และทำหนังสั้นประกวดมากว่า 70 เรื่อง ทุกเวทีทั้งในประเทศ และต่างประเทศ  จากหนุ่มที่เคยฝันและตั้งใจว่าอยากจะเล่า ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ แนวคิด ความแปลกใหม่ ไอเดีย ผ่านแผ่นฟิล์ม จากคนที่ล้มเหลวประสบปัญหาแบบ อุบัติเหตุ ช่วงวิกฤติที่สุดของชีวิต จนถึงวันที่เขามีแรง มีพลัง มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท จนไปคว้ารางวัลชนะเลิศในเวทีระดับโลกที่ เกาหลีใต้ จนได้.                                                        ………………………………………

“บิ๊ก – ณภัทร ตั้งสง่า”

บิ๊ก ณภัทร  คุณคือใครครับ  ?

สวัสดีครับ ผมบิ๊ก – ณภัทร ตั้งสง่า ปัจจุบันเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ นักเขียนบท ผู้อำนวยการสร้าง

ผมจบการศึกษา ปริญญาตรีนิเทศศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภาควิชาภาพยนตร์ (ทุนBU Creative และ ทุน BU to NEW YORK)

ปริญญาโท นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขา Digital Marketing มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (ทุนศิลปิน)

– เป็นตัวแทนไทยที่ได้รับรางวัลด้านภาพยนตร์ในระดับประเทศและระดับนานาชาติรวมแล้วกว่า30เวที และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยประจำปี 2013 เข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้นำเยาวชนด้านภาพยนตร์ระดับเอเชีย (Film Leaders Incubator) ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ และที่เกาะ  ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น

– เป็นตัวแทนประเทศไทยนำภาพยนตร์สั้นไปฉายในหมวดShortFilm Corner เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2015

– ได้รับทุน Fantastic Film School จากเทศกาลภาพยนตร์ Bucheon International Fantastic Film Festival (BIFAN) ในปี 2018

– เป็นตัวแทนประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุน AFiS Busan Asian Film School โรงเรียนชั้นนำด้านภาพยนตร์ติดอันดับโลกของเกาหลี ในช่วงปี 2020-2021 และได้รับรางวัลชนะเลิศพิชชิ่งโปรเจคภาพยนตร์ขนาดยาวจากโรงเรียน และหน่วยงาน Busan Film Commission

– นอกจากนี้ก็เป็นเจ้าของผลงานหนังสือBest Sellerสองเล่ม “สร้างเงินล้านผ่านViral Clip” และ “Born 2 Succeed ฝันใหญ่ ใจต้องนิ่ง” เป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยกรุงเทพในด้าน Digital Content และ International Media เคยได้รับเลือกให้เป็นเยาวชนดีเด่นแห่งชาติในสาขาสื่อมวลชนฯ และมีงานอดิเรกเป็นการทำคลิปรีวิวหนังในTikTok และ Youtube

2  จากวัยเด็ก ….พอโตขึ้น …..ช่วงเรียน มหาวิทยาลัย  แล้วปัจจุบัน. คุณคือใครครับ ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง.  ?

                                                                                ผมเริ่มต้นทำหนังตั้งแต่อายุ 15 ได้รับรางวัลหนังสั้นครั้งแรกตอนอยู่ม.4 ตอนสอบตกแล้วทำหนังชีวิตตัวเองดันได้รางวัล เลยเหิมเกริมย้ายสายมาเลย เราก็ได้โฟกัสกับการทำหนังสั้นจนม.6 ผลงานหนังสั้นก็ได้มีโอกาสไปฉายที่ญี่ปุ่น และเป็นครั้งแรกที่ผมได้ไปร่วมเทศกาลหนังที่ต่างประเทศและเจอเพื่อนๆทำหนังต่างชาติมากมาย

ผมเคยไปแกร่วอยู่ที่อเมริกามาเกือบปีช่วงจบ ม.6 ตอนนั้นอยากเข้าไปเรียนฟิล์มระดับโลก

มีช่วงที่หันไปทำหนังสั้นล่ารางวัลจนได้ฉายา นักล่ารางวัลไปเลยช่วงนึง แต่ผมมีความสุขมากๆนะครับช่วงนั้น ตอนอยู่มหาลัย มีปีนึงทำหนังสั้นไปตั้ง 15 เรื่อง ท้ายที่สุดเราก็เจอกลุ่มที่เหมาะกับเรา จนบางส่วนก็ยังทำงานด้วยกันมากับเราจนถึงทุกวันนี้

3 เล่าช่วงที่บิ้กแย่ มีปัญหา ก่อนที่จะได้ทุนไปเรียนต่อและประกวดผลงานที่ เกาหลีใต้ ให้ฟังหน่อยครับ ว่ามีเรื่องอะไรเกิดปัญหาอะไร และบิ๊กผ่านมันมาได้อย่างไร ?

                                                                             หลายๆคนอาจเจอวิกฤติชีวิตในช่วงโควิด แต่ผมโดนรับน้องก่อนหน้านั้นปีนึงครับ ปีนั้นผมเจอหลายอย่างมาก เช่น งานโดนแคนเซิลเป็นสิบงาน โดนคนใกล้ตัวโกง เผลอล้างคอมจนไฟล์สำคัญในรอบปีครึ่งหายไปแล้วกู้ข้อมูลกลับมาไม่ได้ ลาออกจากโปรเจคทำมาร่วมปี แต่วิสัยทัศน์ไม่ตรงกับลูกค้า แต่ความพีคในปีนั้นอยู่ที่วันที่ 7 เดือน 7 ของปีนั้น ในวันฝนตกกระหน่ำ

พูดตรงๆคือผม “เกือบตาย” คือประสบอุบัติเหตุลื่นล้มอย่างแรง ผลลัพธ์คือกระดูกสันหลังหักไปสองจุด ต้องนอนบนเตียงเฉยๆสามเดือน จนลุกมาใส่ชุดพยุงหลังอีกเกือบปี หลังจากนั้นผมเลยนั่งทบทวนชีวิตทั้งหมด ไปจนถึงไล่ดูหนังหลายร้อยเรื่อง

คิดอย่างเดียวว่า “ขอแค่ไม่พิการ และลุกออกไปเดินสองขาใช้ชีวิตแบบเดิมได้เราก็ดีใจแล้ว” พอเราลุกกลับมาได้ใหม่อีกครั้ง เลยสัญญาว่าจากนี้ แข่งกับตัวเองนะ  ซึ่งพอเราปล่อยวางแบบนั้น มันกลับมีความสุขกว่าเยอะเลย

ในปีนั้นคุยกับเพื่อนๆจนรู้สึกว่าอยากทำโปรเจคหนังเรื่องนึงมากๆเมื่อ Project P. หรือต่อมาที่เรารู้จักกันในชื่อ The President เมื่อผมลุกออกไปไหนมาไหนได้อีกครั้ง เลยหาคอร์สเขียนบทเพื่อพัฒนาตัวเองอย่างจริงจัง จนได้ไปเรียนคอร์สนึงที่ชื่อว่า Writer Lab ของพี่ปุ๊ก พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ คลาสนั้นเขาให้เอาโปรเจคหนังยาวมาพรีเซนหน้าห้องและพูดคุยกัน พอผมพูดจบ อยู่ดีๆก็มีพี่คนนึงที่เป็นนักเรียนร่วมคลาส ชวนผมมาพูดคุยทำความรู้จักด้วย เลยมารู้ทีหลังว่า พี่เขาไม่ใช่แค่นักเรียนในคลาส แต่เป็นผู้บริหารค่ายภาพยนตร์

 

  1.  ในช่วงนั้น บิ๊ก ได้รู้จักกับ พี่นก (คุณนก-ปัญชลีย์ นิธิจิระโรจน์” Managing Director & Executive Producer ผู้บริหาร บริษัท เอ็มเทอร์ตี้ไนน์ (M39) จำกัด ) พี่นกได้ให้คำแนะนำอะไรกับบิ๊กบ้างครับ ?

หลังจากที่ได้รู้จักพี่นก ผมจำได้ตั้งแต่วันแรกเลยว่าพี่นกสนใจโปรเจคที่ผมกำลังพัฒนาอยู่

แต่ตอนนั้นผมก็สองจิตสองใจว่าจะลุยเอาจริงกับมันเลยดีไหมนะ เพราะตอนนั้นก็มีอีกโปรเจคนึงที่รักมากๆ และพัฒนามาหลายปี อยากทำด้วยเช่นกัน แต่สุดท้าย ผมก็เบนเข็มมาที่โปรเจคนี้ก่อน เพราะเห็นถึงความเป็นได้หลายอย่างที่น่าจะทำในช่วงเวลานี้มากกว่า ประจวบเหมาะกับช่วงที่เกิดเหตุการณ์โควิด พี่นกก็โทรมาถามความคืบหน้าว่า ไปถึงไหนแล้ว? ยังทำอยู่ไหม? ตอนนั้นพอพี่เขาเชียร์อัพว่าอยากให้เรื่องนี้ได้ทำเป็นหนังใหญ่ฉายโรง เราก็รู้ละว่าแบบนี้จะมาเล่นๆไม่ได้แล้ว เลยนัดประชุมออนไลน์กันผสมออฟไลน์หลายต่อหลายครั้ง จนเราคลอดบททรีตเมนต์ซีนาริโอออกมาก่อนที่บทร่างนี้ ทางเกาหลีสนใจและให้ทุนเราไปเรียนและพัฒนาโปรเจคต่อที่นั่น ซึ่งผมก็อัพเดทส่งข่าวความคืบหน้าให้พี่นกเสมอครับ ผ่านไปอีกที 2 ปีแล้ว ตอนนี้ก็ค่อยๆสุกงอมมากขึ้นเรื่อยๆพร้อมลุยแล้วครับ ขอบคุณพี่นกและทางM39 ที่ผลักดันและให้โอกาสโปรเจคพวกเราครับ

  1. ความยาก – ง่าย ที่เข้าไปในเวทีการแข่งขันระดับโลกครั้งนี้ มันเป็นยังไงบ้างครับ เล่าให้ฟังหน่อย ?  เป็นความพยายามครั้งที่สามครับ ผมเชื่อในเรื่องโอกาสที่สามนะ

เพราะหลายครั้งคนจำนวนไม่น้อยมักโฟกัสและคาดหวังว่าโอกาสแรกและโอกาสที่สองจะสำเร็จ

แต่พอพ่ายแพ้ ก็ล้มเลิกกันไปก่อน ผมรอมาสามปี แพ้มาสองรอบ เพราะรอบนี้คือการสอบแข่งชิงทุนไปเรียนฟิล์มต่อที่เกาหลี ร่วมกับการพัฒนาโปรเจคภาพยนตร์ขนาดยาวที่นั่น และค่อยมาแข่งกันต่อว่าโปรเจคไหนที่จะได้รางวัลไปบ้างคือโรงเรียนที่ผมสมัครไปมีชื่อว่า AFiS Busan Asian Film School เป็นแหล่งรวมคอนเนคชั่นของคนทำหนังหน้าใหม่ของเอเชีย เป็นสถาบันที่ได้รับการจัดลำดับให้ติดท๊อปInternational Film School ของโลกเลยละครับ

ด้วยโลกที่เจอโรคโควิดพอดี เขาเลยแคนเซิลปีที่ผมควรจะได้ไป เลื่อนไปอีกปี สรุปคือ ปี2020กับ 2021 เลยได้เรียนรวมกันเลย ตอนนั้นมีประมาณสามสิบกว่าคนจากหลายสิบประเทศ แต่เทอมแรกเขาสอนเป็นระบบออนไลน์ มางานเข้าตรงเทอมที่สอง ที่รู้อีกทีคือ เราต้องแข่งขันอีกรอบเพื่อที่จะได้ไปเรียนเทอมต่อไปที่เกาหลี สุดท้ายคนที่ได้ไปก็เหลือเพียงสิบคน ส่วนเราก็รอดไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ จากนั้นเขาจึงมีการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับการให้เมนทอร์จากฝั่งเกาหลี อยู่ที่นั่นสี่เดือน ซึ่งบางคนเป็นทีมงานผู้สร้างหนังรางวัลระดับโลก มาประกบเราและช่วยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโปรเจค จากนั้นเขาถึงให้มีการแข่งขันพิชโปรเจคกันอีกทีแต่ในส่วนตรงนี้ เขาเปิดให้คนที่ได้เรียนออนไลน์มาตั้งแต่เทอมแรกได้แข่งขันด้วย โปรเจคที่เข้าร่วมมันเลยมี 24 โปรเจค 17 ประเทศ

สุดท้าย THE PRESIDENT ได้รับรางวัลชนะเลิศพิชชิ่ง BFC Award หรือ Busan Film Commission Award โดยทางกรรมการได้มีการคัดเลือกโปรเจคที่มีความโดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยได้รับรางวัลชนะเลิศ ร่วมกับผลงานอีกเรื่องจากประเทศ คาซัคสถาน

6 คุณคือคนรุ่นใหม่ ผู้กำกับ ที่ไปชนะการประกวดในเวทีต่างๆมามากมาย ทั้งในเวทีระด้บประเทศ ระดับนานาชาติอะไรคือแรงบันดาลใจ พลัง หรือแรงขับดันให้คุณทำมันได้ขนาดนี้ ครับ ?

ผมคิดว่ารางวัลคือผลพลอยได้ของแต่ละงานนะครับ เพราะมันเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ว่า งานแต่ละชิ้นจะพาตัวมันไปโลดแล่นในเวทีรางวัลได้ไกลแค่ไหน แต่ผมจะให้ความสำคัญกับการหาหัวใจในแต่ละการทำงานให้เจอ ว่าเราทำงานนี้เพื่อจุดประสงค์ใด หลักๆ เราก็คงอยากพัฒนาฝีมือของเรา อยากทำให้งานมันดีขึ้นเรื่อยๆ  ถ้ายิ่งงานไหนเราพบเจอความท้าทายที่มากยิ่งไปกว่านั้น เช่น มันต้องสร้าง Call to action บางอย่างให้คนดู หรือสร้าง Social Impact หรือแม้แต่การได้รู้สึกว่างานที่กำลังทำ เป็นงานที่ มีคุณค่าต่อจิตใจมากๆจนเรารู้สึกว่าไม่ว่ายังไงก็ต้องเล่ามันออกมาให้ได้ มันจะยิ่งทำให้เราพยายามทำทุกทางเพื่อให้มันออกมาเป็นงานที่ดีเท่าที่เราจะทำได้ เพราะเรารักการทำหนัง เราอยากบันทึกเรื่องที่มีความหมายต่อใจไว้ในรูปแบบภาพยนตร์หรือหนังครับ.

แรงบันดาลใจสำคัญอีกเรื่องสำหรับผม ผมมักจะคิดถึงคนทำหนังระดับโลกแบบ สตีเว่น สปีลเบิร์ก เสมอ

 

7 เป้าหมายที่สูงสุด ยิ่งใหญ่ ที่สุดในชีวิตของคุณคืออะไรครับ ? คุณอยากทำอะไร อย่าถ่ายทอด อยากเล่าอยากส่งต่ออะไรไปให้คนในรุ่นต่อๆไปครับ ?

ถ้าตอบแบบทะเยอทะยานคงต้องตอบแบบใครหลายคนว่าเราทำหนัง ความฝันสูงสุดคือไปให้ถึงรางวัลที่สูงที่สุด

แต่พอโตขึ้นมา เรายิ่งพบว่า เอาแค่ให้ได้ทำหนังดีๆแล้วฉายโรงให้ได้ก่อน ก็พอ  (ฮาๆๆ)

เอาจริงๆผมอยากทำหนังที่สร้างอิมแพค หรือ Call to Action บางอย่างน่ะฮะ อย่างที่เคยทำครั้งนึงคือ เราไม่เคยคิดว่าการทำหนังของเรา จะมีผลทำให้คนมาบริจาคเงินสร้างตึกให้โรงพยาบาลกว่าสามสิบล้านบาท ตอนนั้นเรารู้สึกว่า มันไปไกลกว่ารางวัลใดๆที่เราได้รับมาซะอีก แต่ถามว่ารางวัลยังสำคัญสำหรับเราไหม ผมตอบเลยว่าแน่นอน เพราะอยู่วงการนี้ พูดตามตรงว่า งานที่เราทำมันยากในทุกๆProcessนะฮะ กว่าจะได้แต่ละเรื่อง บางงานเป็นปี บางงานหลายปีมีเรื่องให้นอยด์หรือเฟลบ่อยครั้ง รางวัลมันเหมือนยาชูกำลังใจ เป็นเหมือนบัตรต่ออายุทางจิตวิญญาณตบไหล่แล้วบอกว่า สู้ต่อไปนะเอ็ง อย่าเพิ่งรีบยอมแพ้แล้วไปทำอย่างอื่น

ถ้าถามว่ามีอะไรส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป ก็อยากจะส่งต่อแรงบันดาลใจด้วยผลงานของเรา เราเป็นแค่ส่วนเล็กๆที่จะเป็นเลือดใหม่ของวงการ อยากให้มาลุยกันอีกเยอะๆเพื่อช่วยกันยกระดับคอนเทนต์บ้านเรา เราไม่ได้ขายฝันนะระหว่างทางต้องพูดตรงๆว่าหลายคนรอบตัวเราก็ยอมแพ้ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดใครเลย เพราะภาระชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราเลยต้องคิดเสมอว่า เรายังโชคดีแค่ไหนที่ยังได้จุดนี้ทำสิ่งที่เรารักอยู่ อย่างน้อยมีคนเห็นคุณค่าและให้โอกาสเรา

เราเชื่อว่าทุกคนมีเส้นทางการเติบโตของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน สิ่งที่อยากฝากคือ “อย่ายอมแพ้ในสิ่งที่เรารัก เพราะชีวิตเราเกิดมาครั้งเดียว ทำให้เต็มที่วันนี้ ดีกว่ายอมแพ้แล้วรู้สึกผิดหรือคาใจไปตลอด” เราคิดอย่างนั้นนะ คือถ้าเราทำออกมาแล้วเฟลจริง อย่างน้อยเราก็ได้เต็มที่ ไม่มีอะไรคาใจแล้ว ดังนั้นถ้าโอกาสยังไม่มาถึง ต้องสู้ต่อไปเรื่อยๆ มันยาก มันเหนื่อย มันอาจมีช่วงที่เจ็บปวด แต่มันจะมีวันของเรา ถ้าเราไม่หยุดพยายามที่จะเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีครับ                                                                                   ……..อีกไม่นานเกินรอ เราอาจจะได้เห็นหนุ่มคนนี้มีผลงาน  กำกับหนังไทย ให้คนไทยได้ดู หรือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยในผลงานของเขาเป็นแน่ก็ได้

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ