สถาบันวัคซีนแห่งชาติเผยคำแนะนำชัดทุกประเด็น “วัคซีน mRNA ฉีดในเด็ก  5-11 ปี: เรื่องที่พ่อ-แม่ ต้องรู้”
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการออนไลน์ในหัวข้อ “วัคซีน mRNA ฉีดในเด็ก 5-11 ปี: เรื่องที่พ่อ-แม่ ต้องรู้” โดยถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เร่งสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนชนิด mRNA พร้อมทั้งให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจให้บุตรหลานกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปีเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อสร้างความมั่นใจในการกลับเข้าเรียนในสถานที่
ภายในงานเสวนา นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเสวนาฯ ว่า “กิจกรรมในวันนี้เป็นความตั้งใจของสถาบันวัคซีนแห่งชาติที่ต้องการสื่อสารให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ปกครอง ได้มีความเข้าใจ และเชื่อมั่นในวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ซึ่งผู้ปกครองค่อนข้างมีความกังวลเป็นอย่างมาก หวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะทำให้เด็กได้รับวัคซีนกันอย่างครอบคลุม เพื่อเป็นการสร้างภูมิต้านทานโรคโควิด 19 และให้เกิดความปลอดภัยทั่วประเทศ” นอกจากนี้ภายในงานได้รับเกียรติจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์ พร้อมตอบข้อสงสัยแก่ประชาชนที่ร่วมรับฟัง นำโดย ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย และ พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมดำเนินรายการ
.
ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย มีแนวโน้มการระบาดที่รุนแรงมากขึ้น และพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ติดเชื้อโควิด 19 โดยอุบัติการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มีจำนวนกว่า 300,000 ราย และเสียชีวิตกว่า 63 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 2 ใน 10,000 ราย ซึ่งข้อมูลการติดเชื้อโควิดในเด็กอายุ 5-11 ปี นั้น พบว่ามีอาการทางเดินระบบหายใจที่ไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ แต่หากติดเชื้อสิ่งที่น่ากังวล คือ การเกิดภาวะอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย หรือ ภาวะ MIS-C ซึ่งมีอัตราการเกิดคิดเป็น 1.67 ในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคโควิด 19 จำนวน 10,000 ราย ซึ่งภาวะ MIS-C นี้ พบได้ในช่วง 2-6 สัปดาห์ หลังการติดเชื้อ ซึ่งกลุ่มอาการที่มักพบ ได้แก่ มีไข้ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถ่ายเหลว มีผื่นขึ้น และอาการทางระบบประสาท เป็นต้น โดยกระทรวงสาธารณสุขมีคำแนะนำให้เด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี เข้ารับวัคซีน Pfizer สูตรสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี โดยเฉพาะ (10 ไมโครกรัม/โดส) จำนวน 2 เข็ม มีระยะห่างระหว่างเข็ม 8 สัปดาห์ ทั้งนี้ อาการไม่พึงประสงค์ที่มักพบบ่อยภายหลังการรับวัคซีนในช่วง 2-3 วันหลังแรก ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และมีไข้ ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่อาการเหล่านี้จะพบได้น้อยกว่า 2-3 เท่า นอกจากนี้ ข้อมูลในสหรัฐอเมริกาที่มีการให้วัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี มาแล้วกว่า 10 ล้านโดส พบว่า ผู้รับวัคซีน mRNA เพศชายมีโอกาสเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่าเพศหญิง โดยพบหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรก และยังพบว่าในเด็กอายุ 5-11 ปี มีโอกาสเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อยกว่าในเด็กโตถึง 10 เท่า (4 ใน 1,000,000 โดส) ซึ่งถือว่ามีโอกาสเกิดน้อยมาก โดยจากการเก็บข้อมูลการใช้วัคซีนในเด็กอายุ 12-18 ปี ยังพบอีกว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดโอกาสการเกิด MIS-C หากเกิดการติดเชื้อได้ถึง 90% ศ.พญ.ธันยวีร์ กล่าวย้ำว่า “เด็ก ๆ ควรได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด19 โดยวัคซีน mRNA ในเด็กมีความปลอดภัย พบผลข้างเคียงน้อยกว่าเด็กวัยรุ่น การฉีดวัคซีนร่วมกับมาตรการสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อย ๆ คือ การปกป้องสองชั้น ซึ่งจะช่วยให้บุตรหลานที่เป็นเด็กเล็กมีความปลอดภัยจากโควิด 19 เพิ่มขึ้น”
.
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้รายละเอียดในเรื่องของแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 และการจัดลำดับการให้วัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี ของประเทศไทยว่า ในส่วนของกรมควบคุมโรค ได้มีการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์การป่วยจากโควิด 19 ในประชาชนทุกกลุ่มอายุมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพบอัตราการติดเชื้อโควิด 19 ด้วยสายพันธุ์โอมิครอนของประชากรเด็กอายุ 5-11 ปี ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 19,765 ราย หรือคิดเป็น 7.1% สำหรับแผนการให้วัคซีนจะเริ่มฉีดในเด็ก 7 กลุ่มโรคเสี่ยงและเด็กนักเรียนปกติ ตั้งแต่ชั้นประถม 6 ไปจนถึงชั้นประถม 1 ตามลำดับ เนื่องจากเด็กโตสามารถบอกเล่าอาการหลังการฉีดได้ดีกว่า ทั้งนี้ วัคซีนที่ได้รับอนุมัติให้สามารถใช้ในเด็กกลุ่มเป้าหมายในประเทศไทยได้แก่ วัคซีน Pfizer สูตรสำหรับเด็ก (ฝาสีส้ม) และวัคซีนชนิดเชื้อตาย (วัคซีน Sinovac และ Sinopharm) โดยสูตรที่แนะนำสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี จะเป็นวัคซีน Pfizer 2 เข็มส่วนเด็กอายุ 6-17 ปี สามารถเลือกฉีด วัคซีน Sinovac 2 เข็มเป็นทางเลือกได้ สำหรับการใช้วัคซีนสูตรไขว้ Sinovac+Pfizer ในกลุ่มเด็กอายุ 6-11 ปี ยังคงต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติม ทั้งนี้ นพ. โสภณ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลังจากที่เด็ก ๆ ได้รับวัคซีนแล้ว กรมควบคุมโรคได้มีการกำชับคุณครู และผู้ปกครองให้เฝ้าสังเกตอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน หากพบอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และเด็กที่ได้รับวัคซีนควรงดออกกำลังกายในช่วง 7 วันแรกหลังจากฉีดวัคซีนหรือลดกิจกรรมที่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ โดยการฉีดวัคซีนจะช่วยลดอาการป่วยหนัก และช่วยลดการแพร่เชื้อไปยังครอบครัวและเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนได้ด้วย จึงอยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครองรีบตัดสินใจให้บุตรหลานของท่านได้เข้ารับวัคซีนเพื่อประโยชน์แก่ครอบครัวของเด็กเองและเพื่อสังคม”
.
นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ให้ข้อมูลอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ การจัดการวัคซีนโควิด 19 ในโรงเรียนและการควบคุมป้องกันโรคในโรงเรียน  โดย นพ.สราวุฒิ ได้ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ของการติดเชื้อในเด็กกลุ่มอายุ 0-19 ปี มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ในส่วนของอัตราการเสียชีวิตนั้น พบว่า แม้จะมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นแต่อัตราการเสียชีวิตของกลุ่มเหล่านี้ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสเสียชีวิตได้ โดยมาตรการช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการปิดการเรียนการสอนในสถานที่เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อในกลุ่มนักเรียนมาโดยตลอด ซึ่งข้อมูลจากยูนิเซฟได้มีการรายงานว่า การเรียนการสอนในลักษณะนี้ ส่งผลเสียทำให้การเรียนรู้และพัฒนาการเด็กมีแนวโน้มต่ำลงจาก 90% ลดลงมาเหลือเพียง 40% โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและกลุ่มเปราะบาง ที่สำคัญมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 230,000 คน ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียนด้วยมาตรการที่ปลอดภัย เช่น มาตรการ Sandbox Safety Zone in School ทางโรงเรียนต้องประเมินผ่านระบบ Thai Stop COVID Plus ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติตน โดยในส่วนของโรงเรียนจะจำกัดพื้นที่แบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ 1. Screening (การตรวจคัดกรอง Thai Save Thai) 2. Quarantine (เฝ้าระวังสังเกตอาการ 5-7 วัน) 3. Safety Zone (ปลอดเชื้อ ปลอดภัย) และเมื่อเกิดการติดเชื้อในสถานศึกษาต้องมีการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุเมื่อพบกรณีติดเชื้อในสถานศึกษา ปัจจุบันข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการพบว่า มีโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนในสถานที่ประมาณ 50-60% และยังไม่เปิดเรียนในสถานที่อีก 40% นพ.สราวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย ว่า มติ ศบค. เห็นควรให้เปิดการเรียนการสอนในสถานที่ โดยสถานศึกษาแต่ละแห่งจะต้องผ่านการประเมิน Thai Stop COVID Plus และอาจเลือกรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับพื้นที่ได้ โดยผลการประชุมร่วม 3 กระทรวง (กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข) มีมติจากให้สถานศึกษาดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ เน้นย้ำให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ได้รับวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และวางแผนการให้วัคซีนในเด็กกลุ่มอายุ 5-11 ปี โดยให้โรงเรียนเป็นฐานการจัดการ
.
พญ.สุเนตร ชื่นมงคลกิจ รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมและรับฟังข้อมูลรายละเอียดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มาตอบข้อสงสัยของประชาชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่มเด็ก 5-11 ปี โดยสามารถติดตามรับชมย้อนหลังได้ทาง https://www.facebook.com/nvikm/videos/476931040712442