เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้จัดเวทีการประชุมระดับชาติเรื่อง การดื้อยาต้านจุลชีพ ครั้งที่ 3 (The 3rd National Forum on Antimicrobial Resistance) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ สถานการณ์การดื้อยาต้านจุลชีพในระดับประเทศและระดับโลก

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย World Animal Protection ได้นำเสนอสถานการณ์ที่น่ากังวลในปัจจุบันภายใต้หัวข้อภัยเงียบจากเชื้อดื้อยาในแม่น้ำใกล้คุณและแนวคิดด้านสุขภาพหนึ่งเดียวที่ยังถูกละเลย” โดยชี้ถึงประเด็นที่สำคัญ “ยาปฏิชีวนะถูกใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสวัสดิภาพสัตว์ที่ย่ำแย่” ยกตัวอย่างเช่น การตัดตอนอวัยวะในลูกหมู เช่นการตอนสด การตัดหาง การตัดฟัน ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติที่แพร่หลายในระบบฟาร์มอุตสาหกรรม โดยหมูเหล่านี้จะได้รับยาปฏิชีวนะผสมในน้ำและอาหารให้กินเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ด้วยวิธีการปฏิบัติและสภาพแวดล้อมเช่นนี้ส่งผลให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมหาศาล

            จากการศึกษาพบว่าแหล่งน้ำและดินที่อยู่บริเวณใกล้กับฟาร์มตัวอย่าง  มีการปนเปื้อนยีนดื้อยาปฏิชีวนะหลายกลุ่มที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอยู่ในกลุ่มที่มีความสำคัญสูงและสูงสุด (Highly and Critically Important) หลายตัว ซึ่งสอดคล้องกับผลของต่างประเทศ แต่สิ่งที่แตกต่างจากประเทศอื่นคือในไทยมีการพบ mcr-1 ซึ่งเป็นยีนที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Polymyxins หรือโคลิสติน ซึ่งถือเป็นยาที่มีการควบคุมและจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดในประเทศไทย

           ยีนดื้อยาปฏิชีวนะเหล่านี้ ถูกพบมากขึ้นในพื้นที่ที่มีการนำเอามูลสุกรไปใช้เป็นปุ๋ยคอกในภาคการเกษตร หรือปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มโดยตรงสู่สิ่งแวดล้อมราว 70% ของยาปฏิชีวนะที่สัตว์ได้รับผ่านการกินอาหารและน้ำ ไม่สามารถดูดซึมและย่อยได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงออกมาในรูปของมูลสัตว์ และเป็นที่รู้กันดีว่ามูลสัตว์ มีการจำหน่ายเพื่อนำไปเป็นปุ๋ยคอกในภาคการเกษตรอีกด้วย แบคทีเรียที่อยู่ในมูลสัตว์สามารถมีอายุได้ถึง 2-12 เดือน ซึ่งอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการกระจายของยีนดื้อยาปฏิชีวนะ และยาปฏิชีวนะตกค้างในมูลสัตว์มากยิ่งขึ้น โชคดี กล่าว

            ปัจจุบันการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในหลาย ๆ ประเทศยังเป็นโมเดลแบบสมัครใจสำหรับฟาร์มที่มีความต้องการและความพร้อมเท่านั้น ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหายังไม่ครอบคลุมทั้งระบบซึ่งที่สุดแล้วควรจะมีการผลักดันเข้าสู่วาระที่สำคัญระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่กำลังพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ชาติเรื่องเชื้อดื้อยาฉบับใหม่อยู่ เราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์จะถูกให้ความสำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องวิกฤติเชื้อดื้อยาที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้

          สามารถร่วมลงชื่อให้ภาครัฐและเอกชนมีนโยบายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มในสัตว์ฟาร์ม ตลอดจนยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพในฟาร์มให้ดีขึ้นได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/Ban-AMR

###

 

เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัขสัตว์ป่า – สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th