บุคคลในภาพ: นายสุชาติ ชมกลิ่น (กลาง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ (ขวา) กรรมการบริหาร แกร็บ ประเทศไทย และนางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม (ซ้าย) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพันธมิตรทางธุรกิจ และผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจแกร็บมาร์ท แกร็บ ประเทศไทย
แกร็บ ประเทศไทย จัดงาน “GrabNEXT ยกระดับประเทศไทย เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” เพื่อเปิดตัวเวทีเสวนาเชิงนโยบายประจำปีครั้งแรก ที่มุ่งส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นประธานในพิธีและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Better Life for Riders ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า” พร้อมกันนี้ ยังได้เชิญผู้นำทางความคิดชั้นนำระดับประเทศ อันได้แก่ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา และ ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มาร่วมแสดงทรรศนะ พร้อมแนะนำแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำสู่เศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการเสวนาในหัวข้อ “บทบาทของเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก คือ การทำงานแห่งโลกยุคใหม่ (Future of Work) การส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Inclusion) และ การสร้างความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล
นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อชีวิตของผู้คน และกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มุ่งมั่นสร้างการเติบโตทางธุรกิจไปพร้อมกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจ GrabForGood (หรือ แกร็บเพื่อชีวิตที่ดีกว่า) แกร็บ จึงได้ริเริ่มจัดงาน GrabNEXT ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยมุ่งหมายที่จะสร้างเวทีเสวนาประจำปีที่จะรวบรวมเหล่าผู้นำทางความคิดที่คร่ำหวอดในเชิงเทคโนโลยีและดิจิทัลมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมอง เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศที่แข็งแกร่งและพร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ”
“สำหรับงาน GrabNEXT ยกระดับประเทศไทย เพื่อชีวิตที่ดีกว่า มุ่งเน้นการเสวนาไปที่ 3 ประเด็นหลัก อันได้แก่ บทบาทของเทคโนโลยีที่มีผลต่อรูปแบบการทำงานในวิถีใหม่ การส่งเสริมให้ผู้คนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยี และการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ แกร็บหวังว่างานเสวนาในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นที่ช่วยจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกกับสังคมไทย พร้อมเน้นย้ำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้คน”
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงแนวทางการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบว่า “การปฏิรูปประเทศไทยสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ ถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลเร่งผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยและหลากหลายมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจ การดำเนินชีวิตของประชาชน รวมถึงการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ด้วยการเล็งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตการณ์โควิด-19 กระแสของโลกยุคดิจิทัล การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม กระทรวงฯ จึงได้มีการปรับโครงสร้างตลาดแรงงานให้ตอบรับกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน และเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่รูปแบบการทำงานและการประกอบอาชีพมีความแตกต่างและหลากหลายมากขึ้น รวมถึงจัดทำโครงการพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อตอบโจทย์รูปแบบการทำงานวิถีใหม่ให้กับแรงงานในระบบการจ้างงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ทั้งนี้ การที่ภาคเอกชนอย่างแกร็บเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนคนไทยให้มีโอกาสในการสร้างรายได้ผ่านรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง และเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับประเทศไทยให้พัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน”
ภายในงาน แกร็บ ประเทศไทย ได้เผยภาพรวมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ 3 ประเด็นหลักเพื่อร่วมผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัล อันได้แก่
- การทำงานแห่งโลกยุคใหม่ (Future of Work) การเข้ามาของธุรกิจแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันอย่างแกร็บ ได้ทำให้เกิดการทำงานในรูปแบบใหม่ ซึ่งสร้างโอกาสในการหารายได้ให้กับผู้คนมากมาย เพื่อสนับสนุนรูปแบบการทำงานในโลกยุคใหม่ที่เน้นความยืดหยุ่นและมีอิสระ แกร็บได้เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้แพลตฟอร์มของเราในการหารายได้ผ่านการให้บริการอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็น บริการเรียกรถ หรือเดลิเวอรี โดยไม่จำกัดเพศ วัย การศึกษา หรือแม้แต่ผู้ที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย เช่น ผู้พิการทางการได้ยิน ก็สามารถสมัครเป็นพาร์ทเนอร์คนขับได้ ทั้งยังมีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการทำงานผ่านโปรแกรม GrabBenefits อาทิ การทำประกันอุบัติเหตุ การให้สินเชื่อ หรือแม้แต่ส่วนลดจากพันธมิตร เป็นต้น โดยในปีนี้ แกร็บตั้งเป้าในการมีส่วนร่วมผลักดันมาตรฐานรูปแบบการทำงานแห่งโลกยุคใหม่โดยเน้นไปใน 5 ด้าน (5 อ.) อันได้แก่ การส่งเสริมรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นและมีอิสระ การเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้บนความหลากหลาย การอบรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะที่จำเป็น การพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อสร้างความอุ่นใจ และการส่งเสริมการอดออมและบริหารทางการเงิน
- การส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Inclusion) การส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนในสังคม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญที่แกร็บมุุ่งผลักดันมาโดยตลอด ดังนั้น แกร็บ จึงได้ริเริ่มและดำเนินโครงการ GrabAcademy เพื่อพัฒนาและส่งเสริมทักษะเชิงดิจิทัลให้กับพาร์ทเนอร์คนขับและร้านอาหาร ขณะเดียวกัน แกร็บยังได้ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ผ่านการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบสนองกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดยใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า (Big Data) และการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยระบบ AI อาทิ บริการสินเชื่อแบบผ่อนจ่ายรายวัน และบริการผ่อนชำระสินค้า เป็นต้น โดยในปีนี้ แกร็บ เตรียมขยายการเข้าถึงความรู้ใน GrabAcademy ไปยังกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับสูงวัย พร้อมตั้งเป้าให้ขยายการให้สินเชื่อกับพาร์ทเนอร์คนขับและร้านค้าในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
- การสร้างความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) สิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญทางสังคมที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ และร่วมกันแสดงความรับผิดชอบ ในฐานะผู้ให้บริการแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและการขนส่งแกร็บ ได้ริ่เริ่มโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยลดผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ อาทิ ฟีเจอร์งดรับช้อนส้อมพลาสติกแบบอัตโนมัติเมื่อสั่งอาหารผ่านแกร็บฟู้ด หรือฟีเจอร์พิเศษที่ชวนให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมในการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนผ่านการบริจาคเงินเพื่อสมทบในการปลูกป่า และล่าสุดกับการประกาศเป้าหมายระยะยาวในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับ-ผู้จัดส่งอาหารที่ใช้ EV ให้ได้ 10% ของจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับทั้งหมดภายในปี 2569 ทั้งยังได้ร่วมกับสถาบันการเงิน และผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพัฒนาโปรแกรม ‘สินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับพาร์ทเนอร์คนขับ’ เป็นต้น โดยในปีนี้ แกร็บ เตรียมผนึกความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับและผู้จัดส่งอาหาร-พัสดุอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในระหว่างการเสวนาในหัวข้อ “บทบาทของเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ยั่งยืน” ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้กล่าวถึงบทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศน์ดิจิทัลที่แข็งแกร่งว่า “ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่แพลตฟอร์มเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การกำหนดนโยบาย กฎหมาย และการกำกับดูแลต่างๆ ต้องมีความยืดหยุ่นและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องส่งเสริมให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคล แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดกว้างต่อการพัฒนานวัตกรรม จึงจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”
ทางด้าน นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า “ ในบริบทของเศรษฐกิจดิจิทัล เราสามารถมองเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมหาศาลในการดำเนินธุรกิจ แต่อีกหนึ่งมุมที่เราไม่ควรมองข้าม ก็คือ จะใช้เทคโนโลยีอย่างไรเพื่อเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายย่อย ให้สามารถเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจดิจิทัลได้ ดังนั้น ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น แกร็บ จึงสามารถมีบทบาทสำคัญในการใช้ความเชี่ยวชาญของตน ไม่ว่าจะเป็นด้านข้อมูลเชิงลึก หรือด้านนวัตกรรม ในการร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางสังคมอย่างยั่งยืนและเท่าเทียม”
สามารถติดตามรายละเอียดของงาน GrabNEXT ได้ที่เว็บไซต์ www.grab.com/th/grabnext/
สามารถดูรายละเอียดข้อมูลจากรายงานประจำปี 2565 ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลของกิจการ (ESG) ระดับภูมิภาคของ แกร็บ ได้ที่ Annual Environment, Social and Governance (ESG) Report
เกี่ยวกับแกร็บ
แกร็บ (Grab) คือ ผู้นำซูเปอร์แอปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อ้างอิงข้อมูล “มูลค่าธุรกรรมรวมในตลาด” หรือ GMV ทั้งบริการจัดส่งอาหาร บริการการเดินทาง และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ในปี พ.ศ. 2564 โดยยูโรมอนิเตอร์) ปัจจุบัน แกร็บนำเสนอบริการต่างๆ แบบออนดีมานด์ ครอบคลุมทั้งบริการการเดินทาง การจัดส่งอาหาร สินค้าและพัสดุ ตลอดจนบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัล เพื่อตอบสนองผู้ใช้บริการหลายล้านคนทั่วทั้ง 480 เมืองใน 8 ประเทศ อันได้แก่ กัมพูชา ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของพาร์ทเนอร์คนขับและพาร์ทเนอร์ร้านค้า ไม่ว่าจะเป็น การสั่งอาหารหรือการสั่งซื้อสินค้า การจัดส่งพัสดุ การเรียกรถรับ-ส่งหรือแท็กซี่ ไปจนถึงการทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ เช่น การขอสินเชื่อ การทำประกัน การบริหารความมั่งคั่ง และการบริการทางการแพทย์ทางไกล เป็นต้น แกร็บก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2555 โดยมีวิสัยทัศน์ในการมุ่งขับเคลื่อนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการสร้างโอกาสและส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับทุกคน จวบจนปัจจุบันแอปพลิเคชันแกร็บได้ถูกดาวน์โหลดไปแล้วบนโทรศัพท์มือถือนับหลายล้านเครื่อง และแกร็บจะยังคงยึดมั่นเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างผลประกอบการที่แข็งแกร่งให้กับผู้ถือหุ้น ควบคู่ไปกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงเขิงบวกให้กับสังคมทั่งทั้งภูมิภาค ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแกร็บได้ที่ www.grab.com