เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานความเคลื่อนไหวของดีลธุรกิจอาหารครั้งใหญ่ เมื่อ บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ RD ต้องการขายสิทธิ์การบริหารกิจการ KFC ในประเทศไทยที่บริหารอยู่ราว 240 สาขา สถานการณ์นี้กำลังเป็นที่จับตาในกระแสธุรกิจอย่างร้อนแรง แต่ไม่ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป หรือ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (บริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ)  ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการแฟรนไชส์ KFC ในประเทศไทยอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว จะกลายมาเป็นผู้ถือครองสิทธ์แฟรนไชส์ KFC เจ้าใหญ่ที่สุดในประเทศไทยหากมีการปิดดีลธุรกิจกับ RD สำเร็จ แต่กระนั้นในมุมมองความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคมต่อแหล่งที่มาของเนื้อไก่ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก รวมถึงนโยบายที่คำนึงถึงการยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพไก่ จะยังมีความหวังอยู่หรือไม่

KFC แบรนด์ไก่ทอดระดับโลกยอดนิยมของคนไทยนั้น ซึ่งมี บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นเจ้าของและดำเนินการขายสิทธิ์แฟรนไชส์ ซึ่งมีสาขาทั้งหมด 22,621 สาขา (ปี พ.ศ. 2562) กระจายอยู่ใน 150 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีเกือบ 1,000 สาขา ซึ่งทำให้ KFC สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่อีกมุมของโลกการบริโภคอย่างยั่งยืนได้กลายเป็นกระแสที่ผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญ โดยแบรนด์ในดวงใจต้องเป็นแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้บริโภค รวมถึงการใส่ใจถึงแหล่งที่มาของไก่ คุณภาพชีวิตของไก่ ไก่ต้องแฮปปี้ มีสวัสดิภาพที่ดี ก่อนที่จะกลายมาเป็นเมนูไก่แสนอร่อยบนจานอาหาร

ปลายปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคในฝั่งประเทศยุโรปกว่า 5 แสนคน เรียกร้องให้แฟรนไชส์ซี KFC ใส่ใจสวัสดิภาพไก่และให้ความสำคัญกับแหล่งที่มา จนในที่สุดแฟรนไชส์ซี KFC ในยุโรป 8 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักรไอร์แลนด์เยอรมนี เนเธอร์แลนด์เบลเยียมสวีเดนเดนมาร์กและฝรั่งเศส ได้ให้คำมั่นต่อสาธารณะที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของไก่ให้ดีขึ้นภายในปี พ.ศ.2569 นับเป็นการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ที่จะช่วยชีวิตไก่ได้หลายล้านตัวให้รอดพ้นจากความทุกข์ทรมานจากปัญหาหัวใจ ปอด และกระดูกจากการเลี้ยงไก่แบบเร่งโต

ในขณะที่ KFC ในประเทศไทย ถูกจัดอันดับในรายงาน The pecking order 2021 ของ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ว่ามีนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์อยู่ในระดับ “แย่ที่สุด” 2 ปีติดต่อกัน รวมทั้งยังเพิกเฉยต่อเสียงผู้บริโภคชาวไทยกว่า 20,000 คนที่เรียกร้องให้เปิดเผยถึงแหล่งที่มาของไก่ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารรวมถึงนโยบายต่างๆเพื่อยกระดับสวัสดิภาพไก่

เหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “ข่าวการเปลี่ยนแฟรนไชส์ซี KFC ประเทศไทย ไม่ว่าการเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่จะเป็นเจ้าไหน เจ้าของแฟรนไชส์ชี KFC ใหม่จะต้องรีบประกาศทิศทางการประกอบธุรกิจที่สอดคล้องประโยชน์ของผู้บริโภค และมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยเฉพาะในเรื่องสวัสดิภาพไก่ เพราะในแต่ละปี ผู้บริโภคคนไทยกินไก่ KFC ถึง 300 ล้านชิ้น*KFC ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของตนเองว่ามีการคัดเลือกแหล่งที่มาของไก่อย่างไร รวมถึงเร่งประกาศนโยบายเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพไก่แก่สาธารณะ ซึ่งจะเป็นการสะท้อนภาพการเป็นผู้นำธุรกิจฟาสต์ฟู้ดอย่างแท้จริง ที่ดำเนินธุรกิจโดยไม่เพียงแค่คำนึงถึงผลเร่งขยายสาขาและเพิ่มยอดขาย แต่หากต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และมิติของความยั่งยืน รวมทั้งเทรนด์โลกที่ผู้บริโภคมีความใส่ใจเรื่องสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้นด้วย”

หากลองวิเคราะห์ถึงศึกชิงแฟรนไชส์ซี KFC ระหว่าง ไทยเบฟ VS เซ็นทรัล ครั้งนี้ กับความต้องการของผู้บริโภคเรื่องสวัสดิภาพไก่ ที่ไม่อยากเห็นความทุกข์ทรมานของสัตว์ก่อนกลายมาเป็นอาหาร  เรายังไม่เห็นทิศทางการดำเนินงานหรือนโยบายที่คำนึงถึงสวัสดิภาพไก่ที่นำมาเป็นวัตถุดิบหลัก ในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินกิจการแฟรนไชส์ซี KFC ที่ผ่านมา เราหวังว่า ภายใต้การบริหารใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากศึกชิงแฟรนไชส์ซี KFC นี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนและเป็นโอกาสให้เกิดทิศทางในการยกระดับสวัสดิภาพไก่ตามเทรนด์ของโลก และเป็นความหวังในการนำพาคุณภาพชีวิตไก่ที่ดีมาสู่จานผู้บริโภค

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/The-Pecking-Order-2021

https://www.longtunman.com/26247

*https://www.kfc.co.th/aboutus