ชื่อเรื่อง: THE CURSED LAND แดนสาป

แนว: สยองขวัญ, ระทึกขวัญ

ผู้กำกับ: ภาณุ อารี 

เขียนบท: ก้อง ฤทธิ์ดี

นำแสดงโดย: อนันดา เอเวอริงแฮม, เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ, บรอนต์ ปาลาเร่, สีดา พัวพิมล

กำกับภาพ: ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์

โปรดิวเซอร์: นนทรีย์ นิมิบุตร

ออกแบบเสียง: อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร

เข้าฉาย: 11 กรกฎาคม 2567

Log Line:  เมื่อพ่อและลูกสาวผู้นับถือศาสนาพุทธ ต้องมาอาศัยในชุมชนมุสลิม และบ้านที่เขาอาศัยอยู่มีผีร้ายถูกจองจำไว้อยู่ใต้ผืนดิน

เรื่องย่อ: 

 

มิตร ชายวัย 40 ปี และเมย์ ลูกสาววัยรุ่น ย้ายเข้ามาอาศัยในบ้านหลังใหม่ที่ตั้งอยู่ในชุมชนมุสลิมแถบหนองจอก เพื่อเยียวยาจิตใจของตัวเองจากการสูญเสียภรรยาอันเป็นที่รัก และหวังเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังผ่านเรื่องร้าย ทว่ามิตรกลับสร้างศาลพระภูมิไว้บริเวณข้างบ้านเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ลึกลับเหนือธรรมชาติขึ้น ว่ากันว่าการตอกฐานของศาลพระภูมิลงบนดิน ได้ปลดปล่อยวิญญาณร้ายที่ถูกกักขังเมื่อ 200 ปีที่แล้วออกมา ภายหลังจากที่ทาสมลายูจำนวนมากถูกเกณฑ์ขึ้นมาขุดคลองแสนแสบ ซ้ำร้ายการมาถึงของมิตรและเมย์ยังสร้างความไม่สงบให้กับชุมชน เกิดเป็นความไม่พอใจในหมู่ชาวบ้านมุสลิม

ในขณะที่เหตุการณ์เลวร้ายลงเรื่อย ๆ เมย์ตัดสินใจเชิญพระในชุมชนมาแก้ปัญหา แต่ก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเนื่องจากความเชื่อที่ไม่ตรงกัน ความรุนแรงทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางความสิ้นหวังฮิมเพื่อนบ้านลึกลับในชุมชนตัดสินใจยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยการพาหมอผีกลางป่าลึกในจังหวัดชายแดนใต้มาเผชิญหน้ากับผีร้าย

 

คาแรกเตอร์:

อนันดา เอเวอริงแฮม รับบท มิตร

เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ รับบท เมย์

บรอนต์ ปาลาเร่ รับบท ฮิม

สีดา พัวพิมล รับบท ไซหนับ 

ฟิรเดาส์ คารีม รับบท การ์ดี

ฮาน ซาลินี รับบท หมัด

 

– จุดเริ่มต้นคำสาป –

 

       “ผีมันเลือกศาสนาได้ด้วยเหรอ”

 

The Cursed Land แดนสาป ภาพยนตร์สยองขวัญจากผู้กำกับหน้าใหม่ ภาณุ อารี ผู้คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ไทยมาอย่างยาวนานและเคยมีผลงานการกำกับภาพยนตร์สารคดี The Convert มูอัลลัฟ (2008) และ Baby Arabia (2010) พร้อมคว้าตัว ก้อง ฤทธิ์ดี ที่เคยกำกับภาพยนตร์สารคดีร่วมกันมาทำหน้าที่เขียนบท หยิบเอาประเด็นของชาวมุสลิมในกรุงเทพฯ ที่เคยบอกเล่าในสารคดีมาพลิกมุมมอง และเล่าเรื่องในทิศทางใหม่ก้าวข้ามจากภาพยนตร์สารคดีสู่หนังใหญ่ในรูปแบบหนังสยองขวัญ The Cursed Land ก่อนจะส่งเข้าประกวด Hong Kong – Asia Film Financing Forum (HAF) และได้เป็นหนึ่งในยี่สิบโปรเจกต์ที่ได้รับเลือกจากโปรเจกต์ทั่วเอเชีย 

“เราอยากเล่าเรื่องผีที่เป็นมุสลิม อยากเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ อยากจะเล่าเรื่องครอบครัว และเราก็อยากจะเห็นหนังผีไทยซึ่งมันแตกต่างไป จริง ๆ ทั้งหมดนี้รวม ๆ กัน มันถึงกลายเป็นเรื่องที่เราคิดกันออกมา

 

ความสนใจที่จะทดลองในเรื่องหนัง ที่คนดูอาจจะคุ้นเคยแต่ว่ารายละเอียดมันไม่คุ้นเคยเช่น บ้านผีสิงมันเยอะมาก ทั้งหนังไทย หนังฝรั่ง ในหนังไทยเรายังไม่เคยเห็นบ้านที่เดินเข้าไปแล้วมีปฏิทินมุสลิมอยู่ คือเราอยากจะเห็นหนังผีไทยที่มันเดินเข้าไปในบ้านแล้วบ้านมันมีปฏิทินมุสลิม มีรูป มีสัญลักษณ์ หรือมีอะไรที่แสดงว่าบ้านนี้มันเป็นมุสลิม 

 

เราเคยทำหนังสารคดีมาก่อนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 – 2548 ทั้งขนาดสั้นขนาดยาว ซึ่งส่วนใหญ่มันก็จะเป็นเรื่องการอยู่ร่วมกันระหว่างคนพุทธและมุสลิม เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นอีกก้อนความคิดหนึ่ง คือลองเล่าแบบเดียวกันนี่แหละ การอยู่ร่วมกัน หรือปัญหาเวลาคนพุทธกับคนมุสลิมอยู่ในที่เดียวกัน ซึ่งคนเหล่านี้ที่เขามาอยู่ก็มีการตั้งชุมชนแล้วก็มีเรื่องที่ดีบ้างร้ายบ้างเกิดขึ้นมา หลาย ๆ เรื่องมันก็จะเชื่อมโยงกับความเป็นจริงบางอย่างที่เราอาจจะไม่คุ้นเคยนัก 

 

เราก็เลยเกิดความคิดว่า พื้นที่ชุมชนที่เราอาจจะเคยคุ้นหู หรือว่าชุมชนมุสลิมที่เราอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง มันอาจจะมีบางอย่างที่มันเต็มไปด้วยความเจ็บปวด เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมอะไรบางอย่าง แล้วเอามาเล่าในรูปแบบของหนังผี เพื่อแตกต่างจากที่เราเคยทำมา ”ก้อง ฤทธิ์ดี

 

มันมีเรื่องเล่าอยู่เรื่องหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมาตลอดแต่ไม่เคยถูกสร้างเป็นหนังไทย เรื่องของครอบครัวคนพุทธที่ย้ายบ้านไปอยู่ในบ้านแถว ๆ ชุมชนมุสลิม แล้วก็พบว่าตัวเองเจอเหตุการณ์ประหลาดในบ้าน หลังจากนั้นสืบไปสืบมาถึงพบว่าบ้านหลังนี้สร้างทับสุสานมุสลิม 

 

เราก็เลยเกิดไอเดียเอาเรื่องนี้มาเป็นสารตั้งต้นในการคิดโปรเจกต์ ซึ่งในที่สุดเราก็พัฒนาเรื่องกันมาจนเป็นแดนสาป” – ภาณุ อารี 

 

– ปลุกเสกความเฮี้ยน –

 

เพื่อยกระดับความเฮี้ยน The Cursed Land แดนสาป ได้ นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้อยู่เบื้องหลังตำนานหนังผีเฮี้ยนไม่ลืม นางนาก (1999) มาเป็นโปรดิวเซอร์ พร้อมได้ ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ ตากล้องคู่บุญของ เป็นเอก รัตนเรือง มาทำหน้าที่เป็นผู้กำกับภาพ

 

เราอยากลองเสนอโปรเจกต์นี้เข้าร่วมประกวด มันจะมี Project Market ที่จะรับประกวดโปรเจกต์หนังของหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ที่เราใฝ่ฝันกันมาตลอดว่าถ้ามีโปรเจกต์อะไรบางอย่าง เราอยากลองส่งเข้าร่วมประกวด HAF (Hong Kong – Asia Film Financing Forum) 

 

แต่ว่าเงื่อนไขของการสมัครคือมันจะต้องมีโปรดิวเซอร์ด้วย จะเป็นผู้กำกับหรือเขียนบทอย่างเดียวมันไม่พอ ดังนั้นจะเอาใครก็ได้มาเป็นโปรดิวเซอร์มันคงไม่ได้ เราก็คิดว่าแล้วใครล่ะที่เหมาะสม เหมาะสมในแง่ที่ว่ามีประสบการณ์ ในขณะเดียวกันชื่อของเขาเป็นชื่อที่เป็นที่รู้จักในระดับสากล ก็มีอยู่แค่ชื่อเดียวก็คือพี่อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร 

 

เราก็เลยโทรคุยกับพี่อุ๋ย ซึ่งปรากฎว่าพี่อุ๋ยเองก็ใจดีมาก ๆ แกเองก็อยากสนับสนุนผู้กำกับหน้าใหม่ อีกใจคือแกชอบในตัวโปรเจกต์ด้วย ก็เลยเอาชื่อแกมาใส่ใน Proposal ปรากฎว่าโปรเจกต์ก็ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในยี่สิบโปรเจกต์ทั่วเอเชีย แล้วก็ได้รับรางวัลเป็นรางวัลที่ให้เราไปอีกที่นึก็คือที่ปูชอน

 

พอมันเริ่มจริงจังขึ้นมา ก็ไปคุยกับพี่อุ๋ยตรง ๆ ว่าถ้าเรามีโอกาสได้ทำจริง ๆ  พี่อุ๋ยจะยอมมาเป็นโปรดิวเซอร์ให้เราไหม ปรากฎว่าพี่อุ๋ยก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าอยากจะซัพพอร์ต สุดท้ายพอมันได้ทำจริง ๆ พี่อุ๋ยก็มาอยู่กับเราตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นพัฒนาไปจนถึงจบ 

 

อีกคนที่ผมต้องให้เครดิตคือพี่แดง ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ เป็นตากล้องประจำของคุณเป็นเอก ซึ่งไม่เคยถ่ายหนังเรื่องอื่นมาก่อนนอกจากหนังคุณเป็นเอก แต่ก็ได้พี่อุ๋ยเป็นคนประสานให้” – ภาณุ อารี 

 

“เริ่มต้นเลยคือได้ยินข่าวว่าก้องกับต้อยเขาจะทำหนังเรื่องนี้กัน เขาก็ส่งเรื่องย่อมาคุยด้วย สนใจอยากให้พี่มาโปรดิวซ์หนังเรื่องนี้หน่อย เราอ่านเรื่องจบเราก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจ ตรงที่ว่ามันแตกต่างจากหนังที่เราเคยเห็นทั่วไป มีเรื่องราวเกี่ยวกับคนมุสลิม 

 

ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาเราก็รู้สึกว่า คนมุสลิมไม่มีผีนี่นา ก็เลยทำให้เราย้อนกลับไปหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องคนมุสลิม พอได้อ่านข้อมูล ศึกษาข้อมูลอะไรเสร็จ เราก็รู้สึกว่า เออ..มันน่าสนใจจริง ๆ แล้วก็เป็นหนังอีกแบบที่เราไม่เคยเห็น ก็ยินดีที่จะสนับสนุนน้อง ๆ ให้ได้เติบโตไปด้วยกันครับ” – นนทรีย์ นิมิบุตร

 

– ฉีกตำราสยอง –

 

The Cursed Land แดนสาป ไม่เพียงแค่เป็นการแหวกขนบหนังผีไทยที่ใช้ ผีมุสลิม และหยิบเอาเรื่องราวของความต่างทางความเชื่อมาเป็นส่วนผสมสำคัญในการเล่าเรื่อง แต่ผู้กำกับ ภาณุ อารี และ ก้อง ฤทธิ์ดี คนเขียนบทยังเลือกที่จะฉีกตำราการสร้างหนังสยองขวัญ ด้วยการพลิกขั้วตัวละครจากเด็กผู้หญิงที่เคยตกเป็นเหยื่อวิญญาณร้าย สู่การเป็นหนึ่งในตัวละครที่จะพลิกเรื่องราว ในขณะที่ตัวละครที่ดูเข้มแข็งที่สุดต้องพลิกกลับมาเป็นเหยื่อเสียเอง 

 “สิ่งหนึ่งที่เราพยายามจะสร้างความแตกต่างคือความเป็นหนังสยองขวัญมุสลิม ซึ่งก่อนหน้านี้เวลาเราพูดถึงหนังผีในบ้านเรา ทุกคนจะคิดว่ามันเป็นหนังผีที่เชื่อมโยงกับแนวคิดแบบพุทธ เจอผีก็ต้องมีพระมาปราบ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในแดนสาป คือเรื่องของความแตกต่างทางด้านศรัทธาและศาสนา

 

และสิ่งที่เราสร้างเป็นปมในหนังคือเราสร้างตัวละครที่ไม่ใช่มุสลิมเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ตัวเองไม่คุ้นเคยโดยเฉพาะสิ่งลี้ลับที่ไม่ได้อยู่ในศรัทธาเดียวกันกับเขา เขาจะแก้ไขปัญหายังไง

 

สูตรของหนังผีโดยทั่วไปตัวละครที่เป็นผู้หญิง หรือเด็กจะเป็นตัวละครที่เปราะบาง เป็นตัวละครที่เป็นเป้าโจมตีของปีศาจได้ง่ายกว่า แต่เรื่องนี้เราคิดตั้งแต่แรกแล้วว่าอยากทำอะไรที่มันแตกต่าง อีกมุมก็คือเรามองว่า เราเซ็ตเงื่อนไขของญินด้วย 

 

คือตอนที่เราเขียนบท สิ่งที่เป็นปัญหามาก ๆ คือ ญินคืออะไร แล้วญินมันมีกลไกที่จะทำร้ายคนยังไงซึ่งตามหลักของศาสนาหรือเท่าที่เราเรียนรู้กันมา หนึ่งในกลุ่มคนที่ญินจะโจมตีมากที่สุดคือกลุ่มคนทีจิตใจกำลังอ่อนแอและเปราะบาง เราก็เลยคิดว่าเออเอาสองอย่างนี้มารวมกัน คือเราพยายามจะสลับขั้วภาวะเปราะบางของตัวละครจากผู้หญิงมาเป็นคนที่เรานึกไม่ถึง” – ภาณุ อารี 

 

การฉีกสูตรสำเร็จหนังสยองไม่เพียงแค่เป็นความท้าทายของผู้กำกับและคนเขียนบทเท่านั้น แต่มันยังเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของ อนันดา เอเวอริงแฮม นักแสดงผู้รับบท มิตร ตัวละครหลักของเรื่อง หลังจากที่เขาผ่านการรับบทเป็นผู้ชายมาดเข้ม และมือปราบอาคมมาอย่างยาวนาน ครั้งนี้เขาต้องพลิกบทบาทสู่การเป็นคุณพ่อหัวใจเปราะบางที่ทำไม่ได้แม้แต่การพึ่งพาตัวเอง 

 

“เราเล่นตัวละครที่ค่อนข้างแข็งแรงมาเยอะพอสมควร บางทีมันจะมีสัญชาตญาณที่เราอยากจะลุกขึ้นมาสู้ มาปกป้อง มาเป็นตัวละครที่แบบเราจะสู้ แต่ทีนี้เราจะต้องคอยเตือนตัวเองว่าเราไม่ได้เป็นตัวละครแบบนั้น เราเหมือนมีกำแพงอะไรบางอย่างที่มันกั้นไม่ให้เราก้าวต่อไปในชีวิตได้ 

 

อย่างแรกที่ตอนคุยกับทางผู้กำกับ คือเป็นเรื่องของภาษากาย คือพี่ต้อย-ภาณุ เขาจะพูดตลอดว่าเขาอยากให้มันมีกายภาพอะไรบางอย่างในตัวละครที่มันดูเหมือนมันแบกทุกข์อะไรบางอย่างไว้ คือแบกทุกข์บางทีเราตีความันเป็นเรื่องข้างใน แต่ว่าอันนี้เราคุยกันไว้ว่าอยากให้มันมีร่องรอยในภาษากาย ก็เลยเริ่มจากล้วงกระเป๋ากางเกง ก็จะเป็นแบบคนเก็บมือไว้ ไม่ค่อยเปิดเผย ไม่ค่อยแสดงออกเอามือเก็บไว้ในกางเกง ก็เป็นเหมือนนัยยะเหมือนกำลังเก็บอะไรไว้ของเราส่วนตัว แล้วก็จินตนาการว่าเหมือนแบกอะไรอยู่บนหลัง เป็นคนแบบห่อไหล่รู้สึกว่าเหมือนเดินยาก เหมือนขยับยาก จะพูดจะคุยอะไรก็รู้สึกว่ามันมีอะไรกั้นอยู่ตลอดเวลา

 

ซึ่งอันนี้เรายังไม่ได้เอาไปพัฒนาเป็นปูมหลังของตัวละคร ว่าเขาผ่านอะไรมา เราแค่เริ่มจากจุดนี้ก่อน แล้วพอเจอตรงนี้เราก็ค่อยเติมเรื่องราวเข้าไปว่า ทุกข์มันคืออะไร ปมในอดีตคืออะไร ปมกับลูกคืออะไร” –  อนันดา เอเวอริงแฮม

 

– แขกผู้มาเยือนแดนสาป –

 

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวในแดนสาปมาจาก พ่อ-ลูกชาวพุทธ มิตร และ เมย์ ที่เพิ่งผ่านเรื่องราวสะเทือนขวัญมาหมาด ๆ ได้ย้ายเข้าไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในชุมชนมุสลิม แต่ศรัทธา ศาสนา และความเชื่อที่แตกต่างกันผลักให้เขาและลูกกลายเป็นคนแปลกแยก ที่เหมือนถูกสายตาจำนวนมากจับจ้อง

 

มิตร (รับบทโดย อนันดา เอเวอริงแฮม) วิศวกรของโรงงานญี่ปุ่น ที่แม้ภายนอกจะดูเป็นคนเข้มแข็งแต่ภายใน เขาได้เก็บซ่อนแผลใจอันร้ายแรงเอาไว้มากมาย ในขณะที่สภาวะจิตใจกำลังเปราะบาง เขาก็ตกเป็นเหยื่อของสิ่งลี้ลับโดยไม่รู้ตัว

 

ตัวละครมิตรค่อนข้างเด่นชัดในแง่ที่ว่าเขาจะต้องเป็นตัวละครที่มีความเปราะบาง เป็นตัวละครที่มีความอ่อนแอในจิตใจ ซึ่งอ่อนแอแม้กระทั่งคนที่จะเข้ามาปกป้องเขาก็คือลูกสาว ซึ่งตัวละครมิตรต้องการนักแสดงที่มีความสามารถ ตีความตัวละครออก 

 

ก่อนหน้านี้เวลาเราพูดถึงอนันดา บทที่เขาเล่นมันจะเป็นบทของความเป็นผู้ชายเข้มแข็ง ดูเป็นบทที่เป็นผู้ชายสำอาง เจ้าชู้ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เรื่องนี้เราอยากจะลองท้าทายเขาด้วยการให้เขาเล่นบทที่มันตรงกันข้ามกับที่เขาเคยเล่นมา มีความเปราะบาง มีความอ่อนแอถึงขั้นสุดคือไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เขาจะเป็นยังไง ซึ่งพอเราได้พูดคุยได้ส่งบทให้เขาอ่านคุณอนันดาก็แทบจะตอบรับโดยทันที” – ภาณุ อารี 

 

“น่าจะเป็นหนังเรื่องแรกที่เล่นเป็นพ่อของตัวละครที่โตแล้ว ลูกสาวจะเป็นเด็กที่เรียนมหาลัยอยู่ ก็อาจจะเป็นครั้งแรกที่ต้องจัดการกับตัวละครแบบนี้ มีความสัมพันธ์กับตัวละครแบบนี้ซึ่งก็แปลกดี คือมันเป็นเรื่องที่ผมกังวลมากที่สุดตอนรับแสดงเรื่องนี้ 

 

จากประสบการณ์ที่เราเล่นกับคนที่อายุน้อยกว่าหรือคนที่อยู่ในบทที่มันต้องมีความเคารพต่อเรา ในฐานะคนที่เหมือนเป็นพ่อ เป็นครู ตรงนั้นที่ผมกังวล เพราะลึก ๆ ผมก็อาจจะมีมุมที่มันเป็นคนแบบนิสัยห่าม ๆ บางจุดมันก็เลยทำให้เรากังวลว่าน้องจะเห็นตรงนี้หรือเปล่า เขาจะนับถือเราเป็นตัวละครพ่อหรือเปล่า ก็เป็นสิ่งที่กังวลตอนรับเล่นตอนแรก” – อนันดา เอเวอริงแฮม

 

เมย์ (รับบทโดย เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) เด็กสาววัยรุ่นนิสัยห้าวที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นชิน ทำให้เธอรู้สึกเป็นคนแปลกแยก ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับพ่อค่อย ๆ เกิดรอยร้าว เหตุการณ์ลึกลับที่ไม่อาจหาคำตอบได้ก็ค่อย ๆ เกิดขึ้นกับพ่อของเธอ 

 

เรื่องนี้คือเรื่องที่ทำให้หนูตัดผมสั้นที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี จากตอนมัธยม จริง ๆ ตัว เมย์ค่อนข้างเป็นเด็กลุคบอย ๆ ยังคงมีความธรรมชาติของนักศึกษาที่ยังไม่ได้เจนโลกขนาดนั้น 

 

เหตุการณ์ตอนแรก ๆ เมย์อาจจะยังไม่แน่ใจ แต่พอมีเหตุการณ์ที่เกิดกับตัวพ่อเมย์เอง แล้วก็มีเรื่องลึกลับ ลี้ลับเกิดขึ้นมากมายจนเมย์ก็เชื่อค่ะ มีความก้ำกึ่งระหว่างเชื่อเรื่องผีกับไม่เชื่อเรื่องผี” – เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ

 

ซึ่งตัวละครเมย์คือตัวละครที่ทางภาณุ อารี และ ก้อง ฤทธิ์ดี เขียนและพัฒนาโดยมีเจนนิษฐ์เป็นต้นแบบ และหลังจากพัฒนาบทไปเรื่อย ๆ ทั้งสองคนก็ได้ตัดสินใจทาบทามให้เจนนิษฐ์มารับบท

 

“คือตัวละครเมย์ บุคลิกที่เราเขียนมาตั้งแต่แรก จริง ๆ ก็คิดถึงเจนนิษฐ์มาตั้งแต่แรกเหมือนกัน เพราะว่าเราอยากได้ตัวละครที่มีความอ่อนแอในตัวเองด้วย แต่ในขณะเดียวกันเวลาที่เขาต้องปกป้องพ่อของเขา เขาก็ต้องแสดงด้านที่เข้มแข็งออกมา ซึ่งบุคคลิกแบบนี้มันจะมีความซับซ้อนในตัวเอง แล้วเราก็ตามผลงานของเจนนิษฐ์มาก่อน แม้กระทั่งตอนที่เขาเป็น BNK48 โดยส่วนตัวเรารู้สึกว่าเขามีความแตกต่างจากคนอื่นในวง เขามีดวงตาที่เศร้าด้วย ในขณะเดียวกันบางมุมที่เขาอยู่เฉย ๆ เขาก็มีความรู้สึกที่เข้มแข็งบางอย่าง 

 

อีกอย่างคือหน้าตาของเขามีความ Cinematic พอมันอยู่ในหนังแล้วเขาไม่จำเป็นต้องพูดเลย อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ เขาก็มีบุคลิกที่โดดเด่นบางอย่างขึ้นมา แล้วเรื่องนี้มันจะสลับขั้วนิดนึงดังนั้นไอ้บุคคลิกเข้มแข็งแบบนี้ พอเรามองเห็นเจนนิษฐ์ ทุกอย่างมันอยู่ในตัวเขาหมดเลย

 

ก็เลยกลายเป็นว่าตอนเราเขียนบทเรื่องนี้และคุยกับคุณก้อง เจนนิษฐ์ก็เป็นเหมือนกับภาพที่เราอยากนำเสนอออกมาด้วย กลายเป็นว่าเราเขียนบทออกมาปุ๊บเราก็เชิญเขามาคุยเป็นคนแรก ๆ เลย ไม่ได้มีการแคสต์ใด ๆ” – ภาณุ อารี

 

“เจนนิษฐ์เป็นเด็กที่จริง ๆ แล้วดูเฉย ดูนิ่ง ดูอ่านไม่ออก ดูไม่รู้ว่าคิดอะไร แต่จริง ๆ แล้วพอน้องรับบทบาทตัวละครตัวนี้ในหนังแล้ว ปรากฎว่าความนิ่งของน้อง ความเงียบของน้อง น้องกำลังสร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นมาในตัวเอง เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวเอาทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นตลอดเวลามาอัดไว้ในตัวของเขา และพร้อมที่จะระเบิด พร้อมที่จะคลี่คลายทุกอย่างออกมาทีละก้อน ๆ 

 

ความเก่งกาจของนักแสดงที่ผมเคยทำงานด้วยแล้วน่าสนใจ คือคนที่จะสามารถค่อย ๆ คลี่เอาความรู้สึกต่าง ๆ ออกมาทีละเปลาะ ๆ ออกมาให้เราได้เห็น ผมรู้ว่ามันทำยาก บางทีผู้กำกับเองหรือตัวเรื่องเองมีความต้องการในบทบาทหลาย ๆ บทบาทพร้อม ๆ กัน มันต้องค่อย ๆ คลี่ความรู้สึกนี้ออกมา ๆ ซึ่งเจนนิษฐ์ทำได้ดีมาก บนความนิ่งนั้น ผมรู้เลยว่าเขามีข้างในเต็มที่ ด้วยตาของเขา ด้วยการขยับตัวเล็ก ๆ น้อย ผมรู้เลยว่าตรงนี้เขากำลังเอาอะไรออกมา ตรงนี้เขาพยายามเอาจุดนี้ออกมา” – นนทรีย์ นิมิบุตร

 

– คำสาปสยองสัมพันธ์พ่อลูก –

ภายใต้เรื่องราวลี้ลับ และความแปลกแยกที่รุมทึ้งพ่อ-ลูก มิตรและเมย์ ความต่างระหว่างวัยและแผลใจของทั้งสองคนกลายเป็นปัญหาที่ค่อย ๆ กัดกินจิตใจให้ความสัมพันธ์ของพ่อลูกเกิดรอยร้าว การได้นักแสดงมากฝีมือแถวหน้าของเมืองไทยอย่าง อนันดา มาประกบคู่กับ เจนนิษฐ์ เกิดเป็นเคมีที่ลงตัว ที่จะทำให้คนดูเดาไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับพ่อลูกคู่นี้ และนี่จะกลายเป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้ The Cursed Land แดนสาป เป็นหนังสยองขวัญที่มีมิติลึกยิ่งขึ้น

 

“พ่อลูกคู่นี้จะมีความสัมพันธ์ที่ทุกคนจะเดาไม่ออกเหมือนกันว่ามาอยู่จุดนี้ได้ยังไง เพียงแต่ว่าเราอยากให้คนดูเห็นตั้งแต่แรก ว่าความสัมพันธ์ของพ่อลูกคู่นี้มันจะเริ่มด้วยความรู้สึกเหินห่าง แล้วก็หลังจากนั้นสถานการณ์ลี้ลับบางอย่างมันจะทำให้ระยะห่างของสองพ่อลูกนี้มันค่อย ๆ กระชับขึ้น 

 

และนี่แหละมันก็เลยกลายเป็นเหตุผลที่ว่า เวลาเราเอาภาพของเจนนิษฐ์มาประกบกับอนันดา ทั้งสองคนมีจุดเด่นมาก ๆ เลยคือหน้าตาที่ซ่อนความรู้สึกอะไรบางอย่าง หรือบาดแผลในอดีตอยู่ ดังนั้นมันก็เลยกลายเป็นเหตุผลที่เราต้องเลือกสองคนนี้มารับบทเป็นพ่อ-ลูกกัน

ซึ่งเราคิดว่าดราม่าครอบครัวพ่อ-ลูก มันก็เป็นส่วนที่น่าจะทำให้หนังมีอะไรนอกเหนือจากการที่เราคิดจะทำหนังสยองขวัญ พอมันมีเรื่องคอนเซปต์ของบ้าน แล้วก็มีครอบครัว เราก็เลยเลือกให้เป็นพ่อกับลูกที่มันจะมีปมหรือมีความขัดแย้ง หรือมีปัญหาที่จะต้องคลี่คลาย แล้วก็อย่างที่บอกว่าคือเบื้องต้น ทุกคนจะคิดว่าเป็นหนังสยองขวัญ แต่จริง ๆ แล้ว มีเรื่องที่มันซ้อนทับอยู่ เรื่องปัญหาชีวิตเรื่องดราม่า เรื่องปมในจิตใจมันน่าจะทำให้หนังมีมิติมากกว่าแค่เป็นหนังผีปกติ” – ภาณุ อารี

 

“มันมีความเป็นหนังชีวิต หนังดราม่า หนังพ่อลูก หนังของความไม่เข้าใจกัน ความขัดแย้งกันในระหว่างตัวละครมากกว่าที่คนขัดแย้งกับผี” – ก้อง ฤทธิ์ดี

 

แต่ในขณะเดียวกันการต้องมาประกบคู่กับนักแสดงต่างเจนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ อนันดา และเพื่อให้เกิดเคมีที่เข้าขากันมากที่สุด อนันดา และ เจนนิษฐ์ ได้มีการเสริมเรื่องราวของ มิตร และ เมย์ ให้มีมิติที่ลึกยิ่งขึ้น

 

“บางทีเราเจอนักแสดงที่คนละเจนกับเรา เราก็ชอบไปคิดของเราเองว่าเหมือนเราเจอเอลี่ยน มันแบบเขาจะเข้าใจเราไหม เพลง หนัง สื่อต่าง ๆ ก็เสพมาไม่เหมือนกัน มาจากคนละเจน มีอะไรจะคุยกัน จะข้องเกี่ยวกันได้หรือเปล่า แต่พอเราไม่ไปโฟกัสเรื่องตัวตนของเขาว่าในชีวิตจริงเป็นยังไง แต่มาโฟกัสว่านี่คือเรื่องราวของเราสองคนพ่อลูก ลึก ๆ แล้วเนี่ยมันก็อยู่บนฐานของสิ่งที่ผมว่าทุกคนจับต้องได้ก็คือความรัก พ่อเขาก็แบบมีความรักต่อลูกเขา ทุกอย่างที่มันเป็นเรื่องดี ๆ ที่เขาอยากจะให้กับลูก เขาก็พยายามจะทำ และยิ่งเขาทำไม่ได้มันก็ยิ่งเจ็บปวดสำหรับตัวละคร 

 

มีหลายอย่างที่เราคุยกันกับทางเจนนิษฐ์ กับทางพี่ต้อยด้วย ว่าความสัมพันธ์ที่มันมีกับตัวละครของเมย์ ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้เขียนในบทให้ละเอียดสักเท่าไหร่ มันจะมีหลุดออกมาบ้าง แต่มันไม่ได้ไปขยายความเป็นเหตุการณ์ให้เรารู้ในเรื่อง

 

เรากับเจนนิษฐ์ก็เลยมาคุยกันว่า เราควรจะสร้างเรื่องราวตรงนี้ขึ้นมา แล้วเราก็ไปทำอย่างละเอียดเลย ว่าเราเข้ามาในชีวิตเขาตอนไหน เราทะเลาะกันครั้งแรกเมื่อไหร่ ความสัมพันธ์มันลึกซึ้งแค่ไหน ตอนหลังจากเกิดเหตุ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูกมันเปลี่ยนไปยังไงบ้าง ซึ่งพอเราสร้างตรงนี้ออกมามันไม่ได้เป็นแค่ความรู้สึก แต่เราสร้างมันออกมาเป็นเรื่องราวเลย ในวัยนี้เรื่องราวมันเป็นแบบนี้ พอความสัมพันธ์มันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง มันเกิดขึ้นในวัยนี้ เราเคยใช้ความรุนแรงกับเขาหรือเปล่า เหตุการณ์วันนั้นมันเป็นยังไง คือเราไล่ออกมาเป็นเรื่องราวทั้งหมดเพราะอย่างน้อยที่สุดเราคุยกันไว้ว่า ถ้าสมมติมันมีฉากที่เราต้องรู้สึกถึงอดีตเราอยากให้มันเป็นภาพเดียวกัน ไอ้ความรุนแรง หรือความเศร้า ความทุกข์ เราอยากให้มันเป็นภาพเดียวกัน

 

เราก็เลยไปสร้างเรื่องราวนี้ขึ้นมาแล้วก็มาเช็กกับทางพี่ต้อยอีกทีว่าเขาโอเคกับเรื่องราวตรงนี้ไหม พอเรามีตรงนี้เนี่ยที่เหลือมันก็เริ่มทำง่ายขึ้น พอผมล้วงกระเป๋ากางเกง พอไอ้ความคิดพวกนี้มันผุดขึ้นมา มือมันก็จะเกร็งขึ้นมาเอง มันจะกำมือขึ้นมาเอง ไหล่มันก็จะตึงขึ้นมาเอง ก็จะอาศัยอะไรแบบนี้มาเป็นวิธีเข้าบท ผมก็จะเริ่มจากตรงนี้ก่อนให้มันคุ้นเคยกับเสื้อผ้า กับภาษากาย แล้วพอเข้าไปอยู่ในฉากมันก็จะไม่ต้องกังวล ไม่ต้องมานั่งคิดเรื่องว่าฉันเป็นคนมีปมนะ มีปัญหาแบบนั้นแบบนี้ มันก็จะอยู่ตรงนั้นของมัน” – อนันดา เอเวอริงแฮม

“จริง ๆ ทุกคนอาจจะติดภาพนะคะ หนูเล่นเรื่องไหนหนูไม่เคยมีแม่เลยค่ะเล่นเป็นลูกพ่อ 4-5 เรื่อง อยู่กับพ่อทุกเรื่องเลยค่ะ เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ตีกับพ่อ แต่ว่าเรื่องนี้ก็จะมีความขบถของตัวละคร แต่ละเรื่องที่หนูเล่นก็จะต่างกันไป อย่างเรื่องนี้มันมีประเด็นเรื่องแม่ที่เพิ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและพ่อก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย แล้วพ่อก็ต่อสู้กับครอบครัวคนอื่นในบ้านว่ามันไม่ใช่ความผิดจากการที่เขาดื่มเหล้านะแต่ว่ามันเป็นอุบัติเหตุจริง ๆ 

 

มันก็เป็นความสับสนของเด็กอายุ  18-19 ปี ด้วยค่ะ แบบมันเป็นเหตุการณ์ที่สูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในเวลาที่เขายังไม่โตพอที่จะรับมือกับการสูญเสีย แล้วเหตุการณ์ในเรื่องมันน่าจะหลังจากอุบัติเหตุนั้นไม่ถึงปีด้วยซ้ำ มันก็เลยเกิดกำแพงบางอย่าง มีความขุ่นมัวในความสัมพัน์ระหว่างพ่อกับลูกคู่นี้ขึ้นมา เหมือนเป็นความรู้สึกที่ยากจะอธิบายเหมือนกันเพราะว่า เราโกรธเหรอ เราเกลียดพ่อหรอ หรือลึก ๆ เราก็สงสารพ่อเหมือนกันที่ต้องมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ แต่เราก็เสียใจมาก ๆ ที่สูญเสียแม่ของเราไป” – เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ

 

– ญิน สิ่งลี้ลับที่ไม่อาจระบุตัวตน –

 

“ในศาสนาอิสลามก็มีมิตินี้ที่มนุษย์เราอยู่ และก็มีมิติอื่น ๆ ด้วย ซึ่งมีวิญญาณหรือสิ่งเหนือธรรมชาติอาศัยอยู่ ซึ่งญินเองก็อยู่ในมิติอื่น ๆ ที่ว่านี้ด้วย”

 – บรอนต์ ปาลาเร่ –

 

มีไม่บ่อยที่หนังผีไทยจะหันไปเล่าเรื่องราวของสิ่งลี้ลับต่างความเชื่อ ความน่าสนใจของ The Cursed Land แดนสาป คือการฉีกกรอบภูติผี วิญญาณอาฆาต ไปเล่าถึงสิ่งมีชีวิตปริศนา ยากจะระบุตัวตนอย่าง “ญิน” ที่ตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม นี่คือสิ่งมีชีวิตต่างมิติที่อยู่ปะปนกับมนุษย์ และถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้า

 

“เรารู้สึกว่าเออผีญินมันก็คล้าย ๆ กับ สาง ที่คนไทยเรารู้จัก มันจะไม่ใช่ดวงวิญญาณซะทีเดียว มันแทบจะไม่มีรูปร่าง ไม่มีอะไรเลย มันเป็นความรู้สึก เป็นสิ่งที่ทุกคนใช้ยึดถือเป็นความเชื่อ เหมือนคนไทยเราเชื่อเรื่องขวัญที่อยู่บนศรีษะ เมื่อก่อนเราเด็ก ๆ เวลาเราตกใจหรือเรากลัว ผู้ใหญ่ก็จะปลอบเราว่าขวัญเอ๊ยขวัญมานะ อะไรแบบนี้  

ผมรู้สึกว่าคำว่าญิน หรือสาง หรือผีใด ๆ ก็ตามที่มันหลุดพ้นออกจากความเป็นตัวตน มันเหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างมันอยู่ในความรู้สึกของเรา ในจิตใจของเรา สิ่งที่เขาทำกับเราได้คือเขาควบคุมความรู้สึก ควบคุมอารมณ์ ควบคุมวิญญาณของเรา เลยทำให้รู้สึกว่า ความไม่มีตัวตนบางครั้งมันน่าสนใจกว่าการที่เราเห็นผีทั่วไปด้วยซ้ำ” – นนทรีย์ นิมิบุตร

 

“ทุกชาติ ทุกศาสนา ทุกสังคมมันก็มีเรื่องลึกลับ เรื่องผี เรื่องวิญญาณ เพียงแต่ว่าแต่ละที่มันอาจจะเรียกด้วยคำที่แตกต่างกัน หรือว่าอธิบายด้วยความคิดต่างกัน อธิบายผ่านความเชื่อของศาสนา ความเชื่อทางประเพณี หรือประวัติศาสตร์อะไรที่แตกต่างกัน 

 

อันนั้นแหละเป็นจุดที่เราสนใจ เพราะว่าหนังผีไทยมันเยอะ หนังผีไทยทุกเรื่องเล่าจากมุมมองของศาสนาพุทธเพราะว่ามันเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว คนไทยเป็นเมืองพุทธ เพราะงั้นความเชื่อหรือวิธีคิดอะไร โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องแบบนี้มันก็เป็นความเชื่อแบบพุทธ ปราบผีเลยก็ต้องมีพระ

 

แต่ว่าในเอเชียเนี่ยจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ หนังอินโด หนังมาเล ก็คือหนังผีปุ๊บ มันก็เปลี่ยนไปกลายเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่ง อาจจะเป็นมุสลิม อาจจะเป็นศาสนาอิสลามผสมฮินดู อิสลามผสมคริสต์ แต่คิดว่าหนังไทยมันยังมีน้อยมากที่เป็นหนังผีที่เล่าผ่านความเชื่อหรือคติแบบอิสลาม

 

ผี หรือสิ่งที่คนไทยเรียกว่าผี ก็คือคนตายไปแล้วกลับมา แต่ถ้าเป็นหนังแบบ The Conjuring หนังผีฝรั่งอย่าง The Exorcist หรือว่าหนังผีฝรั่งทั่วไป มันไม่ใช่ผีคนตาย อย่าง The Exorcist มันคือปีศาจ คือขั้วตรงข้ามกับพระเจ้า แต่มันก็เป็นผีเหมือนกัน อยู่ที่ว่าเราจะอธิบายว่ายังไง คนไทยคือตายไปแล้วกลับมาหลอก ถ้าเป็นคริสต์คือปีศาจ คือพลังมืดที่สู้กับพระเจ้า อิสลามก็เรียกว่าญิน 

 

ญินก็คือเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่คน แล้วก็ไม่ใช่เทพยดา แต่ว่าญินก็เป็นสิ่งมีชีวิตคล้าย ๆ  กับอยู่อีกมิติหนึ่งที่มันทับซ้อนอยู่แล้วเรามองไม่เห็น แล้วก็สร้างโดยพระเจ้าเหมือนกัน จริง ๆ มันคล้ายคริสต์มากกว่า แต่ว่าญินจะเข้ามาทางผู้ร้ายหรือปีศาจก็ได้ หรือฝั่งมนุษย์ ฝั่งดีก็ได้”- ก้อง ฤทธิ์ดี

 

คอนเซปต์ของญินมันไม่ได้มีความชัดเจนว่าน่ากลัวแบบไหน แต่ว่าคอนเซปต์ของมันที่มีการบันทึกออกมาคือไฟที่ไม่มีควัน แต่อันนั้นก็อาจจะดูเป็นนามธรรมเกินไป เราก็เลยเอาสิ่งที่เราเคยได้ยินในคนที่อาจจะอยู่ในชุมชนมุสลิม ไอ้ความรู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างอยู่ในบ้านเรา เสียงกระซิบ หรืออะไรแบบนี้ เราก็คิดว่าเงาเนี่ยมันอาจจะเป็นอะไรที่เป็นรูปธรรมที่สุด แล้วก็ดูหลอนที่สุด 

 

ก็เลยคิดว่าในการตีความเหมือนมีอะไรบางอย่างอยู่ในบ้าน มันก็เหมือนเป็นสิ่งที่อาจจะดูชัดเจน และดูน่ากลัว ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่เราเห็นในหนังขึ้นมา

 

แต่สิ่งหนึ่งที่เราเอามาขยายให้เรื่องมันมีความเข้าใจง่ายขึ้นก็คือ คอนเซปต์ของพวกญินร้าย มันจะพยายามเข้าเล่นงานคนที่มีจิตใจอ่อนแอ อันนี้มันจะเป็นเงื่อนไขของเรื่อง ดังนั้นตัวละครในหนังมันจะมีความเปราะบางทางด้านจิตใจซึ่งมันก็เอื้อต่อการที่ญินไม่ดีเข้าไปทำร้ายเราได้”  – ภาณุ อารี

 

ซึ่งในการพัฒนาดีไซน์ของญินที่จะได้เห็นในภาพยนตร์เรื่อง The Cursed Land แดนสาป นั้นทางผู้กำกับและคนเขียนบทค่อย ๆ พัฒนากันอยู่นานกว่าจะได้แบบที่ต้องการ และเดิมทีแล้วเคยมีไอเดียที่จะมีการผสมผสานเปรตเข้าไปในดีไซน์ 

 

ส่วนของการพัฒนาญินมันแทบจะสุดท้ายเลย ตามหลักเราทำอะไรทุกอย่างแทบจะสวนทางกับการทำหนังสยองขวัญ หลายเรื่องเขาจะออกแบบตัวปีศาจ ตัวผีไว้ก่อน แต่ของเราจะค่อย ๆ คิด เพราะเราก็คิดอยู่หลากแนวแหละ เพียงแต่ว่าสุดท้ายกว่าที่มันจะมาได้ตัวญินที่ชัดเจน ซึ่งมันกลายมาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือญินในหนังเรื่องนี้อาจจะไม่เหมือนกับสัตว์ประหลาด เพราะว่าเราก็พยายามหลีกเลี่ยงให้มันมีความแปลกใหม่ ดีที่นักออกแบบก็ช่วยกันออกแบบในสิ่งที่เราต้องการ คือมันเป็นทั้งความยากและความง่ายของการที่คอนเซปต์ของญินไม่มีใครเคยบอกชัดเจนว่ามันต้องมีหัวแบบนี้มีหางแบบนี้ 

เราก็พยายามผสมผสานกับแนวคิดหลาย ๆ อย่าง ในช่วงแรก ๆ เรายังคิดว่าอยากให้มันมีส่วนผสมของเปรต ซึ่งจะเชื่อมกับความเชื่อของคนไทยไปด้วย ความเป็นมลายูด้วย เหมือนผสมกันหลาย ๆ อย่างว่ามันจะออกมาเป็นยังไง ซึ่งมันก็จะมีบางอย่างที่ปรากฎออกมาในหนัง แต่ว่าไอ้สิ่งที่มันอาจจะเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเราก็จะดึงมาจากประสบการณ์ที่หลาย ๆ คนพูดถึงเวลาอยู่บ้าน เวลาเจออะไรแปลก ๆ เช่นเราได้ยินเสียงแปลก ๆ ไม้ลั่นในบ้าน หรือแม้กระทั่งเงา 

 

ซึ่งเราก็คิดว่าไอ้นี่แหละอาจจะเป็นตัวที่ค่อย ๆ เพิ่มดีกรีของความหลอนได้มากขึ้น ดังนั้นเราก็จะสร้างญินในรูปแบบของเงาที่ปรากฎตามผนังต่าง ๆ เข้าไปด้วย เราพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้มันมีความเป็นสัตว์ประหลาดมากที่สุด แต่อยากให้มีความรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่ในบ้านเช่นเงา เวลาเราจุดเทียนเราจะเห็นอะไรบางอย่างมันขยาย เราพยายามยึดถึงหลักเบสิกง่าย ๆ แบบนี้มากกว่า” – ภาณุ อารี

 

– บุคคลลึกลับจากต่างแดน –

 

นอกจากอนันดา และ เจนนิษฐ์ แล้ว The Cursed Land ยังมีอีกสองนักแสดงน่าจับตาอย่าง บรอนต์ ปาลาเร่ (Bront Palarae) นักแสดงหนุ่มชื่อดังชาวมาเลเซีย จากหนังสยองขวัญเลือดสาดสัญชาติอินโด Satan’s Slaves มารับบทเป็น ฮิม หนุ่มลึกลับในหนองจอกที่อาจกลายเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยมิตร และ เมย์ ให้พ้นจากเรื่องลี้ลับ ฮิมคือตัวละครที่ถูกคนในชุมชนนินทาว่าเป็นคนเล่นของ ชอบมนต์ดำ เขาออกเดินทางไปศึกษศาสตร์นี้ในป่าลึกของสามจังหวัดภาคใต้ ก่อนที่จะกลับมาในชุมชนอีกครั้งแล้วพบว่าบุคลิกเขาเปลี่ยนไป 

 

“ฮิมเป็นคนที่เข้าใจตัวเขายากมาก ซึ่งเขาเป็นคนมาเลเซีย ผมก็เลยต้องไปทำความเข้าใจกับบริบทของประวัติศาสตร์หนองจอกว่าเป็นยังไง มุสลิมที่นู่นเป็นยังไง แล้วก็ต้องเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้ด้วย ก็คือหาข้อมูลและทำการบ้านส่วนมากก็จะเป็นแนว ๆ นั้นครับ ตอนเวิร์กช็อปก็มาลองเล่นกันดูว่า เขาน่าจะมีบุคลิกยังไง คือตอนสร้างคาแรกเตอร์มันไม่ค่อยยากนะ แต่ตอนทำการบ้านเกี่ยวกับสังคมหนองจอกจะยากกว่า

คือสำหรับโปรเจกต์นี้น่าสนใจเพราะว่ามันมีเรื่องของประวัติศาสตร์ซึ่งคนมาเลเซียก็ไม่ค่อยรู้ แล้วรู้สึกว่าคนไทยก็ไม่ค่อยรู้ด้วย รู้สึกว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเรื่องนี้ ผมว่ามีอะไรหลาย ๆ อย่างที่น่าสนใจในเรื่องนี้สำหรับคนไทย และก็สำหรับคนต่างชาติก็จะได้อะไรเยอะกว่าแค่เป็นหนังผี” – บรอนต์ ปาลาเร่ 

 

“คุณบรอนต์เนี่ย ตอนคุณก้องเขียนบทของฮิมซึ่งเป็นตัวละครลึกลับในเรื่อง แล้วก็เป็นตัวละครที่จะมาคลี่คลายสถานการณ์หลาย ๆ อย่างให้กับสองพ่อ-ลูก ก็เป็นคุณบรอนต์ตั้งแต่ต้น มันเป็นความท้าทายด้วยแหละ ถ้าเราได้นักแสดงที่อาจจะไม่ใช่คนไทย และก็อาจจะไม่ได้เป็นคนที่คุ้นหน้าสำหรับคนไทยมาก ๆ  สำคัญคือเขาพูดได้ทั้งภาษาไทยแล้วก็ภาษามลายู เพราะในหนังตัวละครตัวนี้จะต้องพูดได้ทั้งสองภาษา

แล้วเราจะเลือกใคร เพราะว่าถ้าเป็นนักแสดงไทยบางทีการจะใส่บทบาทตรงนี้ไปมันเป็นเรื่องยากเกินไป

 

ดังนั้นบรอนต์ก็อยู่ในตัวเลือกของเราตั้งแต่แรก แล้วคุณสมบัติที่เด่นมาก ๆ ของคุณบรอนต์ซึ่งหลายคนไม่รู้กระทั่งเราได้เริ่มต้นถ่ายทำ คือคุณบรอนต์พูดภาษาไทยได้ คือเวลาเราได้เห็นหนังที่คุณบรอนต์เล่นก่อนหน้านี้ เราจะเข้าใจว่าคุณบรอนต์เป็นคนมาเลที่ไม่น่าจะพูดไทยได้ เราก็เลยคคิดว่านี่อาจจะเป็นเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ ที่เราสองคนรู้จักเขาดี เลยคิดว่าถ้าเขามาอยู่ในหนังแล้วคนได้เห็นตัวอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนต่างชาติ คนมาเล หรือคนอินโด เห็นภาพของเขาที่พูดภาษาไทยมันก็คงเป็นความรู้สึกประหลาดและน่าสนใจดี ก็เลยคิดว่า บท ๆ นี้มันคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคุณบรอนต์ ตอนที่เราพัฒนาบทกันไปใกล้จะเสร็จ เราติดต่อหาคุณบรอนต์ แล้วก็บอกว่าบทที่เขาจะต้องเล่นเป็นบทอะไร ซึ่งพอเขาฟังที่เราบรีฟไปทั้งหมดปุ๊บ เขาก็ตอบรับทันทีเหมือนกัน 

 

ก็โชคดีมากที่เขาตอบรับ เพราะตอนที่คุยกับคุณก้อง ยังคิดกันเลยว่า ถ้าไม่ได้บรอนต์ บรอนต์ไม่ตอบรับ เราอาจจะหยุดหรืออาจจะไม่ได้พัฒนาต่อก็ได้เพราะว่าเรารู้สึกว่าบทหนังเรื่องนี้จะต้องเป็นคุณบรอนต์เท่านั้น เพราะเขาคือตัวสำคัญเลย” – ภาณุ อารี 

 

“ผมเคยเจอเขาตั้งแต่เขาเพิ่งเริ่มเป็นนักแสดง เขาเคยเทรนที่เมืองไทย เขาเป็นลูกครึ่งไทย-มาเลเซีย แล้วก็ในเมื่อหนังเราต้องการข้ามวัฒนธรรมระหว่างไทยกับมาเลเซีย มันก็ต้องหาคนที่พูดได้สองภาษาซึ่งมันมีเขาคนเดียว เพราะฉะนั้นตอนแรกที่ตั้งใจให้มีตัวละครนี้คือให้เห็นว่าคนที่พูดทั้งไทยและมลายูได้ก็มีแต่เขา ก็เลยเริ่มมาจากเขา 

 

ประกอบกับการที่เขาก็มีชื่อเสียงพอสมควร เขาดังมากในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ตอนที่เราปล่อยตัวอย่างไปใน X ในอินโดเนี่ยพอเขาแชร์ไปทีเดียวมันไปเป็นล้านเลย ซึ่งเราก็มีความตั้งใจทั้งในทางการตลาด และในทางตัวละครด้วยว่าเขาก็เหมาะสมที่สุด และเขาก็อยากเล่นหนังไทยด้วยเพราะเขาเป็นคนที่พูดไทยได้แต่เขาไม่เคยได้เล่นหนังไทยเลย เล่นแต่หนังอินโดนีเซีย มาเลเซียมาตลอดชีวิต” – ก้อง ฤทธิ์ดี

 

“บรอนต์เป็นคนทำงานละเอียดมาก เป็นคนทำงานที่ตั้งใจมาก เขาไม่ได้ใช้แค่การแสดง แต่เขาใช้การแสดงผสมกับพื้นที่ที่เขามีอยู่ เขาจะถามเราตลอดเวลาว่าใช้พื้นที่ได้แค่ไหน เพื่อที่เขาจะเคลื่อนย้ายไปในจุดต่าง ๆ เพื่อที่จะเคลื่อนตัวละครของเขาไปในจุดต่าง ๆ ได้ ซึ่งทำให้ตัวละครมันไม่นิ่ง มันไม่หยุดอยู่กับที่ พอทำงานไปสักพักผมจะเห็นเลยว่า ทั้งอนันดาทั้งเจนนิษฐ์ทุกคนก็กระตือรือร้นที่จะทำงาน เพื่อจะให้ทัดเทียมกับการทำงานแบบของบรอนต์ 

 

คือไม่ใช่สบาย ๆ แล้ว คุณเจอคู่แข่งที่น่ากลัว เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่ามันมีนักแสดงคนหนึ่งที่สามารถจะแสดงศักยาภาพการแสดงได้ในระดับนั้นเนี่ย ทุกคนก็จะเร่งตัวเองขึ้นไปจะให้เขาไม่ตายอยู่ในซีนนั้น” – นนทรีย์ นิมิบุตร

 

นอกจาก บรอนต์ ปาลาเร่ ในบท ฮิม แล้วยังมี สีดา พัวพิมล นักแสดงรุ่นเก๋าที่หวนคืนสู่วงการภาพยนตร์อีกครั้ง มารับบทเป็น ไซหนับ หมอผีที่พยายามจะเกษียณตัวเองเพราะมีความรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำขัดกับหลักศาสนา ส่งให้เธอตัดสินใจย้ายไปอยู่ในป่าลึก ซึ่งในอดีตเธอเคยประสบอุบัติเหตุจากการระเบิด ทำให้เธอมีขาเพียงข้างเดียวและใช้ชีวิตอยู่บนวีลแชร์ 

 

ต้องพูดภาษามลายูเป็นครั้งแรก ก็หนักใจอยู่เหมือนกันนะคะ แต่พอเล่นไปแล้วก็โอเคลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะว่าเราต้องทำให้ได้เนื่องจากว่า ทางผู้กำกับน้องต้อย แล้วก็คุณอุ๋ย-นนทรีย์เป็นคนเลือกมาให้รับบทตัวนี้เขาบอกว่าเป็นคาแรกเตอร์ที่เหมาะ ในเมื่อเขามั่นใจในตัวเราขนาดนี้ ก็รู้สึกว่าเราต้องทำให้ได้

ดีที่ได้ครูดี ก็คือครูเนกับครูน้องช่วยกันแล้วก็อธิบายความหมายว่าอันนี้มันความหมายแบบนี้ ๆ นะ ในไดอะล็อกไทย มันก็ทำให้เราเข้าใจขึ้น ทีนี้เราก็เลยพูดได้ แอ็กติ้งได้เพราะเขาสอนดีมาก” – สีดา พัวพิมล 

 

“แม่สีดาเป็นเซอร์ไพรส์ของเซอร์ไพรส์มาก ๆ ตัวละครตัวนี้จริง ๆ คือเราต้องการคนที่มีความสามารถ คือเขาต้องพูดภาษามลายูให้ได้ แล้วก็ต้องมีความมีออร่าอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันต้องมีความลึกลับ มีความน่ากลัว ซึ่งบทนี้เป็นบทที่แคสต์ยากที่สุด 

 

แล้วเราได้หลาย ๆ คนมาแคสต์ บางคนเป็นนักแสดงที่มีฝีมือมาก ๆ เก่งมากเลย สามารถที่จะท่องบทภาษามลายูได้ บางคนก็มีพื้นฐานทางการละครอะไรหลาย ๆ อย่าง ก็ยังไม่ผ่าน เพราะบางคนอาจจะสาวเกินไป บางคนดูตั้งใจเกินไป กระทั่งเราได้เห็นเทปแคสต์ขอแม่สีดาซึ่งเรารู้สึกว่า คุณสีดาก็เป็นคนหนึ่งที่หน้าตามีความ Cinematic มาก เราเลยเชิญแม่สีดามา จำได้ว่าตอนที่เขามาแคสต์ครั้งแรก เขาเต็มไปด้วยความไม่มั่นใจ ส่วนหนึ่งคือแม่สีดาเขาอาจจะร้างราการเล่นหนังมานานมาก แต่ด้วยความรู้สึกส่วนตัวเราค่อนข้างชอบแก แกเป็นคนที่ใจเราอยากได้มากที่สุด สุดท้ายทุกคนก็ต้องเชื่อในการตัดสินใจของผู้กำกับ 

 

คือความมหัศจรรย์มันเกิดขึ้นตอนที่เริ่มถ่ายซีนแรกของแกเลย จำได้ว่าเป็นซีนที่ทุกคนอยู่ในบ้านของเขาในป่าลึก แต่กลายเป็นว่าพอลองให้แกได้เล่นเป็นมาสเตอร์ซีนต่อจากนั้นเนี่ย แกเป็นคนเดียวที่เล่นเทคเดียวผ่าน โอเคบทภาษามลายูบางทีแกเล่นก็อาจจะมีหลุดบ้าง ซึ่งเรามาถ่ายอินเสิร์ชได้ แต่นั่นแหละคือเป็นครั้งแรกเลยที่รู้สึกว่าความมหัศจรรย์มันเกิดขึ้น ก็เลยรู้สึกว่านี่แหละคือการตัดสินใจที่ถูกต้อง และแกก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแกคือส่วนสำคัญของหนังเรื่องนี้

 

มีสิ่งหนึ่งที่เป็นความรู้สึกส่วนตัวแล้วค่อนข้างประทับใจมากเลยคือ แกมาพูดทีหลังว่าหนังเรื่องนี้เหมือนปลุกชีวิตแกกลับมา เพราะว่าตอนที่เขามา เขาก็บอกว่าเขาปะติดปะต่อไม่ถูกว่าควรจะต้องทำยังไง เพราะว่าเขาไม่ได้อยู่ตรงนี้มานานแล้ว แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เขาพิสูจน์ให้เห็น เขาซ่อนอะไรบางอย่างที่คนภายนอกอาจจะไม่เห็นแต่พอเขาได้เปิดมันออกมาแล้ว ทุกคนได้เห็น ทุกคนทึ่ง แล้วก็ยอมรับเลยว่าถ้าวันนั้นเราเลือกคนอื่น The Cursed Land มันอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบขนาดนี้” – ภาณุ อารี

 

“การออกแบบที่อยู่ของไซหนับ ราอยากให้เขาเป็นคนธรรมดาที่สุดแล้วก็นึกไม่ถึงว่า ผู้หญิงแก่คนนี้จะเป็นหมอผีได้ยังไง จะมีอิทธิฤทธิ์ยังไง จะมีวิธีการในการปราบวิญญาณต่าง ๆ อย่างไร คือมันเหมือนเราทำตัวละครนี้เป็นสองชั้น เป็นสองเลเยอร์ เลเยอร์หนึ่งก็ดูเหมือนเขาเป็นคนที่เคร่งขรึมมาก เป็นนักปราบวิญญาณมาก แต่อีกเลเยอร์หนึ่งของเขามันดูธรรมดามาก ๆ เขาจะทำอะไรได้ แต่ว่าในที่สุดตัวเรื่องมันก็จะเฉลยความเป็นจริงออกมา” – นนทรีย์ นิมิบุตร

 

บทพิสูจน์ของนักแสดงสาวรุ่นเก๋า สีดา พัวพิมล ที่ไม่เพียงแค่ต้องพูดภาษามลายู ภาษาที่ตัวเองไม่ถนัดตลอดทั้งเรื่องเท่านั้น แต่แม่สีดา ยังรวบรวมทุกความกล้าขึ้นสลิงแสดงฉากแอ็กชันด้วยตัวเองเพื่อให้ The Cursed Land แดนสาป ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

 

“บทนั้นเป็นบทที่แม่ตองขึ้นสลิงแล้วก็พอดีคุณอุ๋ยกับน้องต้อยเนี่ยเขาก็เป็นห่วงเรา เห็นเราอายุเยอะแล้ว เราก็บอกไม่ต้องเลย ไม่เอา ไม่ใช้สแตนอิน เราขึ้นไปประมาณตึกข้างบนสูง ๆ แล้วเชือกสลิงครึ่งหนึ่งของมันเล็กมากเลย โห..เราตัดสินใจแล้วเนอะว่าเราจะเล่นเองไม่ใช้สแตนอิน ใจกล้าบ้าบิ่นเนอะ แล้วก็นั่งในรถเข็น รถเข็นก็หนักนะ แล้วเส้นสลิงก็ใหญ่กว้าด้ายนิดเดียว พอเราตัดสินใจไปแบบนั้นแล้วเราก็ต้องทำ ในใจเราก็สู้ตายสีดา พอเห็นแล้วแบบกลัวมาก แต่ไม่เป็นไร เราเป็นนักแสดงเราต้องทำให้ได้ไม่ต้องใช้สแตนอิน ผู้กำกับเขาก็อะ เอาตามนั้น 

 

ขึ้นไปก็ไม่ใช่ขึ้นไปเฉย ๆ นะคะ โอโหรถเนี่ยข้างบนขึ้นไปแล้วเอียงแล้วเอียงแรงมากเลย โยกไปโยกมาแรงมาก หวาดเสียวเหมือนกันนะจังหวะนั้นไม่คิดค่ะ เล่นอย่างเดียวเลย คือไม่คิดอะไรแล้ว เราต้องเล่นให้มันผ่านพ้นไปให้ได้ เราก็ทำได้จริง ๆ แต่ตอนนั้นเห็นสายสลิงแล้ว คือเราเล่นหนังเล่นละครมาไม่เคยขึ้นสลิงแบบนี้ไง อันนี้เป็นเรื่องแรกเลยค่ะน้องต้อยท่าทางจะท้าพิสูจน์แม่มาก (ฮ่า ๆ ) แต่ดีต้องขอบคุณน้องต้อย ขอบคุณคุณอุ๋ย ที่ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี ฉากนั้นน่ะเป็นฉากที่หวาดเสียวมาก โอ้โห ใจกล้าบ้าบิ่น แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็จะยังตัดสินใจเล่นเองค่ะ เราคิดว่าการเล่นเองมันดีกว่าการใช้สแตนอิน” – สีดา พัวพิมล 

– แดนต้องสาป –

 

นอกจาก มิตร, เมย์, ฮิม และไซหนับ The Cursed Land แดนสาป ยังมี ‘บ้าน’ เป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่ขับเคลื่อนเรื่องราวให้มีมิติมากขึ้น แต่การจะหาบ้านที่ตรงตามวิสัยทัศน์ของผู้กำกับมากที่สุดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบ้านติดคลองในชุมชนตามภาพที่วาดไว้มันเหลือน้อยเต็มที หลังจากเฟ้นหาบ้านที่ใช่กันอยู่นานในที่สุดภาณุ อารี ผู้กำกับของเรื่องก็ตัดสินใจใช้ บ้านเขียว อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา หรือ บ้านขุนพิทักษ์บริหาร ตำนานบ้านชวนเฮี้ยนมาใช้เป็นโลเคชันหลักในการถ่ายทำ

 

 “อีกคาแรกเตอร์หนึ่งก็คือพื้นที่ซึ่งเราอยากจะนำเสนอชุมชนมุสลิมที่เราอาจจะไม่ได้คุ้นเคยมากนักในหนังไทย เราก็เลยไปถ่ายที่หนองจอกซึ่งก็คือคาแรกเตอร์หนึ่ง

 

แต่ตัวบ้านจริง ๆ ใจของผมเองตอนที่คุยกับคุณก้องเราอยากได้บ้านที่มันมีคาแรกเตอร์ของมัน คือเห็นแล้วรู้สึกว่ามันจะต้องมีอะไรบางอย่างเกี่ยวข้องกับบ้านหลังนี้ แล้วก็มีอะไรบางอย่างที่อยู่ในบ้านหลังนี้ ซึ่งเราอยากให้มันอยู่ในพื้นที่ที่เราอยากให้เป็นคาแรกเตอร์ของหนังก็คือหนองจอก แต่ปรากฎว่ามันหายากมากเลยเพราะว่าตอนนี้บ้านที่มันอยู่ในชุมชนแบบนี้มันค่อย ๆ หายไปแล้ว ก็เลยหาหลาย ๆ ที่ จนสุดท้ายก็ได้โลเคชันเมเนเจอร์ที่เขาไปหามา ก็ค้นพบบ้านที่อยู่ในอยุธยา 

 

จริง ๆ คือมันก็ไม่ได้เป็นบ้านที่ออริจินอลมาอยู่ในหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก มันก็เคยอยู่ในหนังหลาย ๆ เรื่อง และมันก็ดูเป็นบ้านที่มีความเหมาะสมมากที่สุดเพราะว่ามันเป็นบ้านที่ตรงตามที่เราต้องการเลยคือเราอยากได้บ้านที่มันอยู่ริมคลอง ซึ่งบ้านหลังนี้ก็อยู่ริมคลอง เป็นบ้านที่ชื่อว่าบ้านเขียว อำเภอผักไห่

 

หลังจากที่คุยกับทีมเราก็เลือกบ้านหลังนี้เป็นโลเคชันสำคัญของหนัง แต่ปัญหาของบ้านหลังนี้คือพอเข้าไปถ่ายจริง ๆ พื้นที่ที่มันถ่ายง่ายที่สุดคือหน้าบ้าน แต่ข้างในมันยากมากเพราะว่าพื้นที่มันเล็ก แล้วอีกอย่างตอนที่เขียนในบท มันต้องการพื้นที่ข้างในบ้านค่อนข้างกว้างเพราะว่าเราอยากได้ความรู้สึกหลอน ๆ จากความกว้างของบ้าน เราก็เลยตัดสินใจว่า ในเมื่อด้านหน้าของบ้านมันแข็งแรงมากพอที่จะเป็นคาแรกเตอร์หนึ่งของหนัง งั้นเราสร้างข้างในใหม่เลย เราก็เลยไปเช่าสตูดิโอแล้วก็ออกแบบข้างในบ้านใหม่ เสร็จแล้วก็นำทั้งสองส่วนมาตัดประกอบเข้าด้วยกัน ก็ปรากฏว่าพอตัดออกมาแล้วเนี่ยทุกคนก็เชื่อว่ามันคือบ้านหลังเดียวกัน ที่สำคัญคือมันก็ตรงตามความต้องการด้วย เราอยากให้บ้านมันมีชีวิต แล้วก็มีความรู้สึกบางอย่าง” – ภาณุ อารี 

 

“จริง ๆ เราต้องการจะทำให้เห็นว่าบ้านนี้มันอยู่ในชุมชนมุสลิม แล้วพอคนที่มาอยู่ในบ้านนี้ไม่ใช่คนมุสลิม ไอ้ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งจริง ๆ หรือความขัดแย้งที่คนมาอยู่ใหม่คิดไปเองมันน่าจะเป็นตัวอะไรที่ขับเคลื่อนหนังไปได้ 

แต่ว่าจริง ๆ แล้ว เราอยากจะให้นึกว่าประเด็นหลัก ๆ มันอยู่ที่ว่าบ้านมีสถานะส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนี้ เพราะลูกสาวจะมีบทที่เธอพูดว่า ‘เอ๊ะทำไมแถวนี้มันมีคนมุสลิมอยู่เยอะ’ มันแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกแปลกแยกมันเป็นสิ่งที่.. เราอยู่ในประเทศไทย แต่เวลาเราไปอยู่บางที่ เราจะรู้สึกแปลกแยก คือคนมุสลิมอยู่บางที่เขาจะรู้สึกแปลกแยก คนพุทธไปอยู่บางที่เขาก็จะรู้สึกแปลกแยก แต่ความรู้สึกแปลกแยกนี้มันมีจริงไหม หรือบางทีมันคิดไปเอง แล้วมันจะประสานกันให้มันคลี่คลายออกมาได้ยังไง” ก้อง ฤทธิ์ดี

 

“ความกังวลของผมคึอ เอ๊ะมันจะเก่าไปไหม ถ้าเกิดเราตัดสินใจมาอยู่บ้านสักหลังหนึ่งเนี่ย เราจะตัดสินใจที่จะมาอยู่บ้านที่มันมีสภาพในแบบนี้จริง ๆ เหรอ? เพราะฉะนั้นข้างนอกมันอาจจะดูเป็นบ้านเก่าโบราณ ซึ่งเราต้องการให้มันเป็นแบบนั้น มันผ่านเวลาเป็นร้อยปี แต่ข้างในเราก็พยายามทำให้มันดูไม่เก่ามากจนเกินไป มันดูอยู่ได้ มันดูเชื่อได้ว่า มันเป็นบ้านที่มนุษย์อยู่ได้จริง ๆ มันไม่ได้โทรม มันเก่าจนฝุ่นเขรอะขนาดนั้น

 

บ้านเป็นตัวละครตัวหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้บ้านตรงนี้เป็นตัวละครที่มีคาแรกเตอร์ของมันที่ชัดเจน โอเคมันมีความน่ากลัวอยู่ระดับหนึ่ง แต่มันไม่ได้น่ากลัวเหมือนกับว่าเห็นแล้วก็กลัวมันเลย 

 

แรก ๆ พอมันเข้าไปอยู่แล้วมันเกิดความรู้สึกที่ไม่อบอุ่น มันไม่ปลอดภัย รู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่ทางที่มันจะมาอยู่ ด้วยแปลนของบ้าน ด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยบันไดที่มันอยู่กลางบ้าน ซึ่งคนเดี๋ยวนี้ไม่ทำกัน มันมีหลายอย่างที่มันผิดจารีต หรือมันผิดวัฒนธรรมในการออกแบบ เพราะว่าเราต้องการการออกแบบที่มันผิด เพื่อจะให้รู้สึกว่าบ้านนี้มันไม่ปลอดภัยในการที่จะใช้อยู่อาศัย 

 

เพราะฉะนั้นการที่ตัวบ้านมันเป็นตัวละคร เราก็เลยต้องออกแบบมันตั้งแต่ต้นกับโปรดักชันดีไซน์ครับว่า เราอยากให้บ้านมันทำออกมาแล้วรู้สึกยังไง สีสันมันจะรู้สึกยังไง ความที่เดินแล้วไม่อยากจับอะไรเลย มันก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คาแรกเตอร์ของบ้านมันรู้สึกว่า มันไม่น่าอยู่ มันไม่น่าสัมผัส แล้วก็ทำให้ตัวละครมันรู้สึกได้มากขึ้นถึงความไม่สะดวกใจที่จะอยู่ ณ ที่แห่งนี้” – นนทรีย์ นิมิบุตร

 

นอกจากบ้านเขียวแล้ว อีกหนึ่งความท้าทายในการถ่ายทำภาพยนตร์ The Cursed Land แดนสาป คือโลเคชั่น ‘ป่า’ ที่ในบทถูกวางไว้ให้เป็นป่าที่เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากฉากหลังของเรื่องที่วางไว้ในบทนั้น เรื่องราวจะเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดน ซึ่งทีมงานภาพยนตร์เรื่องแดนสาปได้ยกกองถ่ายไปถึง 

‘นราธิวาส’ เพื่อถ่ายทำเรื่องราวบางส่วนให้ตรงกับที่วางไว้ในบทภาพยนตร์มากที่สุด และสมจริงที่สุด โดยการเดินทางไปถ่ายทำนั้นทีมงานเลือกใช้ทีมเล็ก และธรรมดาที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกกับผู้คนในพื้นที่ และเน้นถ่ายทำนอกเมืองเป็นหลัก

“ในบทเนี่ยเรากำหนดให้ฉากหลักในเรื่องคือจังหวัดชายแดน ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นที่ไหน โจทย์ของเราคือป่า ป่าที่เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน และเราอยากได้ความรู้สึกของบรรยากาศที่แตกต่างระหว่างชุมชนมุสลิมในกรุงเทพฯ กับในสามจังหวัด ดังนั้นจังหวัดนราธิวาสก็เป็นโจทย์ที่เรามองว่ามันจะตอบได้ทุกอย่าง ก็เลยตัดสินใจไปตรงนั้น เพราะว่าในหนัง พื้นที่หลักที่มันอยู่ในภาคใต้ มันคือพื้นที่ในเมือง และพื้นที่ที่มันอยู่ในป่าซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ลงไปสำรวจอยู่ครั้งหนึ่ง แล้วเราก็ชอบมัน ก็เลยตัดสินใจลงไป 

 

คือเราอาจจะถ่ายฉากในภาคใต้ที่ไหนก็ได้ แต่ว่าเราจะรู้สึกผิดนะถ้าต่อไปคนดูจะมาตั้งคำถามว่า

‘เอ๊ะ ป่าแบบนี้มันไม่ใช่ป่าในสามจังหวัดภาคใต้เลยนี่’ หรือว่า ‘พื้นที่ตรงนี้ ร้านน้ำชาอะไรแบบนี้มันอยู่แถวหนองจอกนี่นา’ ถ้าคนดูเกิดความรู้สึกแบบนี้ขึ้นมา มันจะกลายเป็นตราบาปที่อยู่ในใจเรา ทุกคนก็เห็นในจุดประสงค์เดียวกัน ก็เลยตัดสินใจไปถ่าย ก็ใช่เวลาถ่ายอยู่ที่นั่นไปประมาณ 3 วัน 2 คืน” – ภาณุ อารี 

 

“เราอยากจะทำให้หนังมันมีความสมจริงสมจังที่สุดและในหนังเองได้พูดถึงเรื่องชายแดน คือบางทีเราก้าวข้ามเขตแดนไปโดยที่เราไม่รู้ตัวหรอก จริง ๆ เขตแดนมันไม่ได้แบ่งกันชัดเจน มีรั้วขอบชัดเจนว่าตรงนี้เป็นประเทศไทย ตรงนี้เป็นตรงนั้นตรงนี้ ไอ้การที่เราเผลอ การที่เราไม่ทราบมาก่อนแล้วเราก็ข้ามเส้นเหล่านั้นไป ผมว่ามันน่าสนใจดี 

 

เพราะว่าเราก็ไม่รู้หรอกครับ เราก็ใช้จินตนาการกันว่า ข้ามไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นในสมัยที่มันมีโจรจีน มีคอมมิวนิสต์ มีอะไรต่อมิอะไร เราก็พยายามจะสร้างบรรยากาศให้มันรู้สึกว่ามันมีความน่าสะพรึงกลัวบางอย่างตรงนั้น ให้มันเกิดความกดดันมากยิ่งขึ้น นอกจากตัวญิน ตัวผีแล้ว ผมว่าบรรยากาศเหล่านี้มันน่าจะช่วยสร้างอารมณ์แล้วก็ความรู้สึก ความน่าสะพรึงกลัวให้กับคนดูได้มากขึ้น” – นนทรีย์ นิมิบุตร

– เฮี้ยนแรงถึงต่างแดน –

 

ภาพยนตร์เรื่อง The Cursed Land แดนสาป ได้รับเลือกฉายใน 7 เทศกาลหนังทั่วโลก

ประกอบไปด้วย

 

  • International Film Festival of Rotterdam (เนเธอร์แลนด์)
  • Asian Film Festival Rome (อิตาลี)
  • MIFFest: Malaysia International Film Festival (มาเลเซีย)
  • Ho Chi Minh City International Film Festival (เวียดนาม)
  • Neuchatel International Fantastic Film Festival (สวิตเซอร์แลนด์)
  • Bucheon International Fantastic Film Festival (เกาหลีใต้)
  • New York Asia Film Festival (นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา)

 

ด้วยประเด็นที่เป็นสากลทำให้ The Cursed Land สร้างความหลอนสะพรึงได้แม้จะอยู่ต่างถิ่น ต่างศาสนา ต่างความเชื่อ 

 

“ผมว่าจริง ๆ เรื่องราวมันค่อนข้างสากล สำหรับความรู้สึกของผมนะ มันไม่ใช่ว่าพุทธหรือมุสลิม มันเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้ คือเราจะไม่เห็นผีมาบีบคอคน เราจะไม่เห็นการกระทำที่มันเป็นการสัมผัสซึ่งกันและกันเพราะฉะนั้นแล้ว หลาย ๆ อย่างมันพูดเกี่ยวกับความเชื่อ ความเชื่อมันเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ เรื่องราวเหล่านี้มันเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ แล้วไอ้ความที่มันเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้เนี่ยผมว่ามันสามารถที่จะสัมผัสได้ง่าย คนดูสามารถจะจับต้องได้ไม่ยากว่ามันสามารถเกิดขึ้นหลังบ้านเราก็ได้นะ 

 

เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับผี และวิญญาณในเรื่องนี้มันทำให้ตัวของคนที่ได้รับผลของมันเกิดขึ้นกับตัวเขาเอง มากกว่าที่จะมีใครข้างนอกมากระทำให้มันเกิดขึ้นจากการกระทำข้างใน แล้วทะลุออกมาข้างนอก” – นนทรีย์ นิมิบุตร

 

เกร็ดหนัง

 

  • การเล่นหนังไทยเป็นฝันที่ บรอนต์ ปาลาเร่ ไม่คิดว่าจะได้ทำ แม้จะมีแม่เป็นคนไทย และเคยดูภาพยนตร์ไทยมาก่อนก็ตาม
  • หนังถ่ายทำโดย ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ ตากล้องคู่บุญของ เป็นเอก รัตนเรือง
  • ในส่วนของการออกแบบเสียงเป็นหน้าที่ของ อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบเสียงหนังหลาย ๆ เรื่องของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งรวมถึงหนังเรื่อง Memoria
  • ฉากหลังของเรื่องเกิดในจังหวัดชายแดน
  • เจนนิษฐ์ และ บรอนต์ คือนักแสดงที่ ผู้กำกับและคนเขียนบทวางตัวให้มารับบท เมย์ และ ฮิม ตั้งแต่แรก
  • สีดา พัวพิมล พูดภาษามลายูไม่ได้ และต้องฝึกพูดภาษามลายูเพื่อรับบทไซหนับ
  • บทเมย์คือบทที่เจนนิษฐ์ต้องตัดผมสั้นที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี  
  • เจนนิษฐ์ เผยว่า ตัวละครของเมย์ เป็นตัวละครที่ชอบฟังเพลงของวง Green Day
  • เหตุการณ์ใน The Cursed Land จะเป็นเหตุการณ์ในช่วงปี 2000
  • เจนนิษฐ์เผยว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการรับบทเมย์ คือ ต้องพยายามไม่ใช้คำศัพท์ที่มันเป็นยุคนี้มากอย่างคำลงท้าย หรือว่าสิ่งที่เราติดปากเวลาเราพูด”
  • นี่คือการกลับมาเล่น ‘ภาพยนตร์’ ครั้งแรกในรอบ 36 ปีของ สีดา พัวพิมล 
  • The Cursed Land คือหนังที่ ภาณุ อารี และ ก้อง ฤทธิ์ดี ตั้งใจสลับขั้วตัวละครในสูตรหนังสยองขวัญ โดยให้ตัวละครเด็กผู้หญิงไม่ตกเป็นเหยื่อรายแรกของวิญญาณร้าย
  • โลเคชันหลักในการถ่ายทำคือ บ้านเขียว อ.ผักไห่ 
  • The Cursed Land คือหนึ่งในยี่สิบโปรเจกต์ทั่วเอเชียที่ได้รับเลือกใน Hong Kong – Asia Film Financing Forum
  • The Cursed Land ได้รับเลือกกฉายใน 7 เทศกาลหนังทั่วโลกประกอบไปด้วย International Film Festival of Rotterdam (เนเธอร์แลนด์), Asian Film Festival Rome (อิตาลี), MIFFest (มาเลเซีย), Ho Chi Minh City International Film Festival (เวียดนาม), Neuchatel International Fantastic Film Festival (สวิตเซอร์แลนด์), Bucheon International Fantastic Film Festival (เกาหลีใต้), New York Asia Film Festival (นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา)
  • ภาณุ อารี และ ก้อง ฤทธิ์ดี มาพัฒนาดีไซน์ของ ญิน หลังจากเขียนบทเสร็จแล้ว  
  • อนันดา ไม่รู้จักญินมาก่อน

อย่างญินตอนแรกเราก็เข้าใจมาตลอดว่ามันเป็นสิ่งร้ายอย่างเดียว ซึ่งพอมารู้อึกทีคือมันไม่ใช่ มันก็คือเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่มันอยู่คู่กับมนุษย์นี่แหละครับ วิธีคิดวิธีเข้าใจพวกฉากที่มีญิน มันก็เปลี่ยนไป เราไม่ได้มองเป็นเหมือนหนังผีแบบที่หลอกทั่ว ๆ ไป แต่เรามองเป็นจิตวิทยามากกว่า” – อนันดา 

 

เกร็ดเกี่ยวกับญิน

 

    • ญินคือความเชื่อเรื่องลึกลับของศาสนาอิสลาม
  • ญิน (Jinn, Dijinn) ในภาษาอาหรับ คือสิ่งที่พระเจ้า (พระอัลเลาะห์) สร้างขึ้นจากเปลวไฟบริสุทธิ์ ที่ไร้ควัน เป็นเผ่าพันธุ์ที่อยู่ในอีกมิติ หรือเรียกว่าเป็น อมนุษย์ รูปแบบหนึ่ง
  • เชื่อกันว่าญินอาศัยอยู่ร่วมกับสังคมมนุษย์แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ 
  • ญิน แบ่งออกเป็นสองประเภท ระหว่าง ญินร้าย และ ญินดี
  • มีมาตั้งแต่ตำนานการสร้างโลกในศาสนาอิสราม
  • ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน บอกว่า ญินเป็นสิ่งมีชีวิตที่บางเบา ปลิวไหวได้ในสายลม
  • ในพระคัมภีร์ยังระบุอีกว่า ญิน จะกินอาหารด้วยมือซ้าย 
  • มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 500 ปี
  • ไม่มีการระบุรูปร่างที่ชัดเจน ญินเกิดมาเองซึ่งเป็นรูปร่างที่มนุษย์ไม่มีทางมองเห็นได้ ถ้าญินจะปรากฏตัวมาให้มนุษย์เห็น จะเป็นรูปร่างที่จำแลงมาแล้ว 
  • ญินสร้างขึ้นจากธาตุไฟซึ่งเป็นตัวแทนของโทสะ จะเข้าร่างกายของมนุษย์ได้ด้วยความโกรธ อาจเป็นการแทรกตัวผ่านรูขุมขน ซึ่งญินสามารควบคุมสมองและบงการให้คนที่โดนสิงทำอะไรก็ได้
  • ญินสิงได้ 3 แบบ 
  1. สิงเฉพาะส่วน
  2. สิงถาวร
  3. สิงชั่วคราว
  • อาการที่บ่งบอกว่าโดนญินเข้า: ชักกระตุก, เกร็ง
  • ญินจะเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้เมื่อคน ๆ นั้นจิตอ่อน หรือขาดศรัทธาจากพระผู้เป็นเจ้า 

 

อ้างอิง:
https://thematter.co/thinkers/jinn-in-yala-pattani-narathiwat/25899

https://youtu.be/Ez1WhAaEftE

https://youtu.be/8Yt8IBN8LR0