ภาพยนตร์ เรื่อง “ศึกค้างคาวกินกล้วย” “BAT WAR”
วันเข้าฉาย 19 กันยายน 2567
GENRE : Action – Comedy – Drama
ความยาวหนัง 113 นาที
เรื่องย่อ
กาลครั้งหนึ่ง..เมื่อถึงยุคมืดที่ดนตรีไทยถูกสั่งห้ามเล่นโดยไม่ได้รับอนุญาติ เพราะท่านผู้นำต้องการที่จะสร้างบ้านเมืองให้เป็นอารยฯ ใครผ่าฝืนจะถูกจัดการอย่างเด็ดขาด ผู้พันเผ่า(เก้า จิรายุ)ได้รับมอบหมายให้นำกำลังออกกวาดล้างปิดทุกสำนักดนตรีไทยที่ไม่ได้รับอนุญาติ รวมถึงสำนักของเซียนขาวผู้ที่เคยสร้างปมแค้นในใจเมื่อตอนวัยเด็กให้กับผู้พันเผ่า การกวาดล้างครั้งนี้จึงถือเป็นการล้างปมแค้นไปในตัว แต่ผู้พันเผ่าดันพลั้งมือในตอนกวาดล้างสำนักดนตรีไทยของเซีนขาว ทำให้เซียนขาวบาดเจ็บปางตาย
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ เชิด(พีท พชร)ที่เปรียบเสมือนผู้สืบทอดสำนักต่อจากเซียนขาวผู้เป็นพ่อ แต่เรื่องราวมันกลับตาลปัตรเพราะเชิดเอาแต่สนใจดนตรีฝรั่งไม่ยอมทำตามสิ่งที่บรรพบุรุษสืบทอดกันมา เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เซียนขาวเกือบตายเพราะถูกผู้มีอำนาจกดขี่ดนตรีไทยด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เชิดต้องหันกลับมาเล่นดนตรีไทยอีกครั้ง และเหล่าลูกศิษย์ของเซียนขาว กลั่น(เจแปน ภาณุพรรณ) พวง(นิกกี้ ณฉัตร) สิงห์(เติ้ล) จึงรวมตัวตั้งแก๊งที่มีชื่อว่า“ค้างคาวกินกล้วย” เพื่อล้างแค้นให้กับเซียนขาว และออกทวงคืนดนตรีไทยให้กลับมาเป็นของทุกคนอีกครั้ง โดยมีแก้วตา(โจริน 4EVE) สาวสวยผู้เป็นมือซ้อแห่งสำนักเซียนดำ ผู้หญิงที่ทำให้ผู้พันเผ่าหลงรัก แต่ดันไปช่วยเหลือเชิดและก๊วนค้างคาวกินกล้วยให้แข็งข้อต่อท่านผู้นำ ยิ่งทำให้ผู้พันเผ่าไม่พอใจเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นสงครามระหว่างเพื่อนที่มีดนตรีไทยมรดกของชาติเป็นเดิมพัน ศึกรบและศึกรัก ศึกค้างคาวกินกล้วยจะจบลงอย่างไร เชิดแก๊งค้างคาวกินกล้วยจะทำให้ดนตรีไทยกลับมาเป็นของทุกคนอีกครั้งได้หรือไม่ ติดตามในภาพยนตร์กวนๆที่จะชวนทุกคนมา เฮฮา ดราม่า น้ำตาซึม ระเบิดภูเขา เผากระท่อม ไปด้วยกัน!!! [BAT WAR : ศึกค้างคาวกินกล้วย]
CAST
พีช พัชร
เก้า จิรายุ
โจริญ 4EVE
นิคกี้ ณฉัตร
เจแปน ภาณุพรรณ
หมูเติ้ล หกฉาก
นาย มงคล
DIRECTED BY
ภาณุพรรณ จันทนะวงษ์
กฤษณะ จิตรเนาวรัตน์
REWRITED SCRIPT
ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์
ภาณุพรรณ จันทนะวงษ์
กฤษณะ จิตรเนาวรัตน์
ปรัชญ์ เนียมศรี
จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นมาอย่างไร?
เจแปน : ผมได้มีการทาบทามจากโปรดิวเซอร์ของค่ายหนัง รฤก ที่เป็นทั้งโปรดักชั่นและค่ายหนังที่ผมชอบมากๆ พี่โน๊ตโปรดิวเซอร์ได้แอบกระซิบเบาๆว่า “เจแปนเธอมีหนังที่อยากทำไหม?” ผมก็ตอบแบบไม่รีรอเลยว่า “มีครับ” ไม่น่าเชื่อเลยว่าหลังจากนั้นผมได้เริ่มต้นโปรเจ็คนี้ทันที ก่อนอื่นต้องขอเล่าว่าส่วนตัวของผมชอบภาพยนตร์เรื่อง “โหมโรง” เพราะเป็นหนังดนตรีไทยที่เล่าความสวยงามของยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี รวมถึงการเล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหลวงประดิษฐ์ไพเราะได้อย่างวิจิตรและงดงามเป็นอย่างมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เกิดกระแสหรือที่เรียกว่าไวรัล และส่งผลกับเด็กยุคนั้นอย่างมากนั่นคือ เด็กไทยอยากเล่นระนาดเอกเป็นกันแทบจะทุกคน ผมและรู้สึกว่าอยากทำหนังที่ให้เด็กยุคใหม่ได้เห็นถึงคำสำคัญของมรดกทางดนตรีไทย ที่ไม่ได้พูดถึงในภาพยนตร์ไทยมานานแล้ว เพราะผมมีไอเดียแบบนี้ก็เลยคิดว่าถ้าจะเล่าเป็นดนตรีไทยแบบ Original เด็กเจนนี้คงไม่ดูอย่างแน่นอน ผมเลยอยากเล่าเรื่องดนตรีไทยให้ มันมีความห่ำหัน ความสนุกแบบนักเลงยุคคลาสสิก ผมเลยนำกลิ่นความเป็นแก๊งค์เตอร์อย่างภาพยนตร์เรื่อง ”2499 อันธพาลครองเมือง“ นำมารวมกับ “โหมโรง” จนกลายเป็นนักเลงดนตรีที่จะมาทวงความเป็นไทยกลับมาให้คนไทยภูมิใจอีกครั้ง
พี่ชอ : แปนเค้าก็มีไอเดีย จากหนังระนาด“โหมโรง” บวกกับหนังแก๊งอย่าง “2499 อันธพาลครองเมือง” ผมว่าเป็นไอเดียที่น่าสนุกดีหนังมีความเป็นดนตรีไทยผสมแอ๊คชั่นคอมเมดี๊ หลังจากนั่นก็เริ่มเขียนบทเราก็อยากให้หนังดูสนุก และมีเส้นเรื่องที่แข็งแรงด้วย ตัวละครมีหลายมิติมีปมชีวิตที่จะต้องแก้ หนังเลยได้แนว ดราม่า มาอีกนิดเรียกว่าครบรส แอ๊คชั่นคอมเมดี๊ดราม่า ต้องขอบคุณพี่ยอร์ชที่ค่อยช่วยตบบทจนเข้าทีเข้าทาง ตัวหนังพูดถึงเรื่องแก๊งห่วยๆที่ต้องมากอบกู้ดนตรีไทยให้กลับมาเป็นของทุกคนอีกครั้ง ความสนุกสนานน่าอยู่ที่แก๊งห่วยๆอย่างแก๊งค้างคาวที่จะต้องหาวิธีมาต่อกรกับผู้พันเผ่าผู้มีอำนาจควบคุมดนตรีไทยไว้ในกำมือ ซึ่งโอกาสที่แก๊งค้างคาวจะชนะได้แทบจะเป็นศูนย์
จุดเริ่มต้นของพี่ชอที่ได้เข้ามากำกับ ร่วมกับเจแปน ?
พี่ชอ : จริงๆภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของเจแปนและพี่ชอ ที่ได้มากำกับร่วมเริ่มจากที่เคยได้มีโอกาสกำกับหกฉากครับจารย์ และได้รู้จักกับแปนในช่วงนั้นบรรยากาศกองสนุกทั้งเบื้องน่าเบื้องหลัง ก๊วนนักแสดงก็มีเคมีเล่นเข้ากันได้ดี เราก็คิดว่าน่าจะเอาก๊วนนี้ไปเล่นหนังสักเรื่องน่าจะออกมาสนุกสนาน แต่ก็ยังไม่มีโอกาสจนเจแปนชวนมาทำหนังร่วมกันสักเรื่องมั๊ยพี่ ก็มาเลยพร้อมลุย ต้องขอบคุณเจแปนมากครับ
เจแปน : อย่างที่พี่ชอบอกไปนั่นแหละครับ ”หกฉากครับจารย์“ ทำให้เราได้เจอกันและเราสองคนมีเคมีความสนุกความตลกความเข้าขากันในการทำงานเหมือนๆกัน ซึ่งผมกับพี่ชอเคยคุยเกี่ยวกับความฝันว่าพี่ชอมีความฝันอยากจะทำอะไร พี่ชอเล่าให้ฟังว่า ”อยากเป็นผู้กำกับหนังจริงๆกับเขาบ้านสักครั้ง“ เพราะที่ผ่านมาได้เป็นแค่คนเขียนบท ผู้ช่วยผู้กำกับ และเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังที่ไม่มีชื่อในการกำกับภาพยนตร์แม้แต่เรื่องเดียว พี่ชอมีประสบการณ์เยอะมากแต่เป็นคนทำงานทางด้านศิลปะจนมาถึงเป็น ครีเอทีฟ ที่สร้างสรรค์รายการแกล้งคนที่โด่งดังในยุคก่อน รวมถึงการสร้างบทภาพยนตร์แนวผีตลกมากมาย จนมาถึงปัจจุบันนี้ชายคนนี้อายุ 50 กว่าแต่ยังมีโอกาสได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เลย ผมฟังพี่ชอเล่ามันทำให้ผมรู้สึกว่าผมอยากสานฝันของพี่ชอให้เป็นจริง ผมเลยสัญญากับพี่ชอว่าถ้าผมมีโอกาสได้กำกับภาพยนตร์ผมจะไม่ลืมพี่ แล้ววันนั้นก็มาถึงวันที่ผมได้เสนอโปรเจคให้กับ รฤก ผมเลยไม่รีรอที่จะชวนพี่ชอมาร่วมโปรเจ็คนี้ด้วย เราเคยคุยกันเล่นๆว่า ถ้าจะดังก็ดังไปด้วยกันพี่!
ทำไมถึงชื่อ “ศึกค้างคาว กินกล้วย”?
พี่ชอ :ไอเดียชื่อหนังมาจากเพลงไทยเดิมอย่างเพลง “ค้างคาว กินกล้วย” ที่เราเคยได้ยินกันมาตั้งแต่เด็กฟังแล้วสนุกสนานคึกคัก อีกมุมค้างคาวก็เป็นสัตว์ที่ไปมาไร้ร่องรอยดูลึกลับ บวกกับหนังเป็นเรื่องการต่อสู้แบบระเบิดกันตูมตาม จึงเป็นที่มาชื่อหนัง”ศึกค้างคาวกินกล้วย“
เจแปน : เห็นด้วยกับพี่ชออย่างมากครับ เราทำหนังดนตรีไทยฉะนั้นเราจึงต้องมีชื่อที่สอดคล้องกับความเป็นดนตรีไทยให้มากที่สุด คำว่าค้างคาวกินกล้วย มันคือทำนองเพลงโบราณที่มีมานานมากและเป็นทางเพลงที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด เพราะมีจังหวะที่สนุกติดหู และเรื่องนี้ยังเป็นศึกระหว่างผู้มีอำนาจและประชาชน ศึกระหว่างดนตรีไทยกับดนตรีฝรั่ง ศึกระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมและความศรีวิไล ศึกระหว่างความคิดคนรุ่นเก่าและเด็กรุ่นใหม่ ดังนั้น “ ศึกค้างคาวกินกล้วย” จึงเหมาะสมมากๆในการจะเป็นชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้
ทำไมพระเอกต้องเป็นพีท?
เจแปน : เราหานักแสดงที่จะเหมาะสมกับบทบาทตัวละคร “เชิด” นานมาก เพราะด้วยคาแรกเตอร์ของเชิดต้องเล่นระนาดได้และมีทักษะการเล่นดนตรีสากลอีกด้วย ที่เราลงความเห็นเลือก พีท พชร รับบทบาทนี้เพราะว่าพีชเคยเล่นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับดนตรีมาแล้ว และพีทก็ยังเป็นศิลปิน นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์เพลงอีกด้วย ซึ่งความสามารถทั้งหมดเหมาะสมกับการรับบทเป็นเชิดมากที่สุด เพราะพีทเข้าใจของจังหวะอารมณ์ของความเป็นดนตรีอยู่แล้วทำให้ไม่ยากที่จะถ่ายทอดการแสดงออกมาให้ดีที่สุด
พี่ชอ : พีทก็เป็นนักแสดงที่เราอยากให้มารับบทเป็นเชิดที่มีคาร์แล็คเตอร์ หล่อ กวน สาวกรี๊ดไม่สนโลก ไม่สนว่าดนตรีไทยจะอยู่หรือจะไป แต่พอเรื่องร้อนมาถึงตัวก็เป็นคนที่ลุกขึ้นต่อสู้ร่วมกับแก๊งค้างคาว ซึ่งคือ นิกกี้ เจแปน หมูเติ้ล จากหกฉาก เราก็อยากได้คนที่มีเคมีเข้ากันได้เพราะทั้งสี่คนคือเพื่อนสนิทพร้อมเลอะพร้อมลุยไปด้วยกันซึ่งพีทก็ดูสนุกร่วมไปกับก๊วนได้ดี และถือเป็นการได้กลับมาพบกันอีกครั้งในหนังระหว่างเก้ากับพีท อีกด้วย
ทำไมเก้า จิรายุ ต้องเป็นตัวร้าย?
พี่ชอ : เก้าเป็นนักแสดงที่เก่งมาก และเป็นตัวหลักในก๊วนหกฉาก ครับจารย์ ที่ต้องมาอยู่ในหนังนี้ แต่เราก็อยากเห็นเก้าแสดงในบทบบาทใหม่ๆที่ไม่ค่อยเคยเห็น เก้าจึงถูกวางตัวเป็นผู้พันเผ่าเป็นตัวร้ายลึกที่ต้องการล้างแค้มปมในอดีตที่ตนไม่ได้รับโอกาสทางดนตรีทั้งที่มีความสามารถ และค่อยออกไล่ล่าแก๊งค้างคาว จากที่เคยกำกับหกฉากจะได้เห็นการแสดงตลกของเก้า แตกต่างจากหนังเรื่องที่ได้เห็นฝีมือการแสดงในมุมร้ายและดราม่าที่ไม่ธรรมดาเลย เรียกได้ว่าจะหล่อจะร้ายเก้าได้หมด
เจแปน : เมื่อเราวางตัว พีท พชร เป็น”เชิด“ เราเลยต้องวางเก้า จิรายุ เป็น ”ผู้พันเผ่า“ เพราะทั้งสองคนเคยเล่นภาพยนตร์เกี่ยวกับดนตรีมาแล้วและก็เป็นดนตรียุคใหม่ ดังนั้นเรื่องนี้ผมเลยอยากได้กลิ่นอายความเป็นคู่ปรับคู่แข่งเพื่อนซี้ครั้งหนึ่ง หลายคนอาจจะติดภาพเก้าจิรายุเป็นนักแสดงบ้าง เป็นนักร้องบ้าง เป็นนักร้องที่เล่นตลกได้ด้วยบ้าง แต่เรื่องนี้จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เก้าจะเล่นพลิกบทบาทตัวเองมากพอสมควร ผสมกับความสามารถในทางดนตรีที่เก้ามีอยู่แล้วทำให้การถ่ายทอดอารมณ์ของการแสดงเป็นไปตามความต้องการของผู้กำกับอย่างมาก
โจริญ เป็นนางเอกเรื่อง เป็นอย่างไรบ้าง
เจแปน : โจริญเป็นรุ่นน้องที่เรียนภาพยนตร์มาด้วยกัน จนน้องได้เข้ามาเป็นศิลปิน 4EVE ด้วยความสามารถทั้งร้องทั้งเต้นทั้งการแสดง ทำให้เราอยากร่วมงานกับน้องโจริญในฐานะนางเอกของหนังเรื่องนี้ เราเคยเห็นโจริญในหลากหลายความสามารถมาแล้วแต่ยังไม่เคยเห็นความสามารถทางด้านการแสดงภาพยนตร์อย่างจริงจังที่เป็นเหมือนอีกศาสตร์หนึ่งของการแสดงเล ส่วนตัวผมเคยเจอเคยพูดคุยเคยร่วมงานกับน้องเป็นการส่วนตัวมาแล้วยิ่งคุยยิ่งพูดรู้สึกว่าเด็กคนนี้มีความสามารถและเชื่อว่าน้องสามารถทำให้คนดูรักตัวละครที่ชื่อว่า”แก้วตา“ และภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน
ก๊วนหกฉากครับจารย์ พอมาเล่นภาพยนตร์แตกต่างจากซิทคอมอย่างไร?
พี่ชอ : แตกต่างครับหกฉากจะเป็นซิทคอมสั้นๆ ที่พูดแค่ประเด็นเดียวแล้วช่วยกันขยี้มุกให้ฮาก็จบ พอมาเป็นหนังยาว ทุกคนต้องทำการบ้านเรื่องบทเพราะถือเรื่องและคาร์แล็คเตอร์ไว้ตลอดทั้งเรื่อง แต่ความฮาก็ต้องเอาไว้ ก็ปรับจูนกันในช่วงแรกๆเพื่อหาความพอดี
เจแปน : แตกต่างอย่างมากครับ ผมเชื่อว่าคุณจะยิ่งลักษณ์แก๊งหกฉากครับจารย์มากขึ้นถ้าคุณได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะว่าแต่ละคนได้รับบทบาทที่เข้มข้นจริงจังมีเส้นเรื่อง มีปมอดีต ของตัวละครทุกตัว แตกต่างตั้งแต่บท แตกต่างตั้งแต่การแต่งตัว แตกต่างในส่วนของมุกตลกที่เล่น ภาพยนตร์เรื่องนี้คุณจะได้เห็นอีกมุมหนึ่งของแก๊งนักแสดงหกฉากทุกคนที่แตกต่างไปจากที่คุณเคยเห็นในซิทคอม พี่นิกกี้ตั้งใจการแสดงเรื่องนี้อย่างมากเค้าเล่นบทจริงจังได้เค้าเล่นแบบไม่ยิ้มใส่กล้องได้เค้าเล่นบทที่มีน้ำตาได้ ผมเชื่อว่าคุณจะมองพี่นิคกี้เปลี่ยนไป หมูเติ้ลมีความน่ารักและยังคงความเป็นคนหัวไวในตัวละครนี้เสมอ ส่วนของพี่นายมงคลเค้าเข้ามาเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปอย่างมากของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม ลูกเล่นมุกสดๆที่เกิดขึ้นในหนัง ส่วนตัวของผมเองผมเข้ามาเป็นหนึ่งส่วนที่เติมเต็ม ทำให้เพื่อนเพื่อนในแก๊งค์อุ่นใจที่มีเราร่วมฉากด้วยเพราะทุกคนเชื่อมั่นในตัวผมว่าจะทำให้ทุกคนผ่านไปด้วยดีเสมอ ฉะนั้นทั้งหมดนี้คือความแตกต่างที่หาไม่ได้ในซิทคอม แต่ต้องไปดูในภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้น
อยากฝากอะไรในฐานะผู้กำกับหนังเรื่องนี้?
พี่ชอ : ขอให้มีความสุข สนุกไปกับ”ศึกค้างคาวกินกล้วย“ฝากภาพยนตร์เรื่องแรกของเราไว้ด้วยครับ
เจแปน : ในฐานะผู้กำกับที่อยู่การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เกือบสองปีเต็ม ผมและพี่ชอตั้งใจเขียนบทและถ่ายทอดจินตนาการ ในการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างเต็มที่สุดความสามารถตามองค์ความรู้ตามศักยภาพ อย่างเต็มที่ ใส่เต็มทุกเม็ดใส่ใจทุกอย่างเพื่อสร้างภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้เพื่อให้ผู้ชมได้ชม ดังนั้นผม กับพี่ชออได้ทำหน้าที่ของผู้กำกับอย่างเต็มที่แล้วหลังจากนี้ขอให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำหน้าที่สร้างความบันเทิงสร้างความสนุกสร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้กับทุกคนตามตามที่เราหวังไว้นะครับ ขอฝากภาพยนตร์กวนกวนที่จะทำให้ทุกคนเฮฮาดราม่าน้ำตาซึมไปพร้อมๆกับพวกเรา ขอให้สนุกกับการชมภาพยนตร์เรื่อง “ศึกค้างคาวกินกล้วย” ครับ